วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSแรงสะเทือน....จากผล“คดีศาลรธน.” กกต.แก้เกมเร็ว-“ชิดชอบ”เสี่ยงสูง!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แรงสะเทือน….จากผล“คดีศาลรธน.” กกต.แก้เกมเร็ว-“ชิดชอบ”เสี่ยงสูง!!

แรงกระเพื่อมทางการเมือง จากกรณี “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำสั่งสองเรื่องสำคัญเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นบ้างทางการเมือง เป็นเรื่องน่าติดตามยิ่งนัก

เริ่มจากเรื่องแรก กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญ” มาตรา 86 (1) ที่กำหนดให้ใช้ “จำนวนราษฎรทั้งประเทศ” ตามหลักฐาน การทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง

ศาลวินิจฉัยว่าคำว่า “ราษฎร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย

ทำให้กกต.ต้องคำนวณ “จำนวนส.ส.พึงมี” แต่ละจังหวัดใหม่ บนหลักคือ ต้องไม่นำ “ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย” มาคำนวณ ดังนั้นจากจำนวนประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทย ตามข้อมูลล่าสุดของกรมการปกครองเมื่อธันวาคม 2565 มีทั้งสิ้น 65,106,481 คน ดังนั้น ก็นำจำนวนส.ส.เขต 400 คนไปคำนวณหาร ก็จะเท่ากับส.ส.เขตหนึ่งคน จะเท่ากับจำนวนราษฎรคือ 162,766 คน ต่อส.ส. 1 คน

ทำให้ กกต.ต้องรีเซ็ตการคิดคำนวณและการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่ได้รื้อทั้งหมด ทำแค่กับ 8 จังหวัดเท่านั้น คือ ไปลดส.ส.เขต 1 คน ใน 4 จังหวัดดังนี้ เชียงใหม่-เชียงราย-สมุทรสาคร-ตาก

แล้วก็ไปเพิ่มจังหวัดละหนึ่งคนใน 4 จังหวัดดังนี้ คือ อุดรธานี-ลพบุรี-นครศรีธรรมราช-ปัตตานี

ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง

โดยทาง กกต.ได้เตรียมแผนรองรับเรื่องนี้ไว้แต่เนิ่นๆ แล้ว จึงทำให้เมื่อผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเมื่อช่วงสายวันศุกร์ที่ 3 มี.ค. ทางกกต.ก็เรียกประชุมด่วนเพื่อนำ “แผนสำรอง” ที่เตรียมไว้งัดขึ้นมา เพื่อไม่ให้แผนงานเตรียมการเลือกตั้งสะดุด จึงไม่แปลกที่พอตกเย็นในวันดังกล่าว “อิทธิพร บุญประคอง” ประธานกกต. ก็ลงนามใน “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมี”

และประกาศดังกล่าวก็มีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา คืนวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยทันที

ซึ่งก็เป็นประกาศ ที่แก้ไขให้สอดรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่นำ “ราษฎร” ที่ไม่ได้สัญชาติไทยมารวมด้วยในการกำหนดจำนวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี ที่ก็แค่แก้ไขตัวเลขใน 8 จังหวัดข้างต้นเท่านั้น

เพียงแต่ ทำให้กระบวนการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. 400 เขต ก็จะสะดุดเล็กน้อย เพราะใน 8 จังหวัดดังกล่าว ก็ต้องให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ไปจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ แล้วนำไปรับฟังความคิดเห็นประชาชน-พรรคการเมืองในจังหวัดใหม่ ที่ใช้เวลาประมาณสิบวัน แต่ก็มีข้อเสนอว่า สามารถออกประกาศลดจำนวนวันลงได้ เพื่อจะได้ทำให้การรับฟังความคิดเห็นสั้นลง เพื่อที่จะได้ให้ “กกต.กลาง” เคาะออกมาโดยเร็ว

สรุปได้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว กกต.มีการแก้ไขสถานการณ์หน้างานแบบรวดเร็ว เพราะมีการเตรียมการไว้รองรับแล้ว จึงทำให้มีการออกประกาศฉบับใหม่ ในวันเดียวกับที่ศาลวินิจฉัยออกมา เพียงแต่จะมีผลทำให้ ารแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตทั่วประเทศ สะดุดลงเล็กน้อย ทำให้จากเดิมที่คาดกันว่า กกต.จะประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตในวันศุกร์ที่ 3 มี.ค. ก็ต้องขยับออกไป โดยกกต.มีทางเลือกสองทางคือ

หนึ่ง ประกาศแบ่งเขต 69 จังหวัดที่ไม่มีปัญหาก่อน ไม่ต้องรอ 8 จังหวัดที่ต้องไปรับฟังความเห็นประชาชน เพื่อให้ พรรคการเมือง ไปจัดทำไพรมารีโหวตให้เรียบร้อยโดยเร็ว 

สอง กกต.กลาง รอประกาศพร้อมกันทีเดียวทั้ง 77 จังหวัด 400 เขตเลือกตั้ง ที่ดูจากช่วงเวลาต่างๆ แล้วก็ยังทันกับเส้นตาย ก่อนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยุบสภาไม่เกิน 23 มี.ค.นี้

นี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ส่วนเรื่องที่สอง กรณีศาลรธน.มีมติเอกฉันท์รับคำร้อง 54 ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่ยื่นให้ศาลวินิจฉัยกรณีว่า “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม อาจครอบครองหรือมีหุ้นอยู่ใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ที่เป็นเรื่องต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ โดยข้อมูลของฝ่ายค้านพบว่า หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นดังกล่าว ได้งานจากกระทรวงคมนาคมที่จัดงบไปลงที่จ.บุรีรัมย์หลายงาน ทำให้ฝ่ายค้านชี้ว่า หากสุดท้ายพิสูจน์ได้ว่า “ศักดิ์สยาม” ยังมีหุ้นหรือเป็นเจ้าของก็เป็นการขัดกันของผลประโยชน์

และที่สำคัญ นอกจากรับคำร้องไว้วินิจฉัยแล้ว ศาลยังได้สั่งให้ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” หยุดปฏิบัติหน้าที่ “รมว.คมนาคม” ทันทีเมื่อศุกร์ที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

ผลทำให้ “ศักดิ์สยาม” ขาลอยทางการเมือง เป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ “ภูมิใจไทย” อย่างเดียวในตอนนี้ แต่ตำแหน่งรมว.คมนาคม ที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกรดเอ ยังมีชื่อเป็นอยู่ แต่ไม่สามารถทำนิติกรรมอะไรได้ แม้แต่กระทั่งจะเข้าไปนั่งกินกาแฟในห้องทำงานรมว.คมนาคม หรือใช้รถหลวงของกระทรวงคมนาคม ก็ไม่ได้แล้ว จนกว่าศาลจะวินิจฉัยคำร้องเสร็จสิ้น

โดยคาดว่า กว่าศาลจะวินิจฉัยเสร็จ ก็ใช้เวลาไม่ต่่ำกว่า 2 เดือน ถึงจะรู้ผล

นั่นหมายถึงว่า “ศักดิ์สยาม” จะไม่สามารถเป็นรมว.คมนาคมในช่วงรัฐบาลรักษาการ หลังพล.อ.ประยุทธ์ยุบสภาฯ และมีแนวโน้มที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็คงไม่ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ปรับครม. แม้ตอนนี้เท่ากับโควต้ารัฐมนตรีของภูมิใจไทย หายไป 2 เก้าอี้ในรัฐบาล หลังก่อนหน้านี้ “กนกวรรณ วิลาวัลย์” ก็หลุดจาก “รมช.ศึกษาธิการ” จากคำตัดสินของศาลฎีกาในคดีฝ่าฝืนจริยธรรมกรณีโดนข้อกล่าวหารุกป่าเขาใหญ่ และมาล่าสุด กับกรณีของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ทำให้โควต้ารัฐมนตรีของภูมิใจไทย สูญเปล่าในครม.ไปทันที 2 ตำแหน่ง

แม้มองในแง่ดี การที่ “ศักดิ์สยาม” ไม่มีตำแหน่งรมว.คมนาคมในเวลานี้ จะทำให้ “ศักดิ์สยาม” มีเวลาว่างมากขึ้นในการไปช่วยพรรคภูมิใจไทยหาเสียงทั่วประเทศ ในฐานะ “เลขาธิการพรรค” เพราะไม่ต้องกังวลจะโดนร้องเรียน ว่าเอาเวลาราชการไปหาเสียงเลือกตั้ง แต่ “คนภูมิใจไทย” ก็ต้องคิดว่าการมีตำแหน่งรัฐมนตรีย่อมดีกว่าการไม่ได้เป็นแน่นอน

อนุทิน ชาญวีรกูล-เนวิน ชิดชอบ

ทำให้หลังจากนี้ “อนุทิน-ศักดิ์สยาม” และที่สำคัญ “เนวิน ชิดชอบ” 3 แกนนำพรรคภูมิใจไทย ต้องมานั่งคิดกันแล้วว่า จะแก้ไขสถานการณ์เรื่องนี้อย่างไร ทั้งเรื่องการเตรียมสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้ “ศักดิ์สยาม” กลายเป็นผู้ชนะคดี เพราะหากศาลชี้ว่า “ศักดิ์สยาม” ยังถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว นอกจากต้องหลุดจากรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้ว ที่ลุ้นหนักกว่าคือ อาจจะถูกตัดสิทธิการเมืองตามคำร้องฝ่ายค้านด้วย

ส่วนเรื่อง “ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม” ที่ล่าสุด เมื่อ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้ยกฟ้องคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

หลายฝ่ายประเมินว่า ถึงต่อให้ “ศักดิ์สยาม” ไม่โดนสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่กระทรวงคมนาคมก็คงไม่กล้าผลักดันโครงการเต็มสูบ โดยเฉพาะการนำเข้าที่ประชุมครม. เพราะคดีที่บีทีเอส ฟ้องเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังมีอีกหลายคดีที่อยู่ในชั้นศาลปกครอง และยิ่งตอนนี้ “ศักดิ์สยาม” ขาลอย หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ดูแล้วโอกาสยากที่ฝ่ายการเมือง จะผลักดันโครงการดังกล่าวต่อไปในช่วงที่ไม่มี “ศักดิ์สยาม” เป็นรมว.คมนาคมและยังเป็นรัฐบาลรักษาการอีก

ตอนนี้ เอาแค่เฉพาะหน้า ตระกูล “ชิดชอบ” ทั้ง “เนวิน-ศักดิ์สยาม” ต้องช่วยกันลุ้นสู้คดีให้ชนะที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ได้ก่อน ลำดับแรก

……………………………………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img