วันเสาร์, พฤศจิกายน 9, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“แลนด์บริดจ์”ศึกชิงพื้นที่สนามการเมืองภาคใต้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“แลนด์บริดจ์”ศึกชิงพื้นที่สนามการเมืองภาคใต้

แนวความคิดที่จะเชื่อมระหว่างฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มีมานานหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยโบราณ ยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและ เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว คนไทยคงเคยได้ยิน โครงการขุดคอคอดกระ บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่แคบที่สุด ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ก็มีคนบางกลุ่มพยายามผลักดัน โครงการคลองไทย เพื่อเชื่อมทะเลสองฝั่ง

โครงการแลนด์บริดจ์จึงไม่ใช่เป็นอภิมหาโปรเจกต์แรกๆ ในภาคใต้ ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก็เคยมี โครงการแลนด์บริดจ์ขนอม-กระบี่ มีการเวนคืนที่ดินชาวบ้านนับหมื่นไร่ แต่ก็ไปไม่รอด ถูกทิ้งกลางทาง ไม่นานมานี้ กลุ่มดูไบ พอร์ท เวิลด์ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าชั้นนำของโลก ก็เคยศึกษาความเป็นไปได้โครงการ ผลการศึกษาระบุว่า ไม่คุ้มกับการลงทุน

ในสมัย “รัฐบาลลุงตู่” โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ถูกนำเสนอโดยพรรคภูมิใจไทย พอมารัฐบาลนี้ พรรคเพื่อไทยก็หยิบมาเป็นนโยบายหลัก เป็นเรือธงของรัฐบาล โครงการนี้เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ที่มีวงเงินลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ระยะเวลาการก่อสร้าง 5 ปี (2568-2573) เป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง ภาคเอกชนที่ลงทุนจะได้สิทธิ์บริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี

ส่วนรายละเอียดโครงการ จะประกอบไปด้วย ท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเลที่แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง กับที่แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร พร้อมกับทางมอเตอร์เวย์ 6 ช่องจราจร ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร 2 ทาง และรัฐบาลยังมีพื้นที่ที่จะใช้สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูป/แก๊ส รวมไปถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง โดยจะใช้วิธีการถมทะเลด้วย

ตอนนี้ภาระกิจหลักของ “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” หลังเข้ารับตำแหน่ง สวมบทเป็นเซลแมนระดับชาติ ออกเดินสายโรดโชว์ทุกเวทีการประชุมระดับโลก ล่าสุดในการประชุม เวิล์ด อีโคโนมิค ฟอรั่มที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ และตามหมายกำหนดการเดิม ในเดือนนี้ก็ได้พบ ประธานกลุ่มอะดานี กรุ๊ป กลุ่มบริษัทลงทุนรายใหญ่ของอินเดีย ที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาท่าเรือ และสนามบิน และ กลุ่มดูไบ พอร์ท เวิล์ด ที่เคยมาศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อนหน้านี้

แต่จากการได้สดับตรับฟังคนในแวดลวงสายการเดินเรือและโลจีสติกส์หลายคน บอกว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ด้านหนึ่ง คือ เรื่องราคา นั่นคือผู้ใช้บริการหรือสายเดินเรือต้องมีต้นทุนที่ถูกกว่าเดิม และ ปัจจัยด้านเวลา ต้องรวดเร็วกว่าเดิม พร้อมกับฟันธงว่า โครงการแลนดเบริจด์ไม่ได้ทำให้เร็วกว่าเดิมแน่ๆ เพราะต้องขนถ่ายตู้จากท่าเรืออีกฝั่ง ขึ้นรถไฟเพื่อไปถ่ายลงเรืออีกฝั่ง

นั่นหมายความว่า ต้องมีต้นทุนเพิ่ม เพราะต้องมีค่าขนถ่ายตู้หลายทอด รวมทั้งต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมา ตรงข้ามกับรัฐบาล ที่เชื่อมั่นว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยลดความแออัดในเส้นทางการขนส่ง ผ่านช่องแคบมะละกาที่นับวันจะคับคั่งเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากจำนวนเรือสินค้าและสินค้าที่ต้องขนส่งผ่านช่องแคบนี้ โดยจะสามารถลดระยะเวลาขนส่งสินค้าทางเรือ จากเดิมที่การใช้เส้นทางช่องแคบมะลากาใช้เวลา 9 วัน เพียงเหลือ 5 วันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจเดินหน้าต้องพิจารณาและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้วยความรอบคอบและชอบธรรมกับทุกฝ่าย อาจจะเสียเวลาไปอีกสักปีก็ไม่เสียหาย

แต่ “นายกฯเศรษฐา” เดินหน้าโรดโชว์ ทั้งที่ผลการศึกษายังไม่สมบูรณ์และยังมีความขัดแย้งระหว่าง สภาพัฒน์ฯที่จ้างคณะอาจารย์จุฬาฯ ทำการศึกษาผลออกมาว่า โครงการแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มกับการลงทุน กับผลการศึกษาของสนข.หน่วยงานของกระทรวงคมนาคม อันที่จริงรัฐบาลควรจะถามบริษัทเดินเรือสินค้ารายใหญ่ของโลก ที่มีราว 10 กว่าราย จะมาใช้บริการหรือไม่ จะได้รู้ว่ามีลูกค้าหรือไม่

กลับยิ่งแปลกใจมากขึ้นไปอีก เมื่อเห็นไทม์ไลน์รัฐบาลเร่งจัดทำพ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ในเดือนธันวาคม 2567 และตามมาด้วยการเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายนในปี 2568 โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ลงทุนมากถึง 1 ล้านล้านบาท ทำไมรัฐบาลจะเร่งรัดคัดเลือกเอกชน ทั้งที่มีเสียงค้านจากผู้ที่เกี่ยวข้องมากมาย

บทเรียนในอดีตที่ผ่านมา โครงการขนาดใหญ่อย่างนี้ ไม่ใช่เกิดง่าย หลายโครงการก็ทิ้งกลางทาง บางโครงการได้สิทธิ์แต่ไม่ทำ แต่เอาไว้ต่อรองรัฐบาลลดเงื่อนไขภายหลังโครงการ แลนด์บริดจ์ ก็อาจจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมได้

โครงการอภิมหาโปรเจ็กต์อย่างนี้ คงไม่เกิดง่ายๆ แต่ในทางการเมืองการที่ รัฐบาลเพื่อไทย พยายามผลักดันทั้งที่รู้ว่า เป็นไปได้ยาก เพราะต้องการ ปักธงการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ ในห้วงเวลาที่พรรคประชาธิปัติย์อ่อนแอ พรรครวมไทยสร้างชาติก็ไม่มีลุงตู่ ก็น่าจะแผ่ว ก็คงจะมีพรรคภูมิใจไทยที่กำลังรุกขยายพื้นที่ หลังจากยึดพื้นที่ตอนล่างได้บางส่วนโดยเฉพาะ สงขลา พัทลุง  

ส่วนพื้นที่ จังหวัดระนอง ถือเป็นพื้นที่ของ “อนุทิน ชาญวีระกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่จะปักฐานทางการเมืองและธุรกิจและต้องการยึดพื้นที่การเมืองมาถึง ชุมพร หากสำเร็จ “ภูมิใจไทย” ก็จะครองพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ไว้ได้เกือบหมด

การที่ “เพื่อไทย” สานโครงการแลนด์บริดจ์ ทั้งที่พรรคไม่เคยมีนโยบายนี้มาก่อน เป็นสัญญาณประกาศตัวว่า พร้อมเปิดศึกชิงพื้นที่การเมืองในภาคใต้นั่นเอง !!!

……………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img