วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“เศรษฐกิจไทย” วิกฤตหรือแค่โตช้า
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เศรษฐกิจไทย” วิกฤตหรือแค่โตช้า

“นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” และ “บรรดากุนซือด้านเศรษฐกิจ” พยายามตอกย้ำตลอดเวลา สำหรับ การสร้างความชอบธรรมในการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทเดินหน้านโยบาย “แจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต”คนละ 1 หมื่นบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤตซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เหตุผลที่ “นายกฯเศรษฐา” ย้ำบ่อยๆ ว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP.) หรือ “จีดีพี.” ของไทยโตเฉลี่ยแค่ 1.8% เท่านั้น พร้อมเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งของไทยในอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จีดีพี.โตกว่าไทย 3-4 เท่า เศรษฐกิจไทยจึงอยู่ในภาวะวิกฤต อย่างมิอาจปฏิเสธได้ นั่นคือ “มุมมองซีกรัฐบาล”

ขณะที่ “กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย” ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของรัฐ ก็ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤต หากจะวิกฤตจีดีพี.ต้องติดลบแต่เป็นการเติบโตอย่างช้าๆ จึงไม่จำเป็นต้องแจกเงิน

ดนุชา พิชยนันท์

ด้าน “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาฯสภาพัฒน์ ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า จีดีพี.ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัว 1.5% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 1.8% เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยติดลบ 3.1% ทำให้สาขาอุตสาหกรรมติดลบไปด้วย 4% ขณะที่การบริโภคภาครัฐบาล ติดลบ 4.9%

สภาพัฒน์ฯจึงปรับประมาณการจีดีพี.ปี 2566 ใหม่จากเดิมประเมินว่าจะขยายตัวได้ 2.5-3% เหลือ 2.5% โดยประเมินว่า การลงทุนภาครัฐจะหดตัวไปถึง 1.8% เพราะติดปัญหาเรื่องของงบประมาณปี 2567 ที่ยังไม่ได้ใช้ ส่วนปี 2567 คาดว่าไทยจะโต 3.7% เป็นการคาดการณ์ที่ยังไม่ได้รวมผลจากการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท เข้าไปด้วย

เลขาฯสภาพัฒน์ ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าขั้นวิกฤตยังขยายตัวได้ดี แม้หลังการระบาดโควิด-19 จะผันผวนตลอดจากปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่เศรษฐกิจภายในของไทย ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค หรือการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี

อย่างไรก็ตาม หากจะให้ดีกว่านี้ เศรษฐกิจไทยต้องปรับโครงสร้าง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคที่มีขนาดใหญ่ มีผลต่อการเติบโตของประเทศและเกี่ยวข้องกับการส่งออก ถ้าไม่อยากเห็นการการเติบโตอยู่แค่ 3% กว่าแบบนี้ไปเรื่อยๆ

นั่นหมายความว่า ทุกวันนี้เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มีแค่การบริโภคภายในประเทศตัวเดียว ตัวอื่นๆ เดี้ยงหมด แม้จะการบริโภคยังทำงานแต่ที่ไม่ทำให้ จีดีพี.โตเพราะการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้นำไปสู่การผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลเพียงให้สต็อกสินค้าลดลง ทั้งนี้หากดูจากข้อมูลจะเห็นว่ากำลังซื้อไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ปัญหาหลักที่รัฐบาลต้องเร่งแก้คือการส่งออก ทำไมส่งออกน้อยลงและการลงทุน ทำไมนักธุรกิจไม่ลงทุน

หากเราดูข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิดระบาดเมื่อปี 2562 จนถึงปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นกลับไปที่จุดเดิม โดยในปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3% ปี 2563 ติดลบ 6.1% ปี 2564 กลับมาขยายตัวได้ 1.6% ปี 2565 ขยายตัว เพียง 2.6% และปีนี้ 2566 โต แค่ 2.5% ฉะนั้นจะเห็นว่าย้อนหลัง 5 ปี เศรษฐกิจไทยโตขึ้นเพียง 2.9% แต่ถ้าดูตัวเลข 10 ปีย้อนหลังโตโดยเฉลี่ย 1.8% เท่านั้น เทียบกับเวียดนามคู่แข่งสำคัญของไทย แค่ 2 ปีเศรษฐกิจโตราว 14%

จะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา โตช้ามากๆ ขณะที่ “รัฐบาลเศรษฐา” พยายามตอกย้ำว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤต จนหลายคนเป็นห่วงว่า จะเป็นการทำลายความเชื่อมั่น แต่ในการจัดตั้งรัฐบาล กลับทำตรงกันข้ามแบบผิดฝาผิดตัว

แทนที่จะเอาบุคคลมีความรู้ความสามารถ มาร่วมครม. แต่กลับจัดสรรตำแหน่งตามโควต้าแต่ละมุ้ง สะท้อนจากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนหลักจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่สามารถกุมกระทรวงเศรษฐกิจที่มีความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประชาชน น่าสังเกตุว่า คณะรัฐมนตรีชุดนี้ ไม่มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่จะทำหน้าที่ช่วยนายกรัฐมนตรีดูภาพรวม ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจในประเทศมีปัญหาเต็มไปหมด ทั้งตลาดหุ้น ส่งออก ท่องเที่ยว ล้วนมีปัญหา

ด้าน รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ดูแลเรื่องการส่งออก เรื่องปากเรื่องท้องชาวบ้าน ทุกวันวุ่นอยู่กับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ กระทรวงอุตสาหกรรม ก็เป็นมือใหม่หัดขับ ทั้งที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ต้องการคนที่มีความรู้จริงๆ  ขณะที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกับรัฐมนตรีช่วย ขัดแย้งกัน ตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน

กระทรวงพลังงาน ก็ทำงานแบบเอกเทศ เป็นรัฐอิสระ ดูเหมือนจะพยายามช่วงชิงผลงานไปเป็นของพรรค จะเห็นจากการลดราคาพลังงาน ไฟฟ้าและน้ำมัน เป็นต้น แต่น่าเป็นห่วงที่สุดคงจะเป็น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการหารายได้เข้าประเทศ ราว 12% ของจีดีพี. เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านมากที่สุด กลับได้ “รัฐมนตรีมือใหม่ถอดด้าม” ไม่มีประสบการณ์ในการบริหาร งานนี้ก็คงหนักหน่อย

เศรษฐกิจไทย วันนี้เข้าสู่ภาวะ “วิกฤต” หรือเป็นแค่ “เติบโตอย่างช้าๆ” ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น มีหลายเหลี่ยมหลายมุม เข้าตำรา “สองคนยลตามช่อง” จึงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่ดูหน้าตา ครม.แล้ว ตอนนี้ยังไม่วิกฤต แต่อนาคตชักไม่แน่ใจ

………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img