วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSตั้งรัฐบาลหลัง14พ.ค. ยืดเยื้อ-ต่อรองสูง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ตั้งรัฐบาลหลัง14พ.ค. ยืดเยื้อ-ต่อรองสูง

คาดว่าผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค.ของหลายจังหวัด น่าจะรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการช่วงสักไม่เกิน 22.00 น.ของคืนวันดังกล่าว

โดยถึงตอนนั้น หลายจังหวัดก็น่าจะนับคะแนนไปได้เกิน 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว และยิ่งผลคะแนนระหว่างคนที่มาอันดับ 1 กับอันดับ 2 แตกต่างกันหลายพันคะแนน เช่นห่างกันเกิน 5 พันคะแนน แบบนี้ก็น่าจะพอรู้แล้วว่า เขตดังกล่าวใครคือผู้ชนะ และมาจากพรรคไหน

จนทำให้พอจะเห็นตัวเลขได้ว่า แต่ละพรรคการเมือง จะได้ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์กันกี่คน ยิ่งพอไปถึงหลังเที่ยงคืนวันที่ 14 พ.ค. ก็น่าจะยิ่งชัดมากขึ้น จนมารู้ผลอย่างเป็นทางการสักประมาณช่วงเย็นวันที่ 15 พ.ค. ที่ทุกอย่างจะนิ่งแล้ว

ถึงตอนนั้นก็รู้แล้วว่า “ขั้วการเมืองไหน” ระหว่าง “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” กับ “ขั้วอดีตฝ่ายค้านเดิม” ใครจะรวมเสียงกันได้เกิน 250 เสียง

ซึ่งแม้ตามกฎหมาย จำนวนส.ส.ดังกล่าว ยังต้องรอให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการตรวจสอบและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็วแต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ก็คาดว่า ถึงต่อให้ กกต.มีการแจกใบเหลือง-ใบแดง แต่ก็คงไม่มากถึงกับทำให้จำนวนส.ส.ของแต่ละขั้วเปลี่ยนแปลงกันมาก จนมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล

เข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง

เว้นแต่ว่า ทั้งสองขั้วเสียงส.ส.ในฝั่งตัวเอง…ห่างกันไม่มาก แบบนี้ หากพรรคการเมืองของปีกหนึ่ง กกต.ไม่ประกาศรับรองการเลือกตั้ง แล้วโดนใบเหลือง-ใบแดงเข้าไปสัก 10-15 คน แบบนี้ก็อาจมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลได้

อย่างไรก็ตาม หาก กกต.จะแจกใบเหลือง-ใบแดงเฉพาะฝั่งหนึ่ง เช่น ให้เฉพาะกลุ่มพรรคการเมืองจากฝ่ายค้านเดิมนับสิบ โดยฝั่งรัฐบาลปัจจุบันไม่มีใครโดนเลย แบบนี้ กกต.ก็ย่อมถูกมองว่า “ไม่เป็นกลาง” หวังผลทางการเมืองเพื่อช่วยพรรคการเมืองปีกรัฐบาล ที่ก็อาจทำให้ กกต.เจอสังคมกดดันวิจารณ์อย่างหนักได้เช่นกัน กกต.ก็คงไม่อยากเสี่ยง 

แต่หากฝั่งใดฝั่งหนึ่ง รวมเสียงกันได้เกินระดับ 280 เสียงขึ้นไป ถึงต่อให้มีด่านของ กกต.ในการรับรองผลการเลือกตั้ง แต่ก็น่าจะการันตีการจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อน ส่วนว่าจะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหรือไม่ ก็ต้องดูอีกว่า ฝ่ายสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 เสียงจะหนุนหลังให้หรือไม่ ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องได้เสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภาคือ 376 เสียงขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณท่าทีของ สว.ที่ออกมาตอนนี้แล้ว ที่พบว่า สว.หลายคน ยืนกรานว่า คงไม่เอาด้วยกับ “รัฐบาลเสียงข้างน้อย”

เช่นหากพรรคขั้วรัฐบาลปัจจุบัน รวมเสียงกันแล้วได้ประมาณ 220 เสียง ส่วนฝั่งเพื่อไทย-ก้าวไกลได้ 280 เสียง แล้วฝั่งขั้วรัฐบาลจะเสนอชื่อใครคนใดคนหนึ่ง มาชิงแคนดิเดตนายกฯ โดยให้สว.มาร่วมโหวตให้ก่อน เพื่อตั้งนายกฯให้ได้ก่อน จากนั้นค่อยไปรอตั้งรัฐบาลอีกที โดยหวังเงื่อนไขต่างๆ เช่น “งูเห่า” จากอีกขั้วหนึ่ง ที่อาจจะมาร่วมกับรัฐบาลเสียงข้างน้อยในภายหลัง เพราะถึงต่อให้โหวตสวนมติพรรคต้นสังกัด พรรคทำได้อย่างมากก็แค่ “ลงมติขับออกจากพรรค” บรรดางูเห่า ก็ย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ในปีกรัฐบาลได้ จนฝั่งรัฐบาลได้เสียงมาเกิน 250 เสียง

ถามว่า กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งแม้การเมืองไทย อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่การจัดตั้งรัฐบาลลักษณะดังกล่าว จะต้องทำหลายชั้น และที่สำคัญจะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองสูง จนกลายเป็นรัฐบาลที่มีปัญหาเรื่องศรัทธาประชาชนได้ในระยะยาว

ไล่ตั้งแต่ สว. ที่จะต้องมาร่วมโหวตให้ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปก่อน ซึ่งหากสว.หลายคนทำแบบนั้น ก็จะถูกสังคมตั้งคำถามถึง “ความชอบธรรม” ทางการเมืองว่า ทำไมพรรคการเมืองอีกขั้วที่มีเสียงส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมากกว่า ทำไม สว.ถึงไม่โหวตให้ฝั่งนี้ สว.ก็จะกลายเป็นจำเลยทางการเมืองว่า รับใบสั่ง-ฝืนมติประชาชน

ซึ่งต้องไม่ลืมว่า สว.ชุดนี้ เหลือเวลาการเป็น สว. อีกแค่หนึ่งปีเท่านั้น สว.ส่วนใหญ่เริ่ม “หมดลูกเกรงใจ” บรรดาอดีตบิ๊กคสช.ที่ช่วยผลักดันให้เป็น สว.กันแล้ว ยังไง ก็ต้องเอาชื่อเสียงของตัวเองไว้ก่อน คงไม่ยอมถูกด่ากับการลงมติโหวตเลือกนายกฯที่ฝืนกระแสประชาชน ยกเว้นเสียแต่ว่า รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่อีกฝั่งเสนอมา

เช่น หากเพื่อไทย เสนอ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนายกฯ แบบนี้ สว.จำนวนมากอาจยอมรับไม่ได้ ที่จะให้คนไม่มีประสบการณ์อะไรเลยมาบริหารประเทศ แต่อีกฝั่งเสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หรือ “อนุทิน ชาญวีรกูล” มาประกบ ถ้าแบบนี้ สว.อาจอ้างเหตุในการไม่ร่วมโหวตสนับสนุนให้ “อุ๊งอิ๊ง” เป็นนายกฯได้

ยิ่งถ้าหากเป็น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จากก้าวไกล แบบนี้ ยิ่งเข้าทางเลย สว.ก็จะอ้างว่า ไม่สามารถโหวตให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่มีนโยบายแก้มาตรา 112 เป็นนายกฯได้

ผลคือทำให้ สว.อาจมีข้ออ้างได้ แต่เพื่อไม่ให้มีปัญหา กระสุนตก-ทัวร์ลง  ก็อาจเลือกใช้วิธี “งดออกเสียง” แทน คือไม่โหวตให้ทั้งฝั่งเพื่อไทย-ก้าวไกลและฝั่งพรรคขั้วรัฐบาลปัจจุบัน ในการประชุมนัดแรก จนเสียงสนับสนุนไม่ถึง 376 เสียง ซึ่งจะทำให้ ทั้งสองขั้วกลับไปตั้งหลักกันใหม่ เพื่อมาประชุมโหวตนายกฯนัดที่สองต่อไป ที่อาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาล กลายเป็นพรรคขั้วรัฐบาลปัจจุบัน อาจพลิกสถานการณ์กลับมาได้

ขณะเดียวกัน การจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยด้วยการโหวตให้มีนายกฯก่อน แล้วค่อยไปตั้งรัฐบาลทีหลัง ก็ยังติดขัดปัจจัยเรื่อง หากคิดหวังจะพึ่ง “งูเห่า” ให้มาช่วยสนับสนุนพรรคขั้วรัฐบาล กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ เสียงของสองฝั่งต้องไม่ห่างกันมาก ซึ่งหากเกินระดับสิบเสียงขึ้นไป การจะไปหวังพึ่ง “งูเห่า” น่าจะยากแล้ว และยิ่งหากดูจากพรรคอดีตฝ่ายค้านเดิม ถ้าคิดจะหวั่งพึ่งงูเห่าสีส้มจากก้าวไกล รอบนี้น่าจะยากเพราะผู้สมัครส.ส.เขต ก้าวไกลชุดนี้ ส่วนใหญ่ถูกคัดมาอย่างดี แตกต่างจากยุคอนาคตใหม่ ที่มีเวลาน้อยทำให้ไม่ได้ศึกษาข้อมูลของแต่ละคนดีพอ จนเกิดปัญหางูเห่าขึ้นหลายคน

ผนวกกับ ส.ส.ก้าวไกลชุดนี้เอง ที่จะได้รับเลือกเข้าไป ต่างก็รู้ดีว่า ตัวเองได้เป็นส.ส.เพราะกระแสก้าวไกลล้วนๆ หากตัวเองแปรสภาพเป็นงูเห่า ก็อาจจบฉากชีวิตการเมืองแค่การเป็นส.ส.สมัยเดียวก็ได้ 

ทำให้โอกาสที่จะเกิดงูเห่าสีส้มจากก้าวไกลในรอบนี้ น่าจะยากแล้ว ส่วนจะเกิดงูเห่าพรรคเพื่อไทยหรือไม่ อันนี้ก็น่าคิด แต่ก็เชื่อว่า ส.ส.เพื่อไทยส่วนใหญ่ที่จะเข้าไปหลังเลือกตั้ง คงมั่นใจว่า ยังไงขั้วเพื่อไทย จะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาการเจรจาต่อรองเยอะ ดังนั้น ส.ส.เพื่อไทยก็คงไม่คิดจะเป็นงูเห่าง่ายๆ

จากรูปการทางการเมืองทั้งหมด ทำให้พอเห็นได้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลหลัง 14 พ.ค.หากเกิดกรณีว่า พรรคขั้วรัฐบาลปัจจุบัน ทั้ง พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา ถ้ารวมเสียงกันแล้วเกิน 250 เสียง แบบนี้การจัดตั้งรัฐบาลก็จบเร็วเลย เพราะสว.ส่วนใหญ่ ก็สนับสนุนขั้วรัฐบาลอยู่แล้ว

เพียงแต่ใครจะเป็นนายกฯ ก็ต้องมาดูอีกที ว่าจะเป็น “พล.อ.ประยุทธ์” จากรวมไทยสร้างชาติ-“อนุทิน” จากภูมิใจไทยหรือ “พล.อ.ประวิตร” จากพลังประชารัฐ ภายใต้เงื่อนไขคือ 3 พรรคนี้ พรรคไหนได้ส.ส.มากที่สุด ก็จะทำให้มีความชอบธรรมในการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งถึงตอนนี้ ดูแล้ว “ภูมิใจไทย” ก็น่าจะได้ส.ส.เยอะสุดในบรรดา 3 พรรค

อนุทิน ชาญวีระกูล

แต่แวดวงการเมือง ก็ยังมองว่า ก็ไม่แน่ “อนุทิน” อาจไม่ได้เป็นนายกฯก็ได้ ภายใต้สูตรคือ “อนุทิน” หลีกทางให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ถ้ามี สัญญาณพิเศษ” ส่งมา เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ 2 ปีตามโควต้าที่เหลืออยู่ จากนั้น “อนุทิน” ค่อยมาเป็น 2 ปีหลัง ซึ่งก็ไม่มีใครคาดการได้ว่า “อนุทิน-ภูมิใจไทย” จะยอมหรือ ในเมื่อตัวเองมีโอกาสมากที่สุดแล้ว แม้ต่อให้ มีการให้กระทรวงสำคัญๆ ให้ภูมิใจไทยรับผิดชอบแลกกับเก้าอี้นายกฯ

แต่หากผลเลือกตั้งออกมา ขั้วเพื่อไทย-ก้าวไกล และแนวร่วมเช่น “ประชาชาติ-ไทยสร้างไทย” รวมเสียงกันแล้ว เกิน 250 เสียงและเกินไปถึงระดับเกิน 300 เสียง คราวนี้ก็อยู่ที่ “ทักษิณ ชินวัตร” แล้วว่าจะตั้งรัฐบาลสูตรไหน จะเอาก้าวไกลมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ หรือจะดึงภูมิใจไทยมาแทน เพราะดีกว่าที่จะตั้งรัฐบาลกับ “พรรค 2 ลุง” ที่อาจทำให้เสียมวลชนของตัวเองได้

หรือจะตั้งรัฐบาล “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ” ไปเลย โดยมีเงื่อนไข ขอให้ “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร” ไม่เป็นรัฐมนตรี เพื่อลดแรงต้านก่อนในช่วงแรก แล้วพอมีการปรับครม.ภายหลัง พล.อ.ประวิตรค่อยมาเป็นรองนายกฯ โดยสูตรนี้ 3 พรรครวมกัน บวกกับสว.ที่บิ๊กป้อมต่อสายได้ อีกหลายสิบคน ก็ทำให้ยังไง เสียงโหวตเลือกนายกฯ ก็เกิน 376 เสียงได้อยู่แล้ว

สรุปแล้ว การตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง รอบนี้น่าจะยืดเยื้อ ใช้เวลาต่อรองกันนานพอสมควร และอาจเกิดรัฐบาลผสม ภายใต้สูตรที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงก็ได้ โดยมีตัวแปรสำคัญก็คือ “สมาชิกวุฒิสภา” 250 เสียง ที่จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่ง่าย เลยสำหรับฝั่ง “ทักษิณ-เพื่อไทย”

……………………………………..

คอลัมน์ : ส่องป้อยค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img