วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSวัดฝีมือ“เศรษฐา”เซลล์แมนประเทศไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

วัดฝีมือ“เศรษฐา”เซลล์แมนประเทศไทย

คนในพรรคเพื่อไทยพากันโห่ร้องตีปี๊บโชว์ผลงาน “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีที่ไปร่วมประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเซีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่ซานฟรานซีสโก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-18 พ.ย.ที่ผ่านมา นอกจากจะได้พบผู้นำประเทศต่างๆ ยังได้พบปะพูดคุยกับกลุ่มนักธุรกิจของสหรัฐ โชว์ “สาลิกาลิ้นทอง” กล่อมบริษัทยักษ์ใหญ่หลายราย เข้ามาลงทุน

อันที่จริงผู้นำอาเซียนที่ไปร่วมประชุม ต่างก็ได้ของกำนัลจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาติดไม้ติดมือทุกคน คนละนิดคนละหน่อย ที่ได้ทำความตกลงจะเข้ามาลงทุน อย่าง มาเลเซีย ก็ประกาศความร่วมมือกับ Google ยกระดับทักษะ Blackberry ลงนามความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ลงนามความร่วมมือพลังงานนิวเคลียร์ โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียก็แถลงการยกระดับความร่วมมือด้านต่างๆ กับ ประธานาธิบดีโจบเดน ของสหรัฐอเมริกา

ส่วนของไทย “เศรษฐา” ก็เปิดเผยว่า Google ได้ประกาศแผนการขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลในไทย และเริ่มโครงการนำ AI มาใช้งานในภาครัฐฝึกทักษะแรงงาน ด้าน AI และทักษะขั้นสูงอื่นๆ ยังมี  Amazon Web Service ผู้ให้บริการ คลาวด์ อันดับ 1 ของโลก ที่จะมาลงทุนเทคโนโลยีคลาวน์ AI, data analytic, IoT และลงทุน Data Center ด้วยงบประมาณ 5 พันล้านเหรียญ เจรจา Walmart บริษัทค้าปลีกของสหรัฐให้จัดซื้อสินค้าท้องถิ่น เช่น โอท็อปมากขึ้น และ Western Digital ผู้ผลิต Hard Disk Drive ระดับโลก ขยายการลงทุนในไทยเพิ่ม

หากเป็นไปตามที่ทางพรรคเพื่อไทยกำลังโหมพีอาร์ผลงานรัฐบาลที่ดึงนักลงทุนรายใหญ่สหรัฐเข้ามา ก็ถือว่าเป็น มิติใหม่การลงทุน เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนจากต่างประเทศของไทย เงียบเหงาซบเซามานาน ตอนหลังโดนเวียดนามแซงหน้า โดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ที่ไม่เข้ามาลงทุนในไทยนับสิบๆ ปีแล้ว ด้วยเหตุผลหลายประการ

ที่แน่ๆ ที่บริษัทด้านเทคฯของสหรัฐฯ ไม่สนใจลงทุนในไทย เนื่องมาจากปัญหาบุคคลากรในบ้านเรา ขาดทักษะด้านเทคโนโลยี สมัยก่อนบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ระดับโลก จึงไม่สนใจมาลงทุนในไทย หันไปลงทุนในมาเลย์เพราะมีวิศวกรจำนวนมาก ปัจจุบันบริษัทต่างชาติเน้นลงทุนในเวียดนาม เพราะมีบุคคลากรด้านไอที.รองรับซึ่งไทยยังขาดแคลน

แต่ก่อนที่จะชักชวนใครมาลงทุน ควรจะต้องศึกษาบทเรียนจากการลงทุนของญี่ปุ่นกว่า 30 ปีที่เข้ามาลงทุนในไทยที่ได้สิทธิประโยช์เพียบ แต่ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่เปิดทางให้คนไทยได้เป็นผู้บริหารระดับสูง ทำให้ประเทศไทยได้แค่ค่าแรงราคาถูก อุตสาหกรรมของคนไทยจึงอยู่กับที่ไม่ไปไหน รัฐบาลไม่ควรจูงใจนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนโดยประเคนสิทธิประโยชน์ไม่บันยะบันยัง แบบไม่มีเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมของไทยในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม แม้ความสำเร็จจากการเจรจาของนายกฯเศรษฐาจะเป็นข่าวดี แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างไม่เพริศแพร้วอย่างที่ตั้งใจ ถ้ารัฐบาลยังไม่กวาดขยะซุกอยู่ใต้พรมอาจจะฝันสลาย หลายๆ รัฐบาลได้พยายามชักชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในบ้านเรา แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายๆ เรื่อง

จากผลสำรวจนักลงทุนญี่ปุ่นของ เจโทร (JETRO) พบว่า ปัญหาที่บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยระบุให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ไข เช่น 1) พิธีการศุลกากร ที่ล่าช้า ไม่โปร่งใส 2) การคิดภาษีเงินได้ ที่ซับซ้อนมากขึ้น 3) กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 4) ใบอนุญาตทำงาน ทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาเดิมๆ ซ้ำซาก

ฉะนั้นต้องเร่ง ลดกฎระเบียบที่เป็นปัญหา หรือ Regulatory Guillotine “กิโยตินกฎหมาย” กฎหมายนั้นเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจโดยตรง และยิ่งมีกฎหมายมากยิ่งเพิ่มต้นทุนในการประกอบกิจการ ทำให้เป็นที่มาของการคอร์รัปชัน วิธีแก้ต้องยกเลิกกฎหมายที่กีดกันการแข่งขันและการประกอบธุรกิจ ต้องผลักดันการทำกิโยตินกฎหมายสำเร็จให้ได้

ขณะเดียวกันจะต้องเปิดรับนวัตกรรมต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ขั้นต่อไปต้องสร้างนวัตกรรมเป็นของตัวเอง หากอยากจะให้การลงทุนเกิดประโยชน์สูงสุด และถ้าอยากจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตสูงจะต้องลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น ที่ผ่านมามีการเพิ่มงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา 1% กว่าๆของ GDP เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้พูดกันมานานหลายปีดีดัก

อีกเรื่องที่เป็นจุดอ่อนของไทย คือ ปัญหาคอรัปชั่นในวงราชการและการเมือง ทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย รัฐบาลหลายๆประเทศมีนโยบายไม่สนับสนุนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศที่ไม่โปร่งใส รวมถึงการเมืองต้องมั่นคง รัฐบาลมีเสถียรภาพไม่มีนักลงทุนคนไหนจะเสี่ยงลงทุนในประเทศที่มีรัฐบาลอ่อนแอ นโยบายขาดความต่อเนื่อง

แม้เป็นสัญญาณที่ดีแต่เป็นแค่จุดเริ่มต้น ยังมีกระบวนการขั้นตอนต่างๆ มีขยะใต้พรมที่รอเซลแมน “เศรษฐา” ปัดกวาดให้เรียบร้อย งานนี้ท้าทายเซลล์แมนที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” ไม่น้อย

………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img