วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSพักยก!ศึกงบฯ 67 กับ 2 เรื่องใหญ่ที่ยัง“จบไม่ลง”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

พักยก!ศึกงบฯ 67 กับ 2 เรื่องใหญ่ที่ยัง“จบไม่ลง”

ผ่านไปแล้วเมื่อช่วงหัวค่ำสุดสัปดาห์ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา กับการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณา “ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567” ที่ไม่ถึงกับร้องซี้ด แต่ก็ไม่ถึงกับจืดชืดเสียทีเดียว

กระบวนการต่อจากนี้ หลังที่ประชุมโหวตรับหลักการร่างพ.ร.บ.งบฯดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 311-ไม่เห็นชอบ 177 และมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ 72 คน โดยวางตัว “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานกมธ.ฯ จากปกติที่จะให้ รมว.คลัง เป็นประธาน แต่เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯควบรมว.คลัง ภารกิจรัดตัว ผนวกกับจะให้ “รมช.คลัง” มาเป็นประธานกมธ.ฯ ก็ไม่สมศักดิ์ศรีร่างกฎหมายสำคัญสุดของรัฐบาล ต้องเอาระดับ “ว่าการฯ” เท่านั้นมาใส่ชื่อไว้ แต่ถึงเวลาจริงๆ ประชุมแต่ละสัปดาห์ ก็จะมีรองประธานกมธ.ฯ สลับเวรกันเข้าอยู่แล้ว “ภูมิธรรม” มาแค่นัดสำคัญๆ ก็พอ ซึ่งปกติตอนประธานกมธ.ฯ เป็นรมว.คลังฯ ก็จะเป็นแบบนี้ทุกปี

ที่หากดูจากรายชื่อกรรมาธิการฯ ที่มาจากโควตารัฐบาล ก็จะเห็นชัดว่า ตัวหลักในการคุมร่างพ.ร.บ.งบฯ รอบนี้ที่ “เพื่อไทย” วางตัวไว้ ก็คือ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี-อดีตรมว.คลัง กับ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลังจากเพื่อไทย นั่นเอง ที่คาดว่าทั้งสองคน จะเข้าไปเป็นรองประธานกมธ.ฯ

ขณะที่รายชื่อ กรรมาธิการฯ 72 คน จะพบว่า บางรายชื่อก็น่าสนใจไม่น้อยเช่น การที่มีชื่อของ “น.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ” อดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่โดนตัดสิทธิ์การเมืองสิบปี ในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ที่เข้ามาเป็นกรรมาธิการงบฯ แทนบิดา “ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ” อดีตสส.อุตรดิตถ์ ที่สอบตกในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทั้งที่ พรรคแถลงไปก่อนหน้านี้ว่า ส่งชื่อ “ศรัณย์วุฒิ” เป็นกรรมาธิการงบฯ ก็ไม่รู้ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น ชื่อถึงเปลี่ยน?

จะเปลี่ยนเพราะ “ศรัณย์วุฒิ” ผลักดันให้ลูกสาวได้เข้าไปมีบทบาทในสภาฯแทน หรือเปลี่ยนเพราะเหตุผลโดนสกัด จาก “เพื่อไทย” หรือไม่ ที่ขอให้ “รวมไทยสร้างชาติ” เปลี่ยนเป็นคนอื่น เพราะ “เพื่อไทย” กับ “ทักษิณ ชินวัตร” มีหนี้บัญชีแค้นการเมืองกับ “ศรัณย์วุฒิ” กันแบบผีไม่เผา-เงาไม่เหยียบ ตอนช่วงเลือกตั้ง เลยไม่ให้เข้ามามีตำแหน่งในกรรมาธิการฯ ใช่หรือไม่  ก็ยังเป็นปริศนาการเมืองกันอยู่

ส่วนชื่ออื่นๆ พวกที่ไม่ได้เป็นสส.แต่เข้าไปเป็นกรรมาธิการงบฯ ที่มักเป็นพวก “ขาประจำ” พบว่ายังมาครบ ไม่ว่าจะเป็น “วราเทพ รัตนากร” อดีตรมช.คลัง ในโควต้ารัฐบาล แต่มาจากโควตาของ “พลังประชารัฐ” ที่เข้ามาเป็นกรรมาธิการงบฯทุกปีในช่วงหลัง-“นันทนา สงฆ์ประชา” อดีตผู้สมัครสส.บัญชีรายชื่อ ภูมิใจไทย แต่ลำดับไม่ถึง ก็เข้ามาเป็นกรรมาธิการงบอีกปีในโควต้าครม. ตามคาด รวมถึง “ขาประจำ” อย่าง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ที่เข้ามาในโควตา “ป่ารอยต่อ-พลังป้อม” จากพรรคพลังประชารัฐ เพราะ “เรืองไกร” บอกตลอดว่า งานในสภาฯที่เขาชอบมากที่สุดก็คือ เป็นกรรมาธิการงบฯ และไม่แน่ “เรืองไกร” อาจเป็นกรรมาธิการงบฯ  ที่อาจสร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับฝ่ายเพื่อไทยก็ได้ ถ้าเข้าไปขวางหรือไปรื้อ งบประมาณบางหน่วยงาน ที่ดูแลโดยเพื่อไทยก็ได้ เพราะ “เรืองไกร” กับ “เพื่อไทย” ก็มีหนี้แค้นทางการเมืองกันอยู่ จน “เรืองไกร” ต้องออกมาจากเพื่อไทย

สำหรับการทำงานของกรรมาธิการงบฯรอบนี้ ถือว่าหนักพอสมควร เพราะจากผลการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯที่ล่าช้า ทั้งที่งบฯ 67 ต้องใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค.66 แล้ว แต่ตอนนี้ สภาฯเพิ่งจะมาพิจารณาวาระแรกเท่านั้น ดังนั้นการทำงานของกรรมาธิการฯจึงค่อนข้างเร่งรีบ-เร่งรัดมาก โดยจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ แล้วเสนอกลับมาสภาฯเพื่อพิจารณาวาระสองและวาระสามวันที่ 4 เม.ย.67 จากนั้น ก็จะส่งวุฒิสภาให้พิจารณาต่อไปฯ ภายในไม่เกิน 9 เม.ย.67 ก่อนปิดสมัยประชุมฯ

จากนั้น คาดว่ารัฐบาล จะนำร่างพ.ร.บ.งบฯ 67 ขึ้นทูลเกล้าฯ 17 เม.ย.67 และรอการโปรดเกล้าฯต่อไป ที่ก็คาดว่า ร่างพ”ร”บ.งบฯ 67 น่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายเดือนเม.ย.67 หรือต้นเดือนพ.ค.67

อันหมายถึง ร่างพ.ร.บ.งบฯ 67 จะมีเวลาในการใช้งบประมาณแค่ 5 เดือนเท่านั้นคือถึง ก.ย.67 ซึ่งพอเข้าช่วงส.ค.ปีนี้ รัฐบาลก็เตรียมเสนอร่างพรบ.งบฯ ปี 2568 เข้าสภาฯวาระแรกแล้ว

ทั้งหมดคือไทม์ไลน์ ของร่างพ.ร.บ.งบฯปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท

ซึ่งต้องบอกว่า ตอนนี้ยังเป็นแค่ครึ่งแรกของงบฯ 67 เท่านั้น เพราะยังเหลือการพิจารณาในวาระสองและวาระสาม ที่สามารถปรับเปลี่ยนวงเงินงบประมาณ จากร่างที่ผ่านวาระแรกได้อยู่

ขณะที่ “ควันหลงการเมือง” จากศึกอภิปรายงบฯ 67 ก็มีหลายเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป อาทิเช่น การอภิปรายของสส.ฝ่ายค้าน ต่อ “งบกระทรวงกลาโหม” ที่สส.ฝ่ายค้านเรียกร้องให้มีการยกเลิกข้อตกลงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน หลังการส่งมอบล่าช้าเลยกำหนดเวลามามากแล้ว จากเหตุผลที่ “จีน” ไม่สามารถนำเครื่องยนต์เยอรมันมาติดตั้งได้ตามสัญญา

โดย “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม ระบุว่า ภายในสัปดาห์หน้านี้ คาดว่าสำนักงานอัยการสูงสุด น่าจะส่งหนังสือให้ความเห็นในข้อกฎหมายกลับมายังกองทัพเรือ-กระทรวงกลาโหมว่า กองทัพเรือสามารถยกเลิกสัญญาดังกล่าวได้หรือไม่ หรือเห็นว่าควรมีทางออกในเรื่องนี้อย่างไร หลังจากกองทัพเรือส่งหนังสือไปถามความเห็นกับสำนักงานอัยการสูงสุดมาร่วมสองเดือนกว่า แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทำให้ “สุทิน” ก็ออกมายอมรับว่า อยากให้สำนักงานอัยการฯ เร่งทำหนังสือตอบกลับมา เพื่อกองทัพเรือจะได้นำความเห็นดังกล่าวมาพิจารณาประกอบ ว่าจะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร จะยกเลิกข้อตกลง หรือจะใช้วิธีการอื่นแทนได้หรือไม่ เช่นยอมให้ใช้เครื่องยนต์ของจีนแทนของเยอรมัน หรือจะเปลี่ยนไปจัดซื้อ เรือฟริเกตของจีน มูลค่า 14,000 ล้านบาท ตามที่ “สุทิน” เคยออกมาโยนหินถามทางก่อนหน้านี้

ความชัดเจนของการจะเดินหน้าหรือถอยหลังการจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าว กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง จากผลพวงการอภิปรายงบฯ 67 จึงเป็นเรื่องที่ต้องรอติดตามความคืบหน้ากันในสัปดาห์นี้ ว่าจะได้ข้อสรุปหรือไม่ หรือว่าจะดีเลย์ออกไปอีก

รวมถึงโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต-แจกหนึ่งหมื่นบาท” ที่มีสส.ฝ่ายค้านอภิปรายเรื่องนี้ ตอนพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ ในลักษณะการอภิปรายเชื่อมโยงไปถึงกรณีเอกสารงบประมาณฯ มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีการเติบโตพอสมควร แต่นายกฯเศรษฐา ก่อนหน้านี้พูดตลอดว่า “เศรษฐกิจไทยมีปัญหา อยู่ในชั้นวิกฤต” เพื่อจะได้เอามาเป็นเหตุผลในการออกกฎหมายกู้เงินห้าแสนล้านบาททำดิจิทัลวอลเล็ต

ซึ่งก็มีกระแสข่าวว่า เอกสารที่กระทรวงการคลัง ทำหนังสือสอบถามความเห็นไปยังกฤษฎีกา ในเรื่องการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่ส่งไปเมื่อต้นเดือนธ.ค.66 ข่าวว่า กรรมการกฤษฎีกาได้เริ่มพิจารณาเรื่องนี้กันแล้ว และคาดว่าจะมีความเห็นเป็นข้อสรุปส่งไปที่กระทรวงการคลังภายในกลางเดือนนี้ แต่หากยังมีความเห็นที่ไม่ลงตัวหรือแย้งกันอยู่ภายใน การทำความเห็นไปให้กระทรวงการคลัง ก็อาจล่าช้าออกไปเล็กน้อย

ควันหลงจากศึกอภิปรายงบฯ 67 ที่จบไป ที่มีการอภิปรายพาดพิงถึงงบในโครงการและนโยบายต่างๆ จะพบว่า ก็มีอย่างน้อย 2 เรื่องใหญ่ ที่ใช้เงินงบประมาณมหาศาลในการทำ ที่รัฐบาลรอคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเซฟตัวเอง

นั่นก็คือ การซื้อเรือดำน้ำ ที่รอ “สำนักงานอัยการสูงสุด” กับ ดิจิทัลวอลเล็ต ที่รอ “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา”

ซึ่งทั้งสองเรื่อง…ยังคาดการณ์ได้ยากว่า จะได้ไปต่อ หรือต้องหยุดเพียงแค่นี้ ?

…………………

 คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย…“พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img