วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 5, 2024
spot_imgspot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEปลด“พัชรวาท”รอมติ“ยกโทษ” 4 ปี ใครเตะถ่วงคำสั่งก.ตร.
spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ปลด“พัชรวาท”รอมติ“ยกโทษ” 4 ปี ใครเตะถ่วงคำสั่งก.ตร.

กลายเป็นประเด็น สำหรับหนึ่งในว่าที่รองนายกฯ และรัฐมนตรีป้ายแดง “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” ที่ถูกหยิบยกเรื่องคุณสมบัติมาพิจารณา เนื่องจาก เคยถูกสั่งปลดจากราชการ หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดตามมาตรา 157 กรณีสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551

ภายหลัง ป.ป.ช.ชี้มูลดังกล่าว นายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 228/2552 ลงวันที่ 19 ต.ค. 2552 ปลดพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ออกจากราชการ

ต่อมา คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ “ก.ตร.” พิจารณาอุทธรณ์ของพล.ต.อ.พัชรวาท ในการประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 17/2552 เห็นว่า ยังรับฟังไม่ได้ว่า พล.ต.อ.พัชรวาทกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงมีมติให้สั่งยกโทษแก่พล.ต.อ.พัชรวาท

จากนั้น สำนักงาน ก.ตร. ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ ตช 0012.31/305 ลงวันที่ 17 ก.พ. 2553 แจ้งนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ก.ตร. เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการตามมติ ก.ตร.

แต่ได้รับการชี้แจงว่า การยกเลิกคำสั่งลงโทษมีปัญหา ข้อกฎหมายที่ต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาเสียก่อน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีภาได้แจ้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามายังนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง

กฤษฎีกา ได้พิจารณาจนเรื่องเสร็จที่ 703/2553 ได้แจ้งให้ทราบว่า ประเด็นที่ ก.ตร. โต้แย้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ใช้อำนาจไต่สวนและชี้มูลความผิดพล.ต.อ.พัชรวาทเกินอำนาจตามกฎหมาย เป็นข้อโต้แย้งที่มีเหตุผลอันควรได้รับการพิจารณา

นายกรัฐมนตรีจึงอาจทำได้ 2 ทาง คือ

1.หากเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของ ก.ตร. นายกรัฐมนตรีก็ชอบที่จะสั่งการตามมติของ ก.ตร.

2.ถ้านายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย ก็อาจทำบันทึกโต้แย้งมติของ ก.ตร. เพื่อให้พิจารณา ทบทวนใหม่

อย่างไรก็ดี ภายหลังได้รับแจ้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว นายกรัฐมนตรี (อภิสิทธิ์) ยังมิได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามแนวทางที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแนะข้างต้น

จนกระทั่ง พล.ต.อ.พัชรวาทเห็นว่า การกระทำของนายกรัฐมนตรีเป็นการจงใจละเลยต่อหน้าที่ตามที่ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองกลาง

ต่อมา ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยว่า หากนับตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดี (นายกฯอภิสิทธิ์) ได้รับแจ้งมติ ก.ตร. ครั้งแรก คือ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2553 จนถึงวันที่ได้รับแจ้งผลการหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาครั้งหลังสุด คือวันที่ 18 พ.ย. 2553

นับได้ว่าเป็นระยะเวลาพอสมควรแก่การพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้ของผู้ถูกฟัอง คดีจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จึงพิพากษาให้นายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่ได้รับแจ้งมติของ ก.ตร. ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

แต่ปรากฎว่า สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ศึกษาคำพิพากษาของศาลปกครองกลางแล้ว เห็นว่าเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความรอบคอบ สมควรหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อช่วยวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง (อีกครั้ง)

หลังจากนั้น จึงได้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เพื่อพิจารณาสั่งให้ งดอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง รวมทั้งมอบหมายให้สำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นปัญหาดังกล่าว

ต่อมานายกรัฐมนตรี มีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2557 เห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสั่งให้งดอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และให้สำนักนายกรัฐมนตรี หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ต่อมา คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 มีความเห็นว่า เมื่อคำพิพากษาศาลปกครองกลางจึงถึงที่สุด นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำบังคับในคำพิพากษา ตามที่ได้รับแจ้งมติของ ก.ตร. ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่หลังจากนั้น ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ทำรัฐประหารรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์

กระทั่ง วันที่ 23 ก.ค. 2557 จึงได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตีพิมพ์คําสั่ง คสช. ฉบับที่ 93/2557 เรื่องยกโทษปลดออกจากราชการ พล.ต.อ.พัชรวาท ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ในช่วงนั้น มีผลตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 2557

คดีนี้เป็นคดีปกครอง ที่มติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) พิจารณาอุทธรณ์ลงวันที่ 17 ก.พ. 2553 เห็นแล้วว่า พล.ต.อ.พัชรวาทฯไม่มีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงมีมติให้สั่งยกโทษ แต่กลับต้องรอถึง 4 ปี จึงมีการดำเนินการตามคำสั่งยกเลิกการลงโทษ

ปรากฎว่า นายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น กลับมอบหมายให้สำนักนายกรัฐมนตรี หารือข้อกฎหมายมายังคณะกรรมการกฤษฎีกาถึง 3 ครั้ง รวมทั้งยังหารือไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องหารืออีก

ขณะที่ศาลปกครอง เห็นว่านับว่าเป็นระยะเวลาพอสมควรแก่การพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องนี้ของนายกรัฐมนตรีจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จึงพิพากษาให้นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับแจ้งจาก ก.ตร. ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

สาระสำคัญที่ได้จากคดีนี้คือ การที่หน่วยงานของรัฐไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นต้องหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่กลับดึงเรื่องหรือปฏิบัติราชการในเรื่องนั้นไว้นานจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น อาจเป็นพฤติการณ์ที่ก่อให้เกิด “ความรับผิดทางปกครอง” ได้เช่นกัน

………..

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img