วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ปิดหลุมดำ” ปลุกชีพเศรษฐกิจไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ปิดหลุมดำ” ปลุกชีพเศรษฐกิจไทย

หลายคนอาจไม่ทราบว่า เศรษฐกิจไทยทุกวันนี้ที่ลุ่มๆ ดอนๆ เพราะต้องขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรเศรษฐกิจแค่ตัวเดียว นั่นคือ “เศรษฐกิจในระบบ” ซึ่งเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่ลงทะเบียนกับภาครัฐ อยู่ในระบบข้อมูลของราชการ เป็นฐานภาษีของภาครัฐ กำกับดูแลโดยระเบียบทางการและได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐ เช่น แรงงานได้รับสวัสดิการสังคมเท่านั้น

แต่ยังมีอีกระบบเศรษฐกิจที่ถูกกฏหมาย แต่ไม่ได้ถูกดึงเข้ามาสู่ระบบ นั่นคือ “เศรษฐกิจนอกระบบ”ป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่มีการบันทึกไว้ในระบบบัญชีประชาชาติ ไม่อยู่ในระบบภาษี และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการทางการ และไม่ได้ถูกคำนวณเป็น จีดีพี.ของประเทศ กลายเป็น “หลุมดำ” ของ “ระบบเศรษฐกิจไทย”

กิจกรรมเศรษฐกิจนอกระบบ เช่น พ่อค้าแม่ค้าแผงลอย ช่างฝีมือที่ประกอบอาชีพด้วยตนเอง พวกผู้รับเหมาซ่อมแซมบ้านรายเล็กคนขับรถตุ๊ก ขับวินมอเตอร์ไซด์ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือลูกจ้าง ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นต้น และยังรวมไปถึงผู้ที่ทำงานด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง

การที่แรงงานจำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบนี้เอง ที่นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมาย เนื่องจากไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคม แรงงานนอกระบบเหล่านี้ ต้องเจอปัญหาเกี่ยวกับการทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ปัญหาที่พบกันมากที่สุดเป็น เรื่องของค่าตอบแทนที่ได้รับค่าจ้างจะได้รับน้อยกว่าแรงงานในระบบ

เมื่อธุรกิจอยู่นอกระบบ ก็ทำให้โอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการบริการทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินค่อนข้างยาก จะเห็นได้จากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงแรมขนาดเล็กที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ ต้องหาแหล่งเงินนอกระบบ ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูง

ขณะเดียวกัน รัฐเองก็ต้องเจอกับปัญหาไม่สามารถเก็บภาษีได้ หากสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจนอกระบบกลับเข้าสู่ระบบได้ ไม่ใช่แค่ช่วยให้รัฐสามารถเก็บภาษีมีรายได้มากขึ้น แต่จะทำให้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ในทางกลับกันยังช่วยให้แรงงานนอกระบบให้ได้รับความคุ้มครอง และเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีต้นทุนต่ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบให้ดีขึ้น

ที่สำคัญจะช่วยให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ขึ้น ถ้าดูข้อมูลของ Informal Economy Database ของธนาคารโลก ระบุว่า ในปี 2018 ประเทศไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบ สูงถึงร้อยละ 44.7 ของจีดีพี. ซึ่งสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก ในปีปี 2019 กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ เคยศึกษาเรื่องนี้ใช้ข้อมูล 158 ประเทศทั่วโลกช่วงปี 1991-2015พบว่า เศรษฐกิจนอกระบบทั่วโลกจะเฉลี่ยประมาณร้อยละ 31.9 ของระบบเศรษฐกิจ

สำหรับเศรษฐกิจนอกระบบของไทยอยู่ที่ร้อยละ 50.6 ก่อนที่จะลดเหลือร้อยละ 43.1 ในปี 2015 และในปี 2007 สถาบันนิด้า ก็เคยสำรวจผลออกมาใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 39 ก็นับว่าสูงทีเดียว เทียบกับมาเลเซียร้อยละ 29.3 อินโดนีเซีย ร้อยละ17.9 เวียดนามร้อยละ 14 และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 38.1

ถ้าเทียบกับ จีดีพี.ของไทยในปี 2021 ที่อยู่ที่ 18 ล้านล้านบาท แต่ขนาดเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่ถึง 8 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่า ขนาดเศรษฐกิจของไทยจริงๆ จะสูงถึง 26 ล้านล้านบาท การที่ “เศรษฐกิจนอกระบบ” มีขนาดใหญ่เกินไป หากไม่นำเข้ามาอยู่ในระบบ จะกลายเป็นต้นตอของปัญหาหลายๆอย่าง เช่นการก่อ “หนี้นอกระบบ” และ ทำให้เกิด “ความเหลื่อมล้ำ” มากขึ้น ที่สำคัญจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ

ผยง ศรีวณิช

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย จุดประกายเรื่องนี้ ผ่านสื่อและเวทีสัมมนาหลายครั้งว่า ศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย นอกจากเผชิญกับดักรายได้ปานกลางแล้ว แต่ยังมีเรื่องของเศรษฐกิจนอกระบบที่สูงมาก ซึ่งมีผลต่อปัจจัยเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจโดยเศรษฐกิจนอกระบบก่อให้เกิดปัญหา 6 ด้าน คือ

1.รายได้ต่อหัวประชากรต่ำ 2.ความเหลื่อมล้ำความยากจนสูงมากขึ้น 3.ธรรมาภิบาลยู่ในเกณฑ์ต่ำ มีการทุจริต การคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้น และมีการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจหรือไม่ 4.ผลิตภาพต่ำ 5.ความยืดหยุ่นหรือภูมิคุ้มกันต่อการถูกกระทบจากแรงเหวี่ยงเศรษฐกิจโลกและภายนอกต่ำ เช่น ช่วงโควิด-19 จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่ยึดโยงกับภาคบริการ ภาคที่ใช้แรงงานสูงจะถูกกระทบมาก และการฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด-19 ค่อนข้างช้ากว่าประเทศอื่น ทำให้การ Recovery ของจีดีพีต่ำกว่าที่อื่น และ 6.การพัฒนาอย่างยั่งยืน จะเห็นว่าไทยอยู่ในอันดับ 110 จากค่าเฉลี่ย 80

“ผยง” ย้ำว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจนอกระบบของไทยสะท้อนว่าสูงกว่าคู่แข่งคู่เทียบอย่างเวียดนาม โดยเศรษฐกิจนอกระบบของไทยสูงกว่า 50% สะท้อนจากคนที่อยู่ในระบบ เช่น ประชากรไทย 77 ล้านคน มีประมาณ 11 ล้านคนที่ยื่นภาษี แต่มีเพียง 4 ล้านคนที่เสียภาษี ขณะที่คน 66 ล้านคนต้องการสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงแรงงานนอกระบบก็อยู่ในเกณฑ์ที่สูงถึง 50% ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพแรงงานของไทย

ตรงนี้รัฐจะต้องกล้าที่จะ “ปิดหลุมดำ” นี้ให้ได้ เพื่อฟื้นชีพเศรษฐกิจไทย ให้กลับมาคึกคักอีกครั้งและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกคนในสังคม

………………………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img