วันอังคาร, พฤษภาคม 21, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSแบงก์‘ลดดอกเบี้ย’..แค่รักษาหน้านายกฯ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แบงก์‘ลดดอกเบี้ย’..แค่รักษาหน้านายกฯ

หลังจากที่คำขอร้องแกมบังคับของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ที่กดดันให้ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” หรือ “แบงก์ชาติ” ลดดอกเบี้ยนโยบายช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจรายย่อยและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงประชาชนที่มีหนี้ครัวเรือนให้หายใจหายคอได้คล่องขึ้น แต่คำขอร้องดังกล่าว กลับล่องลอยอยู่ในสายลม “แบงก์ชาติ” ฟัง แต่ไม่ได้ยิน

ยิ่งไปกว่านั้นในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เม.ย.67 ที่ประชุม มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี เช่นเดิม

“นายกฯเศรษฐา” จึงต้องหาทางออกด้วยการเชิญได้เชิญ “ผู้บริหาร” และ “ตัวแทนธนาคารของรัฐและเอกชน” เข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการประชุม ครม.

ต้องบอกว่า “แบงก์พาณิชย์” ที่ถูกเชิญไปจิบกาแฟ ร่วมโต๊ะนายกฯเศรษฐานั้น จัดอยู่ในระดับ “บิ๊กโฟร์” ประกอบด้วย “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย หมวกอีกใบในฐานะ ประธานสมาคมธนาคารไทย, “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์, “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย และ “ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เพื่อขอความร่วมมือเรื่องของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

นั่นหมายความว่า หาก “ขาใหญ่ 4 ราย” เห็นด้วยกับข้อเสนอของ “นายกฯเศรษฐา” แบงก์รายกลาง-รายเล็กก็ต้องทำตาม ส่วน “แบงก์รัฐ” ไม่ต้องพูดถึงแค่รอสัญญาณไฟเขียวเท่านั้น

อันที่จริงการพูดคุยกับ “แบงก์พาณิชย์” ควรจะเป็นหน้าที่ของ “แบงก์ชาติ” มากกว่า ซึ่งในอดีตก็เคยพูดคุยกันมาตลอด แต่การที่ “ผู้นำประเทศ” ออกมาแอคชั่น ขอร้อง “ธนาคารพาณิชย์” ให้ลดอัตราดอกเบี้ยโดยตรง ไม่ผ่าน “แบงก์ชาติ” ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย

การที่ “นายกฯเศรษฐา” ใช้วิธีขอร้องให้แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ย ด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “นายกฯเศรษฐา” ในฐานะ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” (ในขณะที่มีการพูดคุยหารือ-ปัจจุบันไม่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว) ไม่สมารถโน้มน้าว “แบงก์ชาติ” ให้ลดดอกเบี้ยตามแนวคิดของตัวเองได้ จึงต้องใช้วิธีทางอ้อมด้วยการไปคุยกับแบงก์พาณิชย์แทน

น่าสนใจว่า “ผลที่ตามมา” อาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจว่า “รัฐบาล” กับ “แบงก์ชาติ” ขัดแย้งกันหนัก

ยิ่งก่อนหน้านี้ “ท่าที” ของ “นายกฯเศรษฐา” ใช้วิธี “กดดันผ่านสื่อ” ยิ่งทำให้ “ภาพออกมาดูไม่ดี” กลายเป็นว่า “การเมืองแทรกแซงแบงก์ชาติ”

ลงทุน / cr : https://www.boi.go.th/

ในสายตาของนักลงทุน โดยเฉพาะ “นักลงทุนต่างชาติ” ให้ความสำคัญกับ “ความเป็นอิสระ” ของ “แบงก์ชาติ” อย่างมาก

หาก “แบงก์ชาติ” ขาดความเป็นอิสระ “รัฐบาล” สามารถสั่งการได้ ก็จะเป็น “ภาพลบต่อเศรษฐกิจ” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

อย่างไรก็ตาม สุดท้าย “สมาคมธนาคารไทย” ก็สนองเจตนารมณ์ “นายกฯเศรษฐา” ด้วยการประกาศลดดอกเบี้ย MRR (ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเรียกเก็บลูกค้ารายย่อยชั้นดี) ลง 0.25% ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และ SMEs ในส่วนของ “แบงก์รัฐ” ไม่ยอมตกขบวน ขานรับทันทีทันควัน

อันที่จริง การกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้มีแค่ “นโยบายทางการเงิน” โดยผ่าน “แบงก์ชาติ” เท่านั้น ยังสามารถทำได้โดยใช้ “นโยบายการคลัง” ผ่าน การใช้จ่ายของภาครัฐ แต่การที่ “นายกฯเศรษฐา” มีปัญหาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะมีเครื่องมือจำกัดในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากพ.ร.บ.งบประมาณล่าช้า อีกทั้ง “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่รัฐบาลหวังจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ ก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดได้หรือไม่

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเป็นผลพวงมาจากสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งปี 66 ทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีและการตั้งรัฐบาลเสียเวลาไปมาก การออกพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ก็พลอยล่าช้าตามไปด้วย ผลจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า หลังจากที่รัฐบาลเข้ามาทำงาน 5-6 เดือน งบประมาณยังไม่ออก ทำให้เศรษฐกิจโตช้า ถ้ารัฐบาลเข้ามาและเร่งออกงบประมาณ มีการใช้จ่าย เศรษฐกิจก็จะเดินหน้าได้

นอกจากนี้ ความหวังที่ฝากไว้กับ “การท่องเที่ยวของไทย” ก็ไม่เป็นตามเป้า แม้รัฐบาลจะผลักดันมาตรการต่างๆเพื่อกระตุ้นตัวเลขนักท่องเที่ยวแล้วก็ตาม แม้จะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวสูงขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวกลับต่ำลง

ตั้งแต่ “รัฐบาลเศรษฐา” เข้ามาบริหารประเทศเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจไทยเกือบทุกตัวติดขัดไปหมด นี่คือ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ “นายกฯเศรษฐา” ต้องไปกดดัน “แบงก์ชาติ” ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะว่าไปแล้วมาตรการดังกล่าวดังกล่าว จะไม่ได้ช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนตามที่คาดหวังคงแค่ช่วยบรรเทา เนื่องจากเป็นการลดเพียง 0.25% เท่านั้น

ขณะเดียวกัน ก็คงไม่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากมายเท่าใดนัก เพราะดอกเบี้ยที่ลดหนี้ให้นั้น เป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อย สัดส่วนก็ไม่เยอะมาก เมื่อเทียบกับสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวทั้งระบบ

เจตนาจริงๆ ของ “นายกฯเศรษฐา” ที่กดดัน “แบงก์ชาติ” ก็เพื่อจะให้ลดดอกเบี้ยทั้งระบบ ทั้งรายย่อย-รายใหญ่ โดยเฉพาะ “ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์” ที่ตอนนี้สินค้าเหลือในสต็อกบานเบอะ ขายไม่ออก ลูกค้าทิ้งจองไม่มีปัญญาส่งต่อ การลดดอกเบี้ยจะช่วยให้ผู้ซื้อบ้านมีภาระน้อยลง

จะว่าไปแล้ว การขานรับของ “แบงก์พาณิชย์” ก็คงแค่ “รักษาหน้าผู้นำประเทศ” เท่านั้น เพราะการลดดอกเบี้ยรายย่อย ไม่ได้สร้างผลสะเทือนอะไร ทั้งสัดส่วนลูกค้าก็จิ๊บจ๊อย อีกทั้งระยะเวลาก็สั้นนิดเดียวแค่ 6 เดือนเท่านั้น!!!

………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย…“ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img