วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS‘ขุนคลังพิชัย’เคลียร์ใจ‘ผู้ว่าฯเศรษฐพุฒิ’ “สัญญาณดี”...หรือ...“ลับ-ลวง-พราง?”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ขุนคลังพิชัย’เคลียร์ใจ‘ผู้ว่าฯเศรษฐพุฒิ’ “สัญญาณดี”…หรือ…“ลับ-ลวง-พราง?”

ภายหลังจากที่ “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯด้านเศรษฐกิจและรมว.คลังคนใหม่ กับ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) “แบงก์ชาติ” นัดเคลียใจหารือร่วมกันหาทางออกจากปมความขัดแย้งก่อนหน้านี้ ก็มีคำถามตามมาว่า เป็นการสงบศึกความขัดแย้ง หรือแค่พักยกชั่วคราว เพื่อรอวันปะทุขึ้นมาใหม่

ทั้งนี้เพราะเชื้อความขัดแย้งระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับ “แบงก์ชาติ” นั้น มีมายาวนานไม่น้อยกว่า 2 ทศวรรษ ในเวอร์ชั่นทางการเมืองต่างๆ ตั้งแต่ในเวอร์ชั่น “พรรคไทยรักไทย” “พรรคพลังประชาชน” จนกระทั่งถึงเวอร์ชั่น “พรรคเพื่อไทย” ทุกวันนี้เชื้อนี้ก็ไม่จางหาย  

ย้อนรำลึกความขัดแย้ง ระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลในเวอร์ชั่นไทยรักไทย โดย “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” หรือ “หม่อมเต่า” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 19 ถูกปลดในสมัย “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นรมว.คลัง “นายทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ไม่เป็นที่เปิดเผยว่า ขัดแย้งเรื่องอะไร แต่คาดว่า น่าจะขัดแย้งเรื่องการกำกับดูแลค่าเงินบาท และการผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และเรื่องสำคัญคงเห็นต่างในนโยบายอัตราดอกเบี้ย

ต่อมารัฐบาลพลังประชาชน ตอนนั้น “สมัคร สุนทรเวช” เป็นนายกรัฐมนตรี “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.คลัง ส่วนแบงก์ชาติมี “ธาริษา วัฒนเกส” เป็นผู้ว่าฯ ขัดแย้งกันในเรื่องนโยบายดอกเบี้ย

ในสมัย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีรองนายกฯ และรมว.คลังชื่อ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ขัดแย้งกับแบงก์ชาติในยุค “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เป็นผู้ว่าฯ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

กระทั่งมาในยุค “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ควบเก้าอี้รมว.คลัง ที่มี “กิตติรัตน์” เป็นประธานที่ปรึกษานายกฯ ขึ้นมาบริหารประเทศไม่ทันไร ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติก็กลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง และปมขัดแย้งก็ยังเป็นเรื่องเดิมๆ คือ เรื่องดอกเบี้ยนโยบาย

พิชัย ชุณหวชิร

สำหรับการหารือระหว่าง “ขุนคลังคนใหม่” กับ “ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ” นานเกือบ 2 ชั่วโมง น่าจะไปในทิศทางที่ดีภายหลังการหารือ “พิชัย” ได้ให้สัมภาษณ์สื่อ ถึงประเด็นการหารือว่า มี 2 ประเด็นหลักๆ ประเด็นแรก เรื่อง “ดอกเบี้ยนโยบาย” ที่เป็นชนวนขัดแย้งระหว่างคลังกับแบงก์ชาติมาตลอด 7 เดือนที่ “เศรษฐา” สวมหมวกรมว.คลัง “พิชัย” บอกว่า ให้เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สามารถใช้วิจารณญาณ เครื่องมือ และผลวิเคราะห์มาใช้ประกอบพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างอิสระ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม “พิชัย” ขมวดปมไว้น่าสนใจ ตรงที่บอกว่า กรอบเงินเฟ้อปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1-3% ซึ่งปกติจะมีการทบทวนทุกๆ ปี ตามกระบวนการนั้น แบงก์ชาติจะทำการวิเคราะห์เงินเฟ้อ ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง จากนั้นก็จะนำผลการศึกษามาหารือกับกระทรวงการคลัง จนในที่สุดก็ได้กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ตรงกัน ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ ที่ต้องดำเนินการไปตามปกติทุกๆ ปี

ตรงนี้น่าสนใจ เพราะจะเป็นช่องทางให้ “รัฐบาล” ยังใช้เป็นเครื่องมือกดดัน “แบงก์ชาติ” ผ่านการเจรจากรอบเงินเฟ้อได้ แต่ก็ยังดีกว่า-เนียนกว่าการใช้ “การเมือง” มากดดันเหมือนที่ผ่านมา

ประเด็นที่ 2 ที่หารือกันคือ เรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ หรือแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจและประชาชน ตรงนี้ “พิชัย” บอกว่า สำคัญกว่าเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย แม้ดอกเบี้ยจะสูงหรือต่ำลงนิดหน่อย จริงๆแล้วการเข้าถึงสินเชื่อมีความสำคัญมากกว่า และยังบอกอีกว่า ตนและผู้ว่าแบงก์ชาติเห็นตรงกันในเรื่องนี้ ก็ต้องบอกว่าตรงนี้ ถือว่ามาถูกทาง การที่ทั้งสองฝ่ายก็เห็นตรงกันน่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มีโอกาส

“พิชัย” นั้นผ่านงานใหญ่ๆ มีประสบการณ์ในการเจรจาต่อรองมามากมาย ที่สำคัญเคยเป็นกรรมการของแบงก์ชาติมาแล้ว ย่อมเข้าใจปรัชญาของแบงก์ชาติ ในฐานะธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ และเข้าใจบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติอย่างดีว่า มีหน้าที่หลักๆ ต้องดูแลเสถียรภาพ (ราคารักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม) นั่นหมายถึงต้องดูแลกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย อีกทั้งต้องดูแลเสถียรภาพของระบบเงิน ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่และรักษาเสถียรภาพภาคการเงิน ซึ่งคนละบทบาทของกระทรวงคลัง ที่มุ่งเน้นทำให้เศรษฐกิจเติบโต

“พิชัย” รู้ว่า บทบาทการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของแบงก์ชาติโดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีทั้งผู้บริหารแบงก์ชาติ และตัวแทนคนนอกที่มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ร่วมเป็นกรรมการ

หากเปรียบไปแล้ว ท่วงทำนองของ “พิชัย” นั้น เป็นมวยชั้นเชิงสูง แต่ “เศรษฐา” เป็นนักธุรกิจ และไม่เข้าใจการทำงานของระบบราชการ ใช้วิธีกดดันผ่านสื่อ กระทั่งถูกมองว่า ใช้อำนาจการเมืองเข้าแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ อาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติมองประเทศไทยในแง่ลบได้

แต่การเจรจาระหว่าง “พิชัย” และ “เศรษฐพุฒิ” ที่เริ่มต้นด้วยดี น่าจะทำให้นักลงทุนคลายกังวลได้บ้าง

แต่ต้องก็ต้องจับตาดูว่า จังหวะก้าวของพิชัยครั้งนี้ จะทำให้การทำงานระหว่าง “รัฐบาล” กับ “แบงก์ชาติ” จะราบรื่นจริงหรือไม่ หรือแค่ “ลับ-ลวง-พราง” เพราะธงของพรรคเพื่อไทย เป้าหมายหลักคือ การแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย…เท่านั้น

………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย…“ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img