วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSแรงงานไทย“ขาดแคลน-คุณภาพต่ำ” ฉุด“เศรษฐกิจไทย”ถดถอยลงเรื่อยๆ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แรงงานไทย“ขาดแคลน-คุณภาพต่ำ” ฉุด“เศรษฐกิจไทย”ถดถอยลงเรื่อยๆ

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ทุนมนุษย์” นั้นได้มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ประเทศใดมี “แรงงาน” จำนวนมากและเป็นแรงงานคุณภาพ มีทักษะดี จะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้

สำหรับประเทศไทย นับว่าน่าเสียดายอย่างยิ่ง กลับสวนทางข้อเท็จจริงนี้ เนื่องจากปีนี้ย่างเข้าสู่ “สังคมวัยชรา” เต็มรูปแบบ ทำให้ไทยต้อง “ขาดแคลนแรงงาน” จำนวนมาก และ กลายเป็นปัญหาใหญ่ ฉุดให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยถดถอยลงเรื่อยๆ เนื่องจากแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุน และสร้างผลิตภาพของประเทศ

ขณะที่โจทย์ที่ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย เรื่องแรก “แรงงานขาดแคลน” ด้วยปริมาณแรงงานที่ลดลง เรื่องที่สอง “ปัญหาแรงงานคุณภาพต่ำ” ซึ่ง ประชากร “วัยทำงาน” ลดลง สะท้อนว่าประเทศไทยกำลังถอยหลัง คือคนทำงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกำลังลดลงเรื่อยๆ มิหนำซ้ำคุณภาพก็ต่ำ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมสถิติการลงทุนของไทยตกต่ำมาหลายปีติดต่อกัน

อันที่จริงหากประชากรลดลง รัฐควรจะต้องเร่งยกระดับให้คุณภาพดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องหลักที่จะสร้างอนาคตให้กับประเทศแต่กลับถูกละเลยมาโดยตลอด มีข้อมูลน่าสนใจ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ทำร่วมกับ ธนาคารโลก เรื่อง “ทิศทางการพัฒนาทักษะทุนชีวิต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย”

รายงานจากงานวิจัยระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาทักษะชีวิตของประชากรเข้าขั้นวิกฤติ จากประชากรส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถอ่านหนังสือ หรือคำนวณขั้นพื้นฐาน ไม่สามารถมีส่วนร่วมหรือเปิดกว้างรับความคิดเห็นใหม่ๆ ได้

ผลวิจัยพบว่า 64.7% ของเยาวชนและผู้ใหญ่ไทย มีทักษะการรู้หนังสือที่ตํ่ากว่าเกณฑ์ คือไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาง่ายๆ เช่น ฉลากยาได้ 74.1% มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลตํ่ากว่าเกณฑ์ ไม่สามารถใช้อุปกรณ์บนคอมพิวเตอร์ทำงานง่ายๆ เช่น การค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ 30.3% มีทักษะรากฐานทางอารมณ์และสังคมที่ตํ่ากว่าเกณฑ์

การมีทักษะตํ่า ทำให้คนเหล่านี้ไม่มีความคิดริเริ่มเพื่อสังคม หรือมีความกระตือรืนร้นอยากรู้อยากเห็น หรือมีจินตนาการ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้รับมือกับความเสี่ยงที่ไม่แน่นอน หรือประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

ผลการวิจัยยังพบว่า มีเยาวชนและผู้ใหญ่ 18.7% ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะขาดทักษะทุนชีวิตทั้ง 3 ด้าน ทักษะด้านความรู้และความเข้าใจต่ำ ทักษะด้านดิจิทัลต่ำ และทักษะด้านอารมณ์และสังคม จนไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง มีทางเดียวคือต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา

ประเด็นนี้ถือว่ามีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากไทยกำลังมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ลดความเหลื่อมลํ้า และปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม

รายงานระบุอีกว่า การที่ประเทศไทยมีสัดส่วนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะตํ่ากว่าเกณฑ์มากนั้น กลายเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือ 20.1% หรือ 1 ใน 5 ของจีดีพี. ในปี 2565 และสูงกว่างบประมาณรายจ่ายปี 2565 ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ราว 0.2 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

ขณะที่รัฐบาลกำลังเดินสายดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ แต่ปัญหา “คน” ในประเทศที่ขาดแคลน ทั้งปริมาณและคุณภาพก็ต่ำ หากไม่รีบเร่งลงทุนใน “ทุนมนุษย์” ด้วยการยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยเร่งด่วน ในอนาคตจีดีพีไทยอาจโตตํ่ากว่า 2% ไปตลอดเลยก็ได้  

แล้วประเทศไทยเราจะทำอย่างไรต่อไป ลองดูตัวอย่างใกล้ๆบ้านที่ประสบความสำเร็จ อย่าง “สิงคโปร์” เป็นเกาะเล็กๆ ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย แต่ “ลี กวน ยิว” ผู้ก่อตั้งประเทศวางรากฐานโดยเน้นที่การ “สร้างคนสิงคโปร์” ให้มีความรู้ มีทักษะ ให้เป็น “ทรัพยากรอันมีค่า” ด้วย “การศึกษาที่ดีเยี่ยม” ระดับโลก

ไม่แปลกใจ ทำไมสิงคโปร์จึงเป็นศูนย์กลางการเงินการค้า อันดับต้นๆ ของโลก นักลงทุนทั่วโลกต่างพากันลงทุนตั้งสำนักงานใหญ่ ล่าสุด “ลี เซียนลุง” นายกฯสิงคโปร์ มีนโยบายให้เงินอุดหนุนคนวัย 40 ขึ้นไป กลับไปเรียนทักษะใหม่เพื่อปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงในยุค AI แทนที่จะแจกฟรีให้ไปใช้จ่ายเหมือนบ้านเรา

“สหรัฐอเมริกา” ก็เป็นอีกประเทศที่ประสบความสำเร็จ อย่างที่รู้กันว่าสหรัฐฯเคยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ๆ หลายครั้ง แต่ก็แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เพราะสหรัฐฯมีคนเก่ง และคนมีคุณภาพจำนวนมาก ที่นี่เป็นแหล่งรวมมันสมองระดับหัวกะทิ อาจเป็นเพราะมีมหาวิทยาลัยดังๆ มีชื่อเสียงระดับโลก จึงผลิตคนมีความรู้ มีความสามารถ คนของเขาจึงมีคุณภาพ รวมถึงการเปิดรับคนเก่งจากทั่วโลกเข้าไปทำงาน

สองตัวอย่างแรกอาจจะยกระดับไปไกลแล้ว แต่ยังมีหลายประเทศที่ฟื้นเศรษฐกิจด้วยการยกระดับการศึกษา อย่างกรณีประเทศโปแลนด์ เดิมเป็นประเทศกลุ่มยุโรปตะวันออก เคยปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ภายหลังได้เปิดประเทศ แต่เศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลโปแลนด์ทำสิ่งแรกๆ คือ ปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ทั้งระบบ เพื่อสร้างคนให้มีความรู้ มีคุณภาพ ผลปรากฏว่าเศรษฐกิจของโปแลนด์ดีขึ้นตามลำดับ

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การลงทุนเพื่อพัฒนา “ทุนมนุษย์” ด้วยการศึกษา การเพิ่มทักษะทุกๆ ด้าน มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอย่างมาก

……………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img