วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเศรษฐา1/2 ร้าวลึก...“เศรษฐกิจไทย”ติดหล่ม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เศรษฐา1/2 ร้าวลึก…“เศรษฐกิจไทย”ติดหล่ม

ย่างเข้าปี 2567 เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกก็ ไม่เพริศแพร้วศิวิไลย์เสียแล้ว แต่เดิมทุกสถาบันฟันธงว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ “จีดีพี” (ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ) จะโตราว 3% แต่ล่าสุดโดนหั่นเหลือ 2.4% เฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา จีดีพี.ไทย โตแค่ 1.9% เท่านั้น

ต้องยอมรับว่า 10 ปีที่ผ่านมา บ้านเรามีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นชนวนนำประเทศไปสู่การเข้ามายึดอำนาจของ “คสช.” ทำให้ประเทศไทยไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมโลกและนักลงทุนจากต่างประเทศ

ล่าสุด แม้ได้รัฐบาลใหม่โดย พรรคเพื่อไทย แต่ก็มีคำถามมากมายจากนักลงทุนจากต่างประเทศว่า ทำไมพรรคที่ได้อันดับ 1 ในการเลือกตั้งจากประชาชน ไม่ได้เป็นรัฐบาล ในสายตานักลงทุนต่างชาติเห็นว่า ขัดหลักการประชาธิปไตยต่างชาติไม่ยอมรับ

การเมืองบ้านเราพายเรือในอ่าง ไม่พ้นวงจรอุบาทก์เสียที จึงไม่แปลกใจว่า 10 ปี ที่ผ่านมาการลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่ำลงเรื่อยๆ อย่าลืมว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้และยั่งยืน ส่วนหนึ่งต้องพึ่งพาการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ หากจะคิดหรือทำอะไร จะต้องแคร์สายตานักลงทุนต่างชาติ ว่าเขามองเราอย่างไร

ความอันตรายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ได้พิจารณาคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ แต่มาจาก “โควต้าบ้านใหญ่” เพื่อเป็นการต่างตอบแทน ทำให้ไม่ได้บุคคลากรที่มีคุณภาพพอที่จะรับมือกับโลกสมัยใหม่

ก่อนหน้านี้ ครม.เศรษฐกิจ ในรัฐบาลเศรษฐา 1 ไม่มีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ทำให้การบริหารงานไม่คล่องตัว แต่ “ครม.เศรษฐา 1/2” ปิดจุดอ่อนนั้น โดยมอบให้ “พิชัย ชุณหวชิร” เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ในครม.เศรษฐา 1 มีปัญหารัฐมนตรีบางกระทรวง ไม่ได้รับการยอมรับและไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการระดับสูงในกระทรวง ไม่สามารถสั่งการข้าราชการได้ ทำให้ต้องมีการย้ายและแลกกระทรวง ในการปรับครม.ล่าสุด

กระทั่งในรัฐบาลเศรษฐา 1/2 ยังมีบางกระทรวงที่เจ้ากระทรวงไม่ได้รับการยอมรับจากข้าราชการ แต่ยังอยู่ที่เดิม บางกระทรวงรัฐมนตรีไม่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ ก็ยกอำนาจการบริหารกระทรวงทั้งหมดอยู่ในมือข้าราชการ

แรกๆ ก็หวังว่าครม.ในรัฐบาลเศรษฐา1/2 ที่น่าจะมีคนที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น แต่พอเผยโฉมออกมา กลับดูแย่กว่าเดิม แทนที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้น กลับมีความขัดแย้งหนักขึ้นไปอีก เพียงไม่กี่วัน มีรัฐมนตรีลาออกในเวลาใกล้เคียงกันถึง 2 คน

คนแรก “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ที่มีผลงานในการเจรจาบริษัทเทคฯยักษ์ใหญ่ของโลก เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและมีบทบาทผลักดันประเทศไทยเป็นสมาชิก OECD ซึ่งเป็นองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มีภารกิจหลัก กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าโลก

ไม่กี่วันต่อมา “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” รมช.คลัง โควต้า “รวมไทยสร้างชาต” ลาออกตามมาติดๆ เพราะไม่พอใจการแบ่งงานของ “พิชัย ชุณหวชิร” รมว.ลังคนใหม่ อาจจะทำให้การบริหารงานของรัฐมนตรีเพื่อไทยที่ดูแลกระทรวงคลังมีปัญหา เพราะ “กฤษฏา” คือ อดีตปลัดกระทรวงคลัง มาก่อน ย่อมมีเครือข่ายที่เป็นข้าราชการระดับสูง

นอกจากนี้ เศรษฐา 1/2 เริ่มส่งสัญญาร้าวลึก ส่อเค้าไม่ราบรื่น เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเริ่มมีปฏิกริยาไม่พอใจแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย

กรณีแรก เริ่มที่ พรรคร่วมไทยสร้างชาติ สปอร์ตไลท์ฉายไปที่ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน ที่กำลังงัดข้อกระทรวงคลังเกี่ยวกับนโยบายภาษีน้ำมัน

ส่วนรอยร้าวกับ พรรคภูมิใจไทย มาจากกรณี “กัญชาเสรี” พรรคเพื่อไทยซึ่งคุมกระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกกฎหมายกระทรวง คืนกัญชาสู่บัญชียาเสพติด รวมทั้งกรณีขึ้นค่าแรง 400 บาท ที่ภูมิใจไทยดูแลกระทรวงแรงงานแต่เพื่อไทยพยามดึงมาเป็นผลงานของรัฐบาล ความขัดแย้งอาจจะทำให้การอยู่ร่วมกันของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ลำบากมากขึ้น

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีปัญหากับ “แบงก์ชาติ” ที่ดูแลนโยบายการเงิน คนของเพื่อไทยออกมากดดัน “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการฯแบงก์ชาติ สามเวลาหลังอาหาร ทั้งที่รัฐบาล-แบงก์ชาติ และกระทรวงการคลังต้องทำงานร่วมกัน ต้องเกื้อหนุนกัน แต่วาทกรรมที่ออกมากดดัน “แบงก์ชาติ” เกือบทุกวัน เป็นสิ่งที่นักลงทุนรับไม่ได้ จนถูกมองว่า แบงก์ชาติถูกการเมืองแทรกแซง ทำให้ไม่มีความเป็นอิสระ ขัดหลักสากล

เริ่มต้นจากเกริ่นเรื่อง จีดีพี.ประเทศไทยที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ก็อยากจบท้ายด้วยการรายงานตัวเลขจีดีพี.ของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนบ้าง ที่ตอนนี้กำลังก็ทยอยประกาศตัวเลขจีดีพี.(ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ) ในไตรมาส 1/2567 พลันเห็นตัวเลขจีดีพี.ที่แต่ละประเทศให้อิจฉาเล่นๆ

อินโดนีเซีย มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน จีดีพี.ไตรมาสแรกปีนี้ โตมากที่สุด 5.11% ฟิลิปปินส์ ที่เคยถูกตั้งฉายาคนป่วยแห่งเอเซีย แต่ไตรมาสแรกปีนี้โต 5.7% เวียดนาม ที่เป็นดาวรุ่งมาในรอบเกือบ 3 ทศวรรษมาตรฐานยังไม่ตก จีดีพี.โต 5.66% เพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่าง มาเลเซีย โต3.9% สิงคโปร์ ที่เจริญทางเศรษฐกิจมากที่สุดในอาเซียนก็โต 2.7%

มองบ้านเขาแล้วเศร้าใจ เพื่อนบ้านเขาแซงหน้าไปไกล เรายังวนลูปหาทางออกไม่เจอ

………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย…“ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img