วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEสว.ชง‘กกต.’ใช้ยาแรงฟัน‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ หากนโยบายพรรคการเมืองทำไม่ได้จริง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สว.ชง‘กกต.’ใช้ยาแรงฟัน‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ หากนโยบายพรรคการเมืองทำไม่ได้จริง

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมา เกี่ยวกับ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ท 10,000 บาท ของ พรรคเพื่อไทย

จากการตรวจสอบบันทึกการประชุม คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ครั้งที่ 14/2566 ที่มี “กล้านรงค์ จันทิก” เป็นประธาน และมีการหยิบยกนโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย มาพิจารณาว่า เข้าข่ายผิดกฎหมายหาเสียงหรือไม่

โดยที่ประชุม ได้หารือเกี่ยวกับนโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน ตามมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

และมีการหยิบยกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ในปีงบประมาณ 2567 จำนวน 5.6 แสนล้านบาทของพรรคเพื่อไทยมาพิจารณา พร้อมตั้งข้อสังเกตดังนี้

1.หากพรรคการเมืองใดประกาศนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรา 57 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจที่จะสั่งให้พรรคการเมือง ปรับปรุงแก้ไขให้ครบถ้วนและถูกต้องภายในระยะเวลาที่ทำหนด

2.หากนโยบายพรรคการเมืองมีลักษณะเข้าข่ายตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73 (1) ให้ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน และให้ กกต.ส่งเรื่องให้ทาง ปปง. ดำเนินการ

หากพบว่านโยบายดังกล่าว เข้าข่ายมาตรา 73(5) ซึ่งถือว่าเป็นการหลอกลวง ก็อาจเป็นเหตุนำสู่การพิจารณายุบพรรคการเมืองได้

3.หากนโยบายพรรคการเมืองมีลักษณะตามข้อ 1 และ 2 แต่ไม่มีการแก้ไข จนพรรคการเมืองดังกล่าว ได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐบาล และมีการแถลงนโยบาย นำมาสู่การปฏิบัติ ซึ่งถือว่านโยบายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกฎหมายต่างๆ

ถือว่ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดกฏหมาย ย่อมต้องใช้กลไกทางกฎหมาย โดยรัฐสภา กกต. สตง. ปปช. ดำเนินการได้

นอกจากนี้ การจัดทำงบประมาณปี พ.ศ.2567 เป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เนื่องจากรายได้ที่จัดเก็บได้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายภาครัฐ จึงต้องมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 593,000 ล้านบาท

ดังนั้น หากนำเงินงบประมาณ 560,000 ล้านบาทไปใช้ดำเนินนโยบาย จะต้องปรับลดงบประมาณหน่วยงานภาครัฐลง อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการให้บริการ ผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานนั้นๆ รวมถึงกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

และการนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล มิได้ทำให้ฐานภาษีเพิ่มขึ้นสุทธิ 560,000 ล้านบาทตามที่เสนอ

ด้าน “กิตติ วะสีนนท์” รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่หนึ่ง มองว่า จากการศึกษานโยบายของพรรคการเมืองที่เสนอมายัง กกต.นั้น พบว่าบางส่วน ยังขาดหัวข้อผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายเนื่องจากเป็นข้อมูลเชิงลบ

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา

ขณะที่ “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” กรรมาธิการ มองว่า กกต.เคยร่างระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายพรรคการเมือง โดยให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ เป็นผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นกรรมการ

แต่เนื่องจาก กกต.มีความกังวลว่า หน้าที่และอำนาจของ กกต.ครอบคลุมเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ท้ายที่สุดจึงไม่มีระเบียบเรื่องนี้ออกมา และหากคณะกรรมาธิการจะทำหนังสือถึงประธาน กกต. ควรรวมไว้เป็นชุดความคิดว่าอะไรเป็นเรื่องที่ทำได้ โดยไม่ควรเจาะจงเฉพาะพรรคการเมือง

“ปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์” รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 3 ระบุว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้งบประมาณจำนวนมากในช่วงเวลาของปีงบประมาณแรก ซึ่งจะดำเนินการในต้นปี 2567 จึงต้องพิจารณาว่านโยบายดังกล่าวเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

มองว่า กกต.ที่เกี่ยวข้องโดยตรง จะต้องนำความเห็นจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งอดีตและปัจจุบัน มาประกอบการพิจารณาและตัดสินว่า นโยบายฯ เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมว่าจะให้หรือไม่

ขณะที่ “กิตติ วะสีนนท์” รองประธานคณะกรรมาธิการ ย้ำว่า คณะกรรมาธิการควรส่งสัญญาณถึง กกต.ให้กล้าปฏิบัติหน้าที่ และหนังสือกราบเรียนถึงประธาน กกต. ควรแสดงถึงความห่วงกังวล แนวโน้มที่พรรคการเมือง จะนำเสนอนโยบายที่มีลักษณะประชานิยม จึงต้องตีความหรือกำหนดเกณฑ์ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน

ปิดท้ายโดย “กล้านรงค์ จันทิก” ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวสรุปว่า คณะกรรมาธิการฯควรจัดทำหนังสือเรียนประธาน กกต. เพื่อแสดงถึงความห่วงกังวลต่อนโยบายพรรคการเมือง รวมทั้งเสนอแนวทางเพื่อประกอบการพิจารณาของ กกต.

ทั้งหมดนี้ เพื่อป้องปรามมิให้เกิดปัญหาการนำเสนอนโยบาย ในแนวทางประชานิยมต่อไป

………………..

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img