วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVEย้อน“คดีอุ้มเรียกค่าไถ่คนจีน”ถี่ยิบ เย้ย!อาญา กฎหมายไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ย้อน“คดีอุ้มเรียกค่าไถ่คนจีน”ถี่ยิบ เย้ย!อาญา กฎหมายไทย

ต้องบอกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา เกิดปรากฎการณ์ อุ้มเรียกค่าไถ่ชาวจีนหลายคดี แนวทางสืบสวนหลายๆ คดี พบว่าเป็น แก๊งคนจีนอุ้มคนจีน ที่ทำธุรกิจสีเทาไปเรียกเอาเงิน แต่บางครั้ง คนไทย-เจ้าหน้าที่รัฐ ก็เห็นช่องทาง ไปร่วมก่อเหตุเรียกค่าไถ่กลุ่มคนจีนผิดกฎหมายเหล่านี้ด้วย ลองไปย้อนดูข้อมูลในตั้งแต่ต้นปีกัน

วันที่ 10 มีนาคม 2566

น.ส.นามี แซ่ลี อายุ 38 ปี หญิงไทยอาชีพล่ามแปลภาษาจีน เข้าแจ้งความที่ สน.ดินแดง ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5-6 นาย อุ้มขึ้นรถไปพร้อมกับนายฉี อายุ 62 ปี นายจ้างชาวจีน เหตุเกิดที่ถนนประชาสงเคราะห์ซอย 2

โดยกลุ่มคนร้ายรีดทรัพย์นายฉีเป็นเงิน 60,000 USDT เป็นสกุลเงินดิจิทัล หรือกว่า 2 ล้านบาท แต่ต่อรองเหลือ 30,000 USTD และให้ลูกชายนายฉีที่ประเทศจีน โอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน I’m token ตีเป็นเงินไทยประมาณ 10 ล้านบาท ก่อนนำทั้งคู่มาปล่อยกลับที่จุดเดิม เหตุเกิดวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา

ต่อมา มีการอนุมัติหมายจับผู้ก่อเหตุที่เป็นตำรวจทั้ง 4 นาย สังกัดตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สำหรับนายฉี พบว่ามีการสวมบัตรประชาชนปลอม เลยกลายเป็นเป้าหมายในการอุ้มรีดไถ

วันที่ 16 มีนาคม 2566

เกิดคดีสาวจีน ลวงสาวจีนเพื่อนร่วมชาติมากินข้าวร้านอาหารย่านทองหล่อ ก่อนให้เพื่อนร่วมแก๊งคือ นายเนี่ย ฉี เจิ่น และนาย หราน เสียวหย่ง ใช้กรรไกรจี้ขึ้นรถตู้อัลพาร์ดปิดตา ปิดปากกักขังไว้ในรถ 1 คืน บังคับรีดเงินหยวน และ เงินดิจิทัลกว่า 3.3 ล้านบาท

ต่อมาตำรวจตามจับตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ขณะเตรียมหลบหนีไปประเทศกัมพูชา ทั้งหมดให้การปฏิเสธ อ้างเป็นเพียงนักท่องเที่ยว และไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน แต่ตำรวจมีหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ชัดเจน

วันที่ 20 มีนาคม 2566

นายหม่าหมิง อายุ 33 ปี นักธุรกิจชาวจีน แจ้งความที่ สภ.หนองปรือ จังหวัดชลบุรี ว่า น.ส.ซาน ฉีเฉียง อายุ 33 ปี ภรรยาและพี่ชายของภรรยา ถูกคนร้ายชาวจีนไม่ทราบจำนวนลักพาตัวไป พร้อมกับรถนิสสันเทอร์ร่า สีดำ ทะเบียน จธ 1856 ชลบุรี

ต่อมาคนร้ายโทรศัพท์มาข่มขู่เรียกค่าไถ่เงินสด 1 ล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อแลกตัวภรรยาและพี่ชาย สุดท้ายคนร้ายเรียกค่าไถ่ไม่สำเร็จ ยอมปล่อยตัวผู้เสียหายทั้งสองราย ส่วนคนร้ายที่ก่อเหตุ มี 1 รายจับได้ที่สุวรรณภูมิ ส่วนอีก 3 ราย ที่หนีออกนอกประเทศไปได้

เช่นเดียวกันว่า คดีนี้ทั้งผู้เสียหายและคนร้าย ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

วันที่ 29 มีนาคม 2566

น.ส.จิน ซ่าน อายุ 22 ปี นักศึกษาปี 3 คณะดนตรี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ถูกพบเป็นศพถูกยัดทิ้งในกระสอบพลาสติก โดยคนร้ายได้โทรฯ เรียกค่าไถ่จากพ่อเหยื่อ ที่อยู่ในประเทศจีน ช่วงดึกวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา เป็นเงิน 500,000 หยวน หรือราว 2,500,000 บาท ให้โอนเข้าบัญชีชาวจีนคนหนึ่ง

ต่อมาพ่อเหยื่อจึงติดต่อทางการไทยให้ช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ทันการ เพราะลูกสาวของเขา ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต และนำศพไปทิ้งไว้ที่ จ.นนทบุรี ส่วนสาเหตุ พบว่าหนึ่งในผู้ต้องหารู้จักหญิงสาวมาตั้งแต่ที่ประเทศจีน และบังคับมาร่วมหลับนอน แต่เมื่อเธอปฏิเสธเลยถูกทำร้าย และเรียกค่าไถ่อำพรางคดี

ต่อมา วันที่ 3 เมษายน มีรายงานว่า ทางการจีนสามารถจับกุูม 3 คนร้ายที่ก่อเหตุฆ่า น.ส.จิน ได้แล้ว ขณะหลบหนีกลับไปที่เมืองอู่ฮั่น พบว่าผู้ต้องหากลุ่มนี้ มีประวัติอาชญากรรมที่ประเทศจีน ขณะเดียวกัน ทางการไทยจับกุมสาวคาราโอเกะวัย 19 ปี ที่ให้คำปรึกษากลุ่มคนร้าย

วันที่ 15 เมษายน 2566

เพื่อนชาวจีนของนายหวัง แจ้งความกับตำรวจ สน.ลุมพินี ว่าเพื่อนถูกกลุ่มคนร้ายจับตัวไปเรียกค่าไถ่เป็นเงิน 3.9 ล้านบาท ทางตำรวจจึงเร่งสืบสวนขยายผล จนทราบว่าผู้ต้องหาที่ก่อเหตุ เป็นอดีตแฟนของนายหวัง

ตำรวจสืบทราบว่า นายหวางเคยคบหากับ น.ส.เพชรลดา หรือ “น้ำเพชร” ผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์สุพรรณบุรี ปี 2020 มาเป็นเวลากว่า 1 ปี และเลิกรากันไป ก่อนหวนกลับมาคบกันอีกครั้ง เมื่อตรวจสอบวงจรปิดจากคอนโดมิเนียมของผู้เสียหาย จึงพบว่าแฟนใหม่ของน้ำเพชร นำทีมมาอุ้มตัวนายหวัง ไปเรียกค่าไถ่

ปมคดีนี้ คนร้ายได้ใช้รถบีเอ็มดับเบิลยู ที่นายหวังซื้อให้น้ำเพชรใช้ และยังนำคีย์การ์ดที่ได้จากเธอ มาอุ้มผู้เสียหาย ยัดลังพลาสติกถึงในห้องพัก ก่อนพาตัวไปที่หัวหิน และทำร้ายเรียกเอาเงิน

สำหรับนายหวัง เป็นบุคคลที่ถูกทางการจีนออกหมายจับ ในคดีฉ้อโกงสร้างความเสียหาย 12 ล้านหยวน หรือประมาณ 60 ล้านบาทไทย แต่ยังไม่ได้ขึ้นหมายแดงของอินเตอร์โพล ทำให้เดินทางเข้าประเทศไทยได้

ก๊งชาวจีน-ไทย ‘อุ้มรีดเงินชาวจีน’ เรียกเงิน 1.8 ล้านบาท ปมค้างหนี้สิน ซึ่งเหตุเกิดในพื้นที่ สน.บางโพงพาง นั้น ล่าสุดชุดสืบสวนได้จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ ได้ 2 คน และเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาสามารถจับเพิ่มได้อีก 2 คน รวมเป็น 4 คน

วันที่ 16 เมษายน 2566

ภรรยาของนายหวน ติ่ง ซ่วน อายุ 30 ปี แจ้งความตำรวจว่า สามีที่เป็นล่ามภาษาไทยให้กับชาวจีน ถูกกลุ่มผู้ต้องหาอุ้มตัวไปเรียกค่าไถ่ เป็นเงิน 1 ล้าน 8 แสนบาท ขณะผู้เสียหายนั่งดื่มกาแฟที่ย่านเตาปูน

ตำรวจได้หลักฐานจากวงจรปิด สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 4 ราย เป็นชาวจีน 3 ราย หนึ่งในนั้นคือนายหมิง ที่เป็นหัวโจกสำคัญ และจากการสอบสวนขยายผล พบว่ามีผู้ก่อเหตุรวม 13 คน ออกหมายจับแล้วทั้งหมด จับกุมตัวได้แล้ว 5 ikp มีคนไทยร่วมขบวนการด้วย 3 คน ขณะนี้ตำรวเร่งสอบสวนขยายผล

สำหรับสาเหตุการอุ้มรีด ตำรวจระบุว่า นายหมิงเป็นเครือข่ายอาชญากรรม ที่ดำเนินการต่อสู้คดีให้กับชาวจีนในไทย โดยเขาได้ให้เงินเหยื่อยืมไป 1.8 ล้านบาท เพื่อประกันตัวผู้ต้องหาชาวจีนคดีหนึ่ง แต่เหยื่อไม่นำเงินไปวางประกัน และไม่ยอมคืนเงินเลยต้องบังคับให้ชดใช้หนี้ดังกล่าว

ผ่าโครงสร้างองค์กรอาชญากรรมจีน หวั่น “แก๊งลูกหมู” คืนชีพ

พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า พฤติกรรมของนายหมิง ที่อุ้มรีดล่ามภาษาไทยคนจีน ไปรีดเอาเงิน 1.8 ล้านบาทนั้น พบว่าคนร้าย มีโครงสร้างเป็นขบวนการอาชญากรรม

โดยนายหมิง ถือเป็นผู้มีอิทธิพล ระดมลูกน้องมากว่า 10 คนมาอุ้มรีดเหยื่อ ที่ไม่นำเงินไปประกันตัวผู้ต้องหาชาวต่างชาติ ตามที่ตกลงกันไว้ และไม่ยอมนำเงินมาคืน พฤติกรรมของผู้ต้องหาเหล่านี้ ถือว่าอุกอาจ ทำมานานหลายครั้ง มีการวางแผนเป็นขั้นตอน มีลำดับชั้น มีการเปลี่ยนรถติดตามเหยื่อในลักษณะแก๊งองค์กรอาชญากรรม

ดังนั้น ตำรวจเองจึงอยากขอความร่วมมือจากประชาชน ช่วยกันให้เบาะแสกลุ่มคนจีนเหล่านี้ เพื่อขยายผลจับกุมให้เร็วที่สุด

ขณะที่พลตำรวจตรีนพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ย้ำว่าพฤติกรรมกลุ่มคนร้ายชาวจีน อุ้มเรียกค่าไถ่ในลักษณะดังกล่าว ไม่ต่างจากพฤติกรรมแก๊งลูกหมู ที่คนจีนอุ้มฆ่า เรียกค่าไถ่คนจีนเมื่อ 20 ปีก่อน

“บิ๊กโจ๊ก” รับช่องโหว่ ตม. เปลี่ยนชื่อก็เข้าไทยได้

ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอบผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ปัจจุบันมีอาชญากรรมเกี่ยวกับคนจีนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ได้สั่งกำชับให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง คอยเฝ้าระวังและตรวจสอบบุคคลต้องสงสัยไว้แล้ว

ทั้งเน้นย้ำให้มีการตรวจค้นจุดเป้าหมายเป็นประจำ และตรวจสอบบุคคลที่เข้ามาว่าพำนักอยู่ที่ใด มีเงินเข้ามาใช้จ่ายเท่าไหร่ โดยต้องให้เจ้าหน้าที่ ตม.ใช้ประสบการณ์ในการทำงานให้มากขึ้น

รอง ผบ.ตร. รับว่าปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีระบบเอไอ จดจำใบหน้า ม่านตา ใบหู จึงทำให้อาชญากรเข้ามาก่อเหตุในประเทศได้ง่าย แม้มีการผลักดันหรือขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์ แต่เชาวต่างชาติที่กระทำผิดแล้ว เมื่อบุคคลนั้นออกนอกประเทศ ก็จะเปลี่ยนชื่อและกลับเข้าประเทศอีกครั้ง จึงเป็นจุดอ่อนที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้

ย้อนโครงการ”ไบโอเมตริกซ์” ในวันแก๊งจีนเทาอาละวาด

ทีมข่าวตรวจสอบ ย้อนไปในปีงบประมาณ 2560 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ดำเนินการจัดซื้อครุภัณฑ์ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยเทคโนโลยี ไบโอเมตริกซ์ (ลายพิมพ์นิ้วมือและภาพถ่ายใบหน้า) ระยะที่ 1 โดยใช้วิธี “พิเศษ” ในการจัดซื้อจัดจ้าง

โดยหน่วยงานย่อยที่จัดซื้อคือ กองพลาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง กำหนดวงเงินงบประมาณ สองพันหนึ่งร้อยล้านบาทเศษ โดยผู้ขาย คือ บริษัท เอ็มเอสซี สิทธิผล จำกัด เป็นจำนวนเงิน 2,116 ล้านบาทบาท

ต่อมาในปี 2564 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการจัดซื้อจัดหาลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ตรวจสอบข้อมูล ไบโอเมตริกซ์ ลายพิมพ์นิ้วมือและภาพถ่ายใบหน้า โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จากบริษัท เอ็มเอสซี สิทธิผล จำกัด วงเงิน 227 ล้านบาทเศษ ลงนามวันที่ 19 ก.พ. 2564

งบลงทุน 2.5 พันล้าน “ไบโอเมตริกซ์” คุ้มค่าหรือไม่ ?

และล่าสุด ในปี 2566 ศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง ออกรายละเอียดแนบท้ายประกาศเปลี่ยนแปลงแผนการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการ จัดหาลิขสิทธิ์ ซอฟต์แวร์ตรวจสอบข้อมูลไบโอเมตริกซ์ (ลายพิมพ์นิ้วมือและภาพถ่ายใบหน้า) 10 ล้านลิขสิทธิ์ ด้วยงบ 249 ล้านบาท จากเดิมเตรียมประกาศในเดือนมีนาคม เลื่อนมาเป็นเดือนพฤษภาคม ที่จะถึงนี้

ประเทศไทย ลงทุนระบบไบโอเมตริกซ์ ด้วยงบประมาณการณ์ ขณะนี้ กว่า 2,500 ล้านบาท แต่คดีอุ้มเรียกค่าไถ่โดยขบวนการอาชญากรรมชาวจีนที่เกิดขึ้น ต้องบอกว่าถึ่ยิบ ถึงขั้นที่บิ๊กโจ๊กบอกว่า อาชญากรที่มีประวัติ แค่เปลี่ยนชื่อนามสกุล เข้ามาในประเทศไทย ก็ตรวจสอบไม่พบแล้ว

มีคำถามสำคัญว่า ภาษีประชาชนที่นำไปลงทุนในระบบนี้ มีความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนนั่นเอง

………..

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img