วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSจีดีพี “รัฐบาลโกง”...หรือฝ่ายค้านตีกิน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จีดีพี “รัฐบาลโกง”…หรือฝ่ายค้านตีกิน

พรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย ที่อดีตเคยเป็นมิตรร่วมรบทางแนวคิดทางเมืองต่อสู้กับ กลุ่มอนุรักษ์นิยม แต่วันนี้กลายเป็น ขั้วตรงข้ามทางการเมือง อย่างมาจปฏิเสธได้ สะท้อนจากการอภิปรายงบประมาณประจำปี 2567 ที่เพิ่งผ่านวาระแรกไปหมาดๆ คงบอกอะไรได้หลายอย่าง

เหนือสิ่งใดการอภิปรายของพรรคก้าวไกลครั้งนี้ ทีมดาวรุ่งดวงใหม่ที่มีการใช้ข้อมูลมาประกอบอย่างเป็นเหตุเป็นผล ต่างจากการอภิปรายรูปแบบเดิมๆ ที่เน้นวาทะศิลป์ เน้นวาทกรรม

แต่ที่ฮือฮาและเป็นไฮไลท์ คงไม่พ้นการประเด็นอภิปรายของ “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้หยิบรายงานการทำจัดงบประมาณของฝ่ายรัฐบาลที่นำเสนอข้อมูลของ “จีดีพี ” ไม่ตรงกันมาชำแหละแบบหักหน้ารัฐบาลกลางสภาฯดังนี้

ศิริกัญญา ตันสกุล

“แต่พอดูไปดูมา เมื่อกี้นี้เล่มขาวคาดม่วง (รายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลังฯ) ก็บอกว่าโต 3.2% ทำไมอยู่ดีๆ เล่มงบประมาณฉบับประชาชน ถึงโต 5.4% แล้วก็มาถึงบางอ้อ เพราะนี่คือการเติบโตของจีดีพีที่ไม่ได้รวมผลของเงินเฟ้อ ปกติทุกประเทศทั่วโลกเวลาคำนวณอัตราการเจริญเติบโตของจีดีพีเขาจะใช้จีดีพีที่ไม่รวมผลของเงินเฟ้อ แต่รัฐบาลกำลังโชว์ตัวเลขที่รวมผลของเงินเฟ้อ เท่ากับว่านี่รัฐบาลกำลังจะบรรลุเป้าหมายจีดีพีโต 5% ในปีแรกที่เข้ามาบริหาร โดยการโกงสูตรปรับจีพีดี” ตบท้ายด้วยการกรีดรัฐบาลชนิดเลือดออกซิบๆ ว่า รัฐบาลเศรษฐามีความจงใจ “โกงสูตร” คำนวณจีดีพี

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

ขณะที่ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมาสวนศิริกัญญาแบบทันควันว่า “มองว่าเป็นลักษณะวาทกรรม เชื่อว่าน.ส.ศิริกัญญา ทราบว่าเรื่องนี้ไม่มีประเด็นอะไร เป็นการนำเสนอตัวเลขคนละจุด ซึ่งจุดอื่นๆ ของงบประมาณก็แสดงตัวเลขที่เป็น Real GDP มีเพียงหน้านั้นหน้าเดียวที่โชว์เป็น Nominal GDP”

“สาเหตุที่ต้องรวมผลกระทบเงินเฟ้อ เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณการจัดเก็บรายได้ ซึ่งเป็นตัวเลข Nominal เช่นเดียวกัน ถ้าจะโกงตัวเลข ทุกหน้าก็ต้องเปลี่ยนเป็น 5.4%”

หากทำความเข้าใจแบบง่ายๆ คำว่า GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product คือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งถูกใช้เป็นดัชนีวัดผลผลิตที่ประชากรในประเทศเป็นผู้ผลิตขึ้นมาและถูกนำมาสะท้อนรายได้ของคนในประเทศนั้นๆ

จึงใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลทุกประเทศในโลก ใช้จีดีพี.เป็นดัชนีวัดความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ หากจีดีพี.ปีต่อปีสูง แสดงว่าประเทศนั้นๆ มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีอยู่มีกินมากขึ้นตามไปด้วย รัฐบาลก็เอามาเป็นผลงานได้

จีดีพีมีทั้ง 2 แบบ แบบแรกที่เรียก “Real GDP” คือ จีดีพีที่หักเงินเฟ้อออกแล้วเหลือแต่จีดีพี.ที่แท้จริง  คนทั่วไปส่วนใหญ่ มักจะคุ้นเคยกับตัวเลข Real GDP ซึ่งเป็นที่นิยม และอีกแบบที่เรียกว่า “Nominal GDP” คือ จีดีพี.ที่ยังไม่หักเงินเฟ้อ หรือ ทำให้ตัวเลขของจีดีพีสูงกว่า ส่วนประโยชน์ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ว่าจะใช้ในกรณีใด

แต่ที่เป็นกระแสฮือฮาขึ้นมา เพราะรัฐบาลได้หยิบตัวเลขของ Nominal GDP มาไว้ในเอกสารงบประมาณฉบับรายงานประชาชน ขณะที่เอกสารประกอบอีกเล่มใช้ตัวเลข Real GDP ทั้งที่ที่การจัดทำงบประมาณปี 2566 ที่ผ่านมาโดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้ตัวเลขของ Real GDP เท่านั้น

แต่รัฐบาลนี้กลับใช้ตัวเลขทั้ง Real GDP และ Nominal GDP โดยเฉพาะตัวเลขอันหลังดันไปอยู่ในเอกสารฉบับรายงานประชาชน ซึ่งทำให้ถูกมองว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์หวังเรียกคะแนนนิยมจงใจทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเศรษฐกิจเติบโต

อย่างไรก็ตาม การที่พรรคฝ่ายค้านออกมาบอกว่า เป็นการโกงสูตรจีดีพี ก็อาจจะกล่าวหาที่รุนแรงเกินไปหน่อย แต่ก็เข้าใจได้ เพราะนี่เป็นเรื่องการเมือง เพียงแต่การที่รัฐบาลมีเจตนาไม่ตรงไปตรงมา เล่นกลตัวเลขทำให้เกิดความเข้าใจด้วยการทำให้ตัวเลขจีดีพี. ดูดีกว่าที่ควรจะเป็น

แต่เรื่องนี้ก็ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะอาจจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้ ยิ่งภาคธุรกิจ หากเข้าใจตัวเลขผิดๆ ก็อาจจะวางแผนธุนกิจผิดพลาดตามไปด้วย กรณีคล้ายๆ กันนี้เคยฟังนักวิชาการตั้งข้อสังเกตุปรากฏการณ์เกิดขึ้นในบางประเทศว่า การที่เศรษฐกิจประเทศนั้นโตแบบก้าวกระโดดด้วยตัวเลขจีดีพี 2 หลักติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี อาจจะเป็นการปั้นตัวเลขจีดีพีหรือไม่

กรณีนี้ถ้ามองอีกนัยหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะระบบการจัดทำข้อมูลไม่ทันสมัย ทำให้การคำนวณผิดเพี้ยนหรืออาจจะเป็นความตั้งใจของรัฐบาลประเทศนั้นเจตนาปั้นตัวเลชจีดีพีก็ได้ ไม่ต้องอื่นไกลบ้านเราบางยุคบางสมัย หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คาดการณ์เศรษฐกิจบางหน่วยงาน ก็เคยถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า ตัวเลขจีดีพีที่นำเสนอต่อสังคม ดีเกินความเป็นจริงหรือไม่ จนถูกมองว่าแต่งตัวเลขเอาอกเอาใจรัฐบาลในยุคนั้น

อันทีจริงตัวเลขจีดีพีในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างบ้านเรา ไม่ได้แสดงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคนว่าดีขึ้นอย่างเท่าเทียมกันแต่อย่างใด สิ่งที่ต้องคิดคือ จะทำอย่างไรให้เกิดการกระจายความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำมากกว่า

…………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img