วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSโลกร้อน “เศรษฐกิจละลาย” ... หายนะเยือนไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

โลกร้อน “เศรษฐกิจละลาย” … หายนะเยือนไทย

ในห้วงเวลากว่าทศวรรษที่เกิดปรากฏการณ์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เราเรียกกันว่า “Climate Change” ยิ่งมีความรุนแรงและแปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ หลายๆ ครั้งรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิโลกและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นต่อเนื่อง สภาพอากาศที่แปรปรวนขึ้น และภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าว นอกเหนือจากผลเสียต่อสุขภาพและชีวิตแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังได้สร้าง “ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหาศาล” มีงานวิจัยระบุว่า ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวไม่สูงนัก และมีภูมิอากาศร้อนชื้น มักได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงกว่า

“ประเทศไทย” จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง เนื่องจากเป็น “ประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น” พื้นที่ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม มีแรงงานในภาคเกษตรสูงถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด

เมื่อโลกร้อน ทำให้เกิดฝนแล้งภาคเกษตรกรรม ต้องใช้น้ำมากกว่า 3 ใน 4 ของการใช้น้ำทั้งประเทศ เมื่อขาดแคลนน้ำ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ปีนี้พืชเศรษฐกิจทั้งข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ลดลงอย่างน่าใจหาย เพราะทนความร้อนไม่ไหว ล่าสุดมีข่าวว่า ทุเรียนภาคใต้ผลผลิตลดลงอย่างมากเช่นกัน

น่าห่วงตรงที่เกษตรกรมากกว่า 7 แสนครัวเรือน ได้รับผลกระทบ ในตอนนี้ 90% ของครัวเรือนเกษตรกรไทย “ล้วนมีหนี้สิน” ทั้งสิ้น

ที่สำคัญผลกระทบยังต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ยัน “ปลายน้ำ” ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช ที่เป็นวัตถุดิบหลักของการทำเกษตรกรรมธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ธุรกิจเชื้อเพลิง โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรูปอาหาร ตลอดจนธุรกิจอาหารสัตว์

รวมถึงผลผลิตพืชผักต่างๆ ปีนี้จะออกสู่ตลาดน้อยกว่าทุกปี บางส่วนก็จะแห้งตาย เพราะทนอากาศร้อนไม่ไหวและไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ส่วนหนึ่งชาวสวนต้องเลิกปลูกผัก เพราะอากาศแล้งหนัก ไม่มีน้ำรด ต้องซื้อน้ำมาใช้รดผัก ต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงไม่คุ้ม

ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมนี้ มีขนาดใหญ่ถึง 1 ใน 3 ของ GDP ประเทศก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน และปัญหาการขาดแคลนน้ำในการขาดแคลนน้ำ ยังอาจทำให้โรงงานต้องลดกำลังการผลิตลง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในปริมาณมาก

ที่สำคัญ “โลกร้อน” ยังกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งภาคการส่งออกเป็นรายได้หลักของประเทศ เนื่องจากสหภาพยุโรปมี การบังคับใช้มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) คือ มาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของยุโรป พูดง่ายๆ ‘เรียกเก็บภาษีเพิ่ม’ กับผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกลุ่มสินค้าไทยที่เข้าข่ายมาตรการ CBAM ล้วนมีความสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศ

ขณะที่ สหรัฐอเมริกาก็ออกร่างกฎหมายที่เรียกว่า Clean Competition Act (CCA) เก็บภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงในกระบวนการผลิต

นั่นหมายความว่า หากมาตรการ CBAM และ CCA ถูกบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกประมาณ 216,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.1% ของจีดีพีไทยเลยทีเดียว

ที่สำคัญ ภาคการท่องเที่ยว เป็นอีกภาคธุรกิจหนึ่งที่สุ่มเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง อาจถูกทำลาย รวมถึงปัญหาโลกร้อนจะกลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย

อย่าลืมว่า การท่องเที่ยวไทยเป็นการท่องเที่ยวที่มีสภาพอากาศเป็นสิ่งดึงดูดใจ เช่น การท่องเที่ยวภาคเหนือในฤดูหนาว เที่ยวทะเลในฤดูร้อน หรือการท่องเที่ยวน้ำตกในฤดูฝน การท่องเที่ยวของไทยจึงอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างมาก

ภาวะโลกร้อนที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลให้ประเทศไทยในอนาคต มีหน้าหนาวที่ไม่ค่อยหนาวและมีระยะสั้น มีหน้าร้อนที่ร้อนมากขึ้นและยาวนานมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้การท่องเที่ยวของไทยในระยะยาว ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงมากขึ้น และไม่เป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ซึ่งจะลดโอกาสในการทำธุรกิจท่องเที่ยวลง

ทุกวันนี้ รัฐบาลไทย และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังขาดความตระหนักต่อความเสี่ยงของภาคการท่องเที่ยวภายใต้ภาวะโลกร้อน และผลต่อห่วงโซ่ธุรกิจท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันอย่างไรและสามารถรับมือได้เพียงไร

น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะการท่องเที่ยวไทยเป็นรายได้หลักของประเทศแต่ละปีราว 2 ล้านล้านบาท มีคนที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนี้มากถึง 4 ล้านคนเลยทีเดียว

เหนือสิ่งใด วิกฤติโลกร้อนยังมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง แม้แต่นักลงทุนจากต่างประเทศ จะตัดสินใจลงทุนยังต้องดูว่า รัฐบาลในประเทศที่เขาจะไปลงทุน ให้ความสนใจแก้ปัญหาโลกร้อนมาก-น้อยแค่ไหนด้วย

ฉะนั้น หากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจน ก็จะจูงใจให้ท่องเที่ยวจากต่างประเทศตัดสินใจลงทุนง่ายขึ้น แต่หากยังมัวแต่มะงุมมะงาหราอยู่กับดิจิทัล วอลเลต ทะเลาะ “แบงก์ชาติ” ก็ให้เตรียมรับหายนะกำลังจะมาเยือน

………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย…“ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img