วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“เศรษฐา”ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติไม่ง่าย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เศรษฐา”ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติไม่ง่าย

ความขัดแย้งระหว่าง “รัฐบาลเพื่อไทย” กับ “แบงก์ชาติ” ปะทุขึ้นมาอีกรอบ หลังจากที่มีคนตั้งคำถามถึงแบงก์ชาติว่า “ทำไมเศรษฐกิจไม่ดี แต่แบงก์มีกำไรสูงถึง 2.2 แสนล้านบาทสูงเป็นประวัติการณ์” ความรู้สึกของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่มีต่อแบงก์ชาติอาจจะครุกรุ่นมานาน ถึงกับโพสต์ข้อความผ่านโซเชียล พาดพิงถึงการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติอย่างทันท่วงที

ในโพสต์ระบุว่า “การที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SME อีกด้วย”

นี่คือสัญญาณความขัดแย้งระลอกใหม่ ถ้าหากย้อนดูปมพิพาทของทั้งคู่ รอบนี้ถือเป็นยกที่ 3 แล้วที่ “นายกฯเศรษฐา” กับ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ต้องปะทะกัน หลังที่เคยประทะกันแบบนิ่มๆมาแล้ว 2 ยก ยกแรก…หลังจากพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลและ “เศรษฐา” เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ทันไร ก็เกิดวิวาทะในกรณีนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาทให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน จะใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท

ทันทีที่พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายนี้ออกมา “ดร.เศรษฐพุฒิ” ออกโรงท้วงติงทันควันว่า ไม่ควรแจกเป็นการทั่วไปเพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ และจะเป็นภาระหนี้สินในระยะยาว ในครั้งนั้นนัดเคลียใจที่ทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว

ต่อมาไม่นานก็มี ยกที่ 2 “เศรษฐา” มีต่อท่าทีของแบงก์ชาติในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของไทย มีทิศทางลดลงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 และปรับลดเป้าตัวเลขจีดีพีลง 0.8% เหลือ 2.8% จาก 3.6% สวนทางนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของท่านนายกฯเศรษฐา

การประชุมบอร์ดนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

ส่วน ยก 3 เพิ่งผ่านไปหมาดๆ กับประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยทำให้แบงก์มีกำไรจนพุงปลิ้น คราวนี้มีบรรดาลูกคู่นายกฯออกมาขานรับทันควัน ช่วยกันรุมถล่มแบงก์ชาติ บางคนแรงจนถึงขั้นบอกว่า แบงก์ชาติเป็นคนทำให้เศรษฐกิจพังเลยทีเดียว

จะว่าไปแล้ว “พรรคเพื่อไทยกับแบงก์ชาติ” นั้น เปรียบเสมือน “ขมิ้นกับปูน” มาโดยตลอด ด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน “เพื่อไทย” ในฐานะพรรคการเมืองต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตไวๆ ด้วยการกระตุ้นการบริโภคอย่างการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต คนละหมื่นบาท การลดค่าน้ำ-ค่าไฟ เพื่ออลดภาระของประชาชน

ขณะที่แบงก์ชาตินั้น ถือเป็นคลังสมองด้านเศรษฐกิจ ทุกคนเป็นมืออาชีพ จะมองภาพรวมและมองผลในระยะยาว มีนโยบายเน้นไปที่เสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงไม่เห็นด้วยกับการกระตุ้นแบบหวังผลสั้นๆ ทำให้ทั้ง “เพื่อไทย” และ “แบงก์ชาติ” แม้จะมีเจตนาดี แต่วิธีการและเป้าหมายสุดท้ายต่างกัน จึงกระทบกระทั่งกันมาตลอด

หากลองย้อนกลับไปในอดีต พรรคเพื่อไทยมีความขัดแย้งกับแบงก์ชาติมาตลอด จนดูเหมือนว่า รัฐบาลจากพรรคเพื่อไทยไม่เชื่อในหลักอิสระแบงก์ชาติ เริ่มจากความขัดแย้ง สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ตอนนั้นในนาม “พรรคพลังประชาชน” ก่อนที่จะมาเป็น “พรรคเพื่อไทย”

ตอนนั้น “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีคลัง นั่งเก้าอี้ขุนคลังก็เห็นต่างในเรื่องนโยบาดอกเบี้ยกับแบงก์ชาติใน ยุคผู้ว่าการฯ “ธาริษา วัฒนเกส” มาตลอด เนื่องจากช่วงเวลานั้น เงินเฟ้อพุ่งแรง บางเดือน…เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปถึง 9.2% แบงก์ชาติจึงขยับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่ง “หมอเลี้ยบ” เห็นว่า น่าจะมีมาตรการอื่นๆ ในการคุมเงินเฟ้อโดยต้องการให้แบงก์ชาติดำเนินนโยบายการเงิน หนุนยโยบายการคลังของรัฐบาลมากกว่า  

ต่อมาใน สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” เป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ขัดแย้งกับแบงก์ชาติยุค “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เป็นผู้ว่าการฯ เนื่องจาก “กิตติรัตน์” ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย “ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย” ของแบงก์ชาติ จนมีข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติทุกวัน

แม้แต่ครั้งนี้ก็มีข่าวจะ “ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ” หนาหูขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ง่ายเพราะ “พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย” มีกฎหมายตีกรอบป้องกันเอาไว้ แม้กฎหมายให้อำนาจคณะรัฐมนตรีสามารถปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้ แต่รัฐมนตรีคลังต้องพิสูจน์ให้คณะรัฐมนตรีเห็นว่า ผู้ว่าแบงก์ชาติมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งไม่สามารถรวมถึงความขัดแย้งเรื่องนโยบาย

กรณีนี้ยังไงก็ไม่เข้าข่ายผิดตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ขืนทำไป “นายกฯเศรษฐา” ที่ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีคลัง” เสี่ยงถูกกระแสสังคมประณามอีกด้วย อย่าลืมว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ ร่างขึ้นมาสมัยที่ “คมช.” ยึดอำนาจจากรัฐบาลไทยรักไทยปี 2549 เป็นการร่างเพื่อกีดกันนักการเมืองเข้ามาก้าวก่าย “ล้วงลูกแบงก์ชาติ” ดังนั้นการจะ “ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ” นั้น ไม่ง่ายอย่างที่คิด

เรื่องอย่างนี้ “นายกฯเศรษฐา” คงรู้ดี เพราะเวลาสื่อสารถึงแบงก์ชาติ มักจะ “ให้เกียรติ” กว่ารัฐมนตรีคลังของพรรคเพื่อไทยในอดีต เพราะคงรู้ว่า ต้นทุนของคนแบงก์ชาตินั้น สูงกว่านักการเมือง “คนไว้วางใจ” มากกว่า “นักการเมือง” นั่นเอง

ทุกครั้งที่มีความขัดแย้ง ก็จะจะมาพร้อมข่าวลือว่าจะปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติ แต่ก็ยังไม่เคยปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนไหนได้ มีแต่ฝ่ายการเมืองที่ต้องมีอันเป็นไปก่อนทุกครั้ง คราวนี้คงต้องจับตาดู

……………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img