วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSลดโทษ“นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร” กลับความหวัง“นิรโทษ-สลายสีเสื้อ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ลดโทษ“นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร” กลับความหวัง“นิรโทษ-สลายสีเสื้อ”

การที่ “นักโทษชาย ทักษิณ ชินวัตร” ได้รับ “พระราชทานอภัยโทษ” ด้วยการ “ลดโทษ” ให้เหลือโทษจำคุกหนึ่งปี ตามที่ได้มีการพระราชทานอภัยโทษลงมาเมื่อ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา

ทำให้จากเดิมที่หลายคนเคยคิดว่า เรื่อง “นช.ทักษิณ ชินวัตร” ที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า “ได้รับอภิสิทธิ์ชน” ในการไปนอนที่โรงพยาบาลตำรวจ จะเป็นเผือกร้อนที่สร้างความลำบากใจให้กับคนในรัฐบาลอย่างน้อยก็สองคน คือ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ที่กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ ที่อาจถึงขั้นโดนเอาผิด ถูกยื่นถอดถอน หรือถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอะไรได้ หากหลังรัฐบาลเศรษฐา เข้าบริหารประเทศแล้ว เกิดรัฐบาลเศรษฐามีการส่งเรื่องของพระราชทานอภัยโทษไปให้สำนักราชเลขาธิการ

ทว่า เมื่อปรากฏมีกระบวนการในการส่งเรื่องไปยังสำนักราชเลขาธิการและสุดท้าย “นช.ทักษิณ” ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เกิดขึ้นในช่วงก่อน “รัฐบาลเศรษฐา” เข้าบริหารประเทศ มันก็ทำให้ ทั้ง “เศรษฐา-พ.ต.อ.ทวี” ถอนหายใจโล่งเลยทีเดียว

แม้ดูแล้ว ตัว “เศรษฐา” และ “พ.ต.อ.ทวี” คงรู้ข่าวลับ-ข่าววงในเรื่องนี้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า จะมีการดำเนินการส่งเรื่องไปก่อนที่รัฐบาลเศรษฐา จะเข้าบริหารประเทศ แต่ทั้งสองคน ก็อาจไม่มั่นใจมากนักว่า เรื่องจะจบก่อน รัฐบาลจะเข้าไปทำงาน

ดังนั้น เรื่อง “นช.ทักษิณ” ที่คนเคยมองว่าจะเป็น ระเบิดเวลา-เผือกร้อน ของ “เศรษฐา-พ.ต.อ.ทวี” เลยไม่ใช่เสียแล้ว แต่ก็ต้องดูอีกว่า หลังจากนี้ “นช.ทักษิณ” จะออกจากโรงพยาบาลตำรวจ กลับเข้าสู่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร เมื่อใด และจะได้รับการดูแลอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ?

ทักษิณ ชินวัตร

ซึ่งหาก “นช.ทักษิณ” ยังไม่ออกจากรพ.ตำรวจเสียที และยังปรากฏต่อมาในอนาคตว่า กรมราชทัณฑ์-กระทรวงยุติธรรม-รัฐบาล ดำเนินการช่วยเหลือ “นช.ทักษิณ” แบบ “นักโทษซุปเปอร์วีไอพี” มันก็ไม่แน่ “เศรษฐา-พ.ต.อ.ทวี” ก็อาจเจอ ทัวร์ลง-งานเข้า ก็ได้

เรื่อง “นช.ทักษิณ” จึงยังเป็นปมร้อนการเมืองที่ต้องติดตามกันต่อไป โดยเฉพาะหากเกิดอะไรที่ขัดกับความรู้สึกของสังคม-ประชาชน มันก็อาจมีผลต่อรัฐบาลได้แน่นอน โดยเฉพาะกับพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตร

สิ่งที่น่าติดตามต่อจากนี้ ก็คือหลัง พรรคเพื่อไทย ตั้งรัฐบาลปรองดองสมานฉันท์โดยยอมโดนด่าว่า “ตระบัดสัตย์-โกหกประชาชน” ด้วยการจับมือตั้งรัฐบาลกับ พรรคพลังประชารัฐ และ พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยให้คำนิยามว่าเป็น “รัฐบาลพิเศษ-ปรองดองสมานฉันท์”

ที่ปรากฏว่า ก็มีกระแสตอบรับในระดับหนึ่ง เพราะหลายคนเบื่อความขัดแย้งทางการเมือง-การแบ่งสีเสื้อทางการเมือง

ที่สำคัญ บริบทการเมืองเวลานี้ หลายคนเห็นชัดว่า มันเปลี่ยนไปแล้ว “สีเสื้อการเมือง” ที่แรงที่สุดตอนนี้คือ สีส้ม-ก้าวไกล” ซึ่งเป็นกลุ่มการเมือง-พรรคการเมือง ที่เป็นฝ่ายตรงข้าม-คู่แข่งขันทางการเมือง ทั้งของเพื่อไทย และพรรคการเมืองปีกอนุรักษ์นิยม

ทำให้หลายคนเห็น เสื้อเหลือง-เสื้อแดง บางบริบท ก็สอดประสานเสียงสู้กับ ด้อมส้ม-ก้าวไกล หลังการเมืองเริ่มเห็นแล้วว่า ต่อจากนี้จะเป็นการเมืองแบบสองขั้วคือขั้วเพื่อไทยและพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลปัจจุบันกับพรรคก้าวไกล

พอ “นช.ทักษิณ” ได้รับพระราชทานอภัยโทษ จากร่วมแปดปี เหลือหนึ่งปี มันก็ทำให้เริ่มมีกระแสการพูดถึงเรื่อง ความเป็นไปได้ ที่หลังจากนี้จะเริ่มมีการออกมาพูดถึงเรื่องการผลักดันให้มีการ “ปรองดองสมานฉันท์” ให้ขยายออกไปมากขึ้นมากกว่าการตั้งรัฐบาล

บนเป้าหมายคือ “เพื่อสลายสีเสื้อการเมือง” โดยมีกลไกเครื่องมือบางอย่างมารองรับเช่น การตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ โดยเป็นคนกลางที่หลายฝ่ายยอมรับและมีตัวแทนจากคนทุกกลุ่มเข้าไปร่วม ไปจนถึงเรื่องการกลับมาคุยกันอีกครั้ง เรื่องแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง ทั้งในคดีที่ยังไม่จบ-คดียังไม่สิ้นสุดและคดีที่จบไปแล้ว แต่นิรโทษให้เพื่อไม่ให้ต้องมีประวัติติดตัว บนหลักการคือ ไม่นิรโทษกรรมให้กับ “ผู้ต้องหาคดีทำผิดมาตรา 112-คดีทุจริตคอรัปชั่นและคดีอาญาร้ายแรง เช่นเผาศาลากลางฯ-ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐจนบาดเจ็บเสียชีวิตฯ”

ซึ่งสภาฯสมัยที่แล้ว ตอนปลายๆ ก็มีความพยายามจากบางพรรคเช่น “พลังธรรมใหม่” ของนพ.ระวี มาศฉมาดล ที่ยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาและมีการล่าชื่อส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อเสนอร่างฯเข้าสภาฯ แต่พิจารณาไม่ทัน เพราะยุบสภาฯเสียก่อน อีกทั้ง นพ.ระวีก็มาจากพรรคเล็ก จึงไม่สามารถขับเคลื่อนได้เต็มสูบ

ซึ่งถึงขณะนี้ ก็ยังมีบางคดีที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม-เคลื่อนไหวทางการเมือง ที่คดียังไม่จบ เช่น “คดีกปปส.” ที่มีศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกแกนนำ-แนวร่วมกปปส.จำนวนมากเช่น สุเทพ เทือกสุบรรณ-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรมว.ดิจิทัลฯ-ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรมว.ศึกษาธิการ-ถาวร เสนเนียม อดีตรมช.คมนาคม และจำเลยบางคนแม้ศาลจะตัดสินว่าไม่มีความผิด และตอนนี้ก็เป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ เช่น เอกนัฎ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติฯ ซึ่งคดีดังกล่าวทำให้ “เอกนัฎ” มีชนักติดหลัง จนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ โดยคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการอ่านคำตัดสินจากศาลอุทธรณ์ เป็นต้น

พอเป็นแบบนี้ เลยทำให้ แวดวงการเมืองเริ่มมีการกลับมาพูดกันถึงเรื่อง การนิรโทษกรรมคดีการเมือง เพื่อ “สร้างความปรองดอง-สมานฉันฑ์” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ?

โดยรูปแบบวิธีการ อาจต้องเริ่มทีละขั้นตอน เช่น การตั้งคณะกรรมการปรองดองฯขึ้นมาสักหนึ่งคณะฯ เพื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เสียก่อน

สมชาย แสวงการ

อย่างเช่น “สมชาย แสวงการ” สมาชิกวุฒิสภา ก็ออกมาระบุว่า หากรัฐบาลจะสร้างความปรองดองสมานฉันจริงๆ ควรตั้งคณะกรรมการปรองดอง เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวทั้งระบบ และควรนิรโทษกรรม​ให้กับทุกสีเสื้อที่ต้องโทษคดีทางการเมือง มากกว่าการพิจารณาคดีของนายทักษิณ เพียงบุคคลเดียว

“เป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่จะร่วมกันทำให้ประเทศนำไปสู่ความสงบสันติสุขในระยะยาว เพราะหากเร่งทำเฉพาะคดีนายทักษิณเพียงคดีเดียว ก็คาดเดาได้ยากว่าอาจจะเกิดความขัดแย้ง หรือความสงสัยคลางแคลงในสังคม อาจจะนำไปสู่วิกฤตการเมืองได้ และอาจจะทำให้การเดินหน้ารัฐบาลปรองดองภายใต้การนำของนายเศรษฐาสะดุด สว.สมชาย ระบุ

ซึ่งแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฯ จะพบว่า พรรคฝ่ายค้านเวลานี้อย่าง “ก้าวไกล” ก็ได้เขียนไว้ในนโยบายพรรคก้าวไกลตอนหาเสียง แต่ของก้าวไกล เน้นว่าให้…

นิรโทษกรรมคดีการเมืองให้แก่ประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตั้งแต่ 20 พ.ค. 2557 โดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

ซึ่งก่อนหน้านี้ ตอนจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค 312 เสียง ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-แกนนำพรรคก้าวไกล” ก็พยายามผลักดันให้มีการเขียนเรื่องนี้ไว้ในเอ็มโอยูของการจัดตั้งรัฐบาล แต่ปรากฏว่า แกนนำเพื่อไทยไม่เอาด้วย เพราะมองว่าหากก้าวไกลจะทำ ก็ให้ไปเคลื่อนไหวในนามพรรคก้าวไกลเอง เพราะเพื่อไทยยังผวากับเรื่องนิรโทษกรรมไม่หาย หลังเคยมีบทเรียนมาแล้วกับกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยที่ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พังไม่เป็นท่า และยิ่งหากดูจากขอบเขตกรอบเวลาที่ก้าวไกลเสนอ คือให้นิรโทษตั้งแต่ 20 พ.ค.2557 ที่ก็คือหลัง คสช.ทำรัฐประหาร 1 วัน ซึ่งก็คือ ก้าวไกลต้องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับ กลุ่มม็อบสามนิ้ว-ม็อบต้านคสช. ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักพรรคก้าวไกล โดยไม่ได้สนใจเสื้อเหลือง-เสื้อแดง-กปปส.แต่อย่างใด เพราะกลุ่มดังกล่าวไม่ใช่กลุ่มฐานเสียงหลักของก้าวไกล

ม็อบราชประสงค์ 12ธ.ค.64 @iLawClub

ทั้งหมด ทำให้อาจเป็นไปได้ที่หลังจากนี้ เมื่อการเมืองเริ่มนิ่ง การกลับมาจุดพลุ เพื่อผลักดันให้มีการตั้งคณะกรรมการปรองดองฯ ไปจนถึงการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง อาจจะเกิดขึ้นได้อีกครั้ง หลังเกิดเคส “นช.ทักษิณ” ได้รับการลดโทษให้เหลือจำคุกหนึ่งปี

ที่ทำให้บางคนเริ่มมองว่า สัญญาณการสลายสีเสื้อ-ปรองดอง ด้วยการเซ็ตซีโร่คดีความทั้งหมด ให้ทุกกลุ่ม-ทุกสี อาจเกิดขึ้นได้จริงเสียที

…………………………………..

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img