วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSศึกช้างชนช้างชิง‘ธนาคารไร้สาขา’เดือด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ศึกช้างชนช้างชิง‘ธนาคารไร้สาขา’เดือด

ปีกลองเริ่มโหมโรงแล้วสำหรับ ธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank เมื่อมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจาก กระทรวงการคลังได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตจัดตั้ง อย่างเป็นทางการ และเปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.-19 ก.ย.67 คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้ง ราวกลางปี 68 และคาดว่าจะเริ่มมีผู้ให้บริการรายแรกในปี 69

ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่น่าสนใจในแวดวงการเงินไทยล่าสุดมี 3 กลุ่มทุนใหญ่ ที่ประกาศจับมือกับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่ง และเตรียมยื่นสมัครขอไลเซนส์ Virtual Bank แน่นอนแล้ว ได้แก่

กลุ่มแรก บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ประกาศจับมือกับ Kakao Bank ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ จัดตั้งกิจการค้าร่วม เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาให้กับคนไทยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ โดย SCBX จะมีสัดส่วนถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ และ Kakao Bank จะถือหุ้นอย่างน้อย 20% โดยทั้งสองยังอยู่ระหว่างการพิจารณาหาพันธมิตรเพิ่มเติมอีกด้วย

กลุ่มที่สอง ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีแผนร่วมลงทุนกับพันธมิตร 4 รายที่มีความเชี่ยวชาญและกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR

กลุ่มสุดท้าย คือ Ascend Money ฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของไทย บริษัทที่อยู่ในกลุ่ม Ascend Group ในเครือซีพี หรือที่หลายคนรู้จักบริการ E-Wallet อย่าง True Money โดยแอเซนด์ มันนี่ยังมีพันธมิตรอย่าง Ant Financial Services Group บริษัทในเครือของ Alibaba Group

เห็นรายชื่อกลุ่มพันธมิตรทั้ง 3 กลุ่มแล้ว ต้องบอกว่า แต่ละรายล้วนเป็นกลุ่มทุนใหญ่มีทั้งทุน มีเครือข่ายไม่ด้อยกว่ากัน งานนี้คงไม่มีใครยอมใครแน่ๆ ก่อนหน้านี้กลุ่ม JMART เคยประกาศตัวเข้าชิง มีข่าวว่าจะมีพันธมิตรอย่าง KB Financial Group และกลุ่มธุรกิจการเงินของเกาหลีใต้ กลุ่มนี้มีฐานลูกค้าจากซิงเกอร์ ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานจากสถาบันการเงินในระบบได้ ทำให้ JMART มีความพร้อม ไม่น้อยกว่ารายอื่นๆ

ไม่รู้ว่าในยามที่เศรษฐกิจโตอย่างเชื่องช้าอย่างทุกวันนี้ จะมีใครลงมาเล่นเกมนี้หรือไม่ รายที่ประกาศตัวก่อนหน้านี้จะเดินหน้าต่อหรือจะถอดใจ คงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป

เป้าหมายของ Virtual Bank จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือธุรกิจ SME ขนาดเล็กๆ ที่มีปัญหาเรื่องการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ เช่น ธนาคารแบบดั้งเดิมไม่ยอมปล่อยกู้แบบไม่มีค้ำประกัน จนต้องไปพึ่งช่องทางการกู้ยืมเงินนอกระบบที่มีมากมายและกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้

ในการจัดตั้ง Virtual Bank นั้น กำหนดไว้ 3 รูปแบบ คือ 1.ตั้งบริษัทลูกแยกออกจากธนาคารพาณิชย์เดิม 2.ตั้งเป็นบริษัทลูกของ Non-Bank และ 3.การร่วมทุนระหว่างธุรกิจต่างๆ เช่น การร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์เดิมกับ Non-Bank หรือการร่วมทุนระหว่าง Non-Bank ต่างประเภทที่สามารถเสริมจุดแข็งระหว่างกันได้

ส่วนกระบวนการทำงานทำเหมือนธนาคารพาณิชย์ทุกอย่าง แต่ Virtual Bank จะไม่มีสาขาและตู้ ATM ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลทั้งกระบวนการ จะมีความยืดหยุ่นกว่าธนาคารรูปแบบเดิม สามารถออกนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ตามการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภค จะช่วยลดต้นทุนทั้งพนักงาน อาคารสถานที่ ทำให้ต้นทุนการให้บริการประชาชนได้ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิม ซึ่งจะจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้บริการมากขึ้น

แต่ด้วยกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น กำหนดทุนจดทะเบียนที่สูงถึง 5,000 ล้านบาท และไม่จำกัดการขอใบอนุญาตของผู้ประกอบธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกทั้งจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 รายเท่านั้น เพราะมองว่าเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีในไทยมาก่อน

วิธีคิดอย่างนี้ สะท้อนให้เห็นว่า กฎเกณฑ์เหล่านี้จะไม่ทำให้เกิด “การแข่งขัน” ตามเจตนารมณ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการตั้งแต่แรก สุดท้ายจะเหลือแค่ธนาคารแบบดั้งเดิม กับพันธมิตรที่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้นที่เข้าเกณฑ์ตามที่กำหนด

ไม่รู้ว่าหากเป็นอย่างนี้แล้วคนตัวเล็กตัวน้อยจะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้แค่ไหน เพราะจำกัดทั้งจำนวนที่ให้ไม่เกิน 3 ใบ  และผู้เล่นก็เอื้อเฉพาะ “กลุ่มทุนใหญ่” เท่านั้นที่มีสิทธิ์ มิหนำซ้ำกลุ่มที่เป็นหัวหอกยังเป็นธนาคารแบบดั้งเดิมที่กลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยเข้าไม่ถึง…นั่นเอง

………………………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย ..“ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img