วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“เศรษฐกิจไทย”...ไม่เหมือนเดิม!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เศรษฐกิจไทย”…ไม่เหมือนเดิม!!

ในแวดวงเศรษฐกิจก็มีประเด็นร้อนจนกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์” ออกมาระบุว่า GDP ของไตรมาสที่ 4 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อปี ส่งผลให้ทั้งปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะโตร้อยละ 2.5 ผิดเป้าค่อนข้างมากและใกล้เคียงกับที่กระทรวงคลังคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8

หากไปดูย้อนหลังในห้วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยถอยหลังลงคลองมาโดยตลอด จีดีพี.ต่ำลงเรื่อยๆ จากที่เคยเติบโตได้สูงถึง 8% ต่อปีในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง และหลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งจีพีดี.ของไทย กลับลดลงเหลือเพียงราว 5% เท่านั้น

แล้วหลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับ การรัฐประหาร-วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์-วิกฤตยูโรโซน รวมไปถึง น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เศรษฐกิจไทยก็เติบโตได้เพียงราวๆ 3% ต่อปี และหลังจากเกิด วิกฤตโควิด ขึ้นในปี 2564 เศรษฐกิจไทยก็เติบโตได้เฉลี่ยเพียง 2% เท่านั้น

ขณะที่ประเทศอื่นๆ ฟื้นได้ภายในเวลา 1-2 ปี แต่ประเทศไทยผ่านมาแล้ว 3 ปีแล้วเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น สะท้อนว่ากว่า 3 ทศวรรษ เศรษฐกิจไทยไม่เหมือนเดิม และคงยากที่จะกลับมาเหมือนเดิม

กลับมาดูเศรษฐกิจไทยปี 2566 บ้าง จะเห็นว่าตัวการที่ฉุดจีดีพีไตรมาส 3 และ 4 ลดลง จริงๆ เกิดจากการลงทุนรวมไตรมาส 4 หดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี เป็นผลมาจากการลงทุนภาครัฐที่หดตัวถึงร้อยละ -20.1 ต่อปี อันเนื่องมาจากงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าช้ากว่าปกติถึง 7 เดือน ช่วงนี้จึงไม่มีเม็ดจากการลงทุนของภาครัฐเข้ามา งบประมาณล่าช้าการลงทุนภาครัฐ จึงไม่ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

โดยทั่วไป การเบิกจ่ายงบประมาณ จะต้องเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นปีงบประมาณ แต่มาจนถึงวันนี้งบประมาณปี 2567 ยังไม่ผ่านรัฐสภาฯ อาจจะต้องรอถึงเดือนเมษายน นั่นหมายความว่า ภาครัฐจะไม่มีการลงทุนใดๆ อีกหลายเดือน แถมยังต้องเจอปัญหาท่อตันเหมือนที่เป็นมาทุกปี

ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชดี เมื่อ การอุปโภคบริโภคโดยภาคเอกชน เป็นพระเอกช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยมาตลอด สะท้อนจากไตรมาส 4 ขยายตัวสูงร้อยละ 7.4 ต่อเนื่องมาจากไตรมาส 3 ที่ขยายตัวสูงร้อยละ 7.9 ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ไตรมาส การใช้จ่ายในหมวดบริการขยายตัวสูงถึง ร้อยละ 12.8 ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคารที่ขยายตัวร้อยละ 35.4 และกลุ่มบริการทางการเงินที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 การส่งออกก็ขยายตัวร้อยละ 4.9 การนำเข้า ก็ขยายตัวร้อยละ 4.0 จะเห็นว่าการบริโภคเอกชนดูดีไปหมด

แต่เมื่อเอ็กเรย์เข้าไปดูเนื้อใน ที่คิดว่าดีก็มีตำหนิน่าห่วงพอสมควร เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชน หลักๆ มาจากการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับร้านอาหารและที่พักแรมที่ขยายตัวถึงร้อยละ 35.4 ต่อปี สะท้อนว่า ได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต สมุย เท่านั้น ทำให้การใช้จ่ายจึงยังกระจุกอยู่เฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลักๆ ไม่กี่แห่ง รายได้ไม่ได้กระจายไปแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ

แม้ตัวเลขภาคเอกชนอาจจะดูดี แต่ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมไตรมาส 4 หดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี เป็นการหดตัวต่อเนื่องยาวนานถึง 5 ไตรมาส มากกว่าสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งที่หดตัวติดต่อกัน 4 ไตรมาส ซับไพรมติดต่อกัน 4 ไตรมาส เท่ากับโควิด-19 ที่ติดต่อกัน 5 ไตรมาส

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตอกย้ำว่า อุตสาหกรรมการผลิตของไทยกำลังแย่ลงเรื่อยๆ ไร้ศักยภาพ ไร้ขีดความสามารถ ปัญหาเกิดจากสินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่ผลิตได้รายใหญ่และส่งออกอันดับหนึ่งของโลก กลายเป็นสินค้าที่ถูกเลิกใช้ไปแล้ว เช่น ฮาร์ดดิสต์ ไดร์ฟ กลายเป็นสินค้าที่ถูกเลิกใช้ไปแล้ว ทุกวันนี้ตลาดได้หันมาใช้ชิปแทนโลกเปลี่ยนไปเร็วมากแต่การผลิตอุตสาหกรรมของไทยปรับตัวตามไม่ทัน

นอกจากนี้ยังต้องเจอกับสินค้าจากจีนทะลักเข้ามาตีตลาด ขายตัดราคาเช่นเหล็ก กระเบื้อง อื่นๆ ผู้ผลิตไทยจึงเลิกเป็นผู้ผลิต แล้วหันไปนำเข้าสินค้าจากจีน ราคาถูกกว่า คุณภาพอาจจะดีกว่า เข้ามาขายแทน ได้กำไรดีกว่า ไม่ต้องเสียเวลาผลิตเอง ปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมานับสิบปี แต่ยังไม่มีการแก้ปัญหาจากผู้รับผิดชอบอย่างจริงจัง

หากเศรษฐกิจไทยยังโตแค่ร้อยละ 1 หรือ 2 กว่าๆ อย่างนี้ไปเรื่อยๆ คงยากที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเฟื่องฟูเหมือนในยุคก่อนต้มยำกุ้ง ต้องยอมรับว่า โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเหมือนเดิมคงริบหรี่

………………………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img