วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVE“ป.ป.ช.”ซัด“ดิจิทัลวอลเล็ต”ไม่ตรงปก ปท.ไม่วิกฤต-เสี่ยงผิดก.ม.วินัยการเงิน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ป.ป.ช.”ซัด“ดิจิทัลวอลเล็ต”ไม่ตรงปก ปท.ไม่วิกฤต-เสี่ยงผิดก.ม.วินัยการเงิน

การเปิดเผย ร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จัดทำโดย คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ประเด็นสำคัญอยู่ใน หัวข้อที่ 6 เป็นข้อพิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนโยบาย เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

ประเด็นที่ 1 ความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย

รายงานข้อเสนอแนะของป.ป.ช.ฉบับนี้ สรุปว่า การที่รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านบาท โดยอ้างเหตุวิกฤติเศรษฐกิจเพื่อการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ จะเห็นได้ว่าการเสนอนโยบายในช่วงหาเสียงเลือกตั้งกับการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มีความแตกต่าง และจนถึงบัดนี้การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ยังไม่มีความชัดเจน หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ ยังไม่ปรากฏว่าเป็นหน่วยงานใด

เป็นข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เป็นการหาเสียงโดยที่ไม่มีความพร้อม ไม่ได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่มีอย่างรอบคอบ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และกฎหมาย ว่านโยบายดังกล่าว จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ตรงปกกับที่หาเสียงไว้ และอาจเป็น กรณีตัวอย่างของการหาเสียง ที่มีลักษณะสัญญาว่าจะให้ อาจขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 (1) หรือ มาตรา 136 วรรคหนึ่ง

ประเด็นที่ 2 ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ

เมื่อพิจารณาจากข้อมูล ข้อเท็จจริง ตลอดจนตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจต่างๆ จะพบว่า ได้มีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2566 ไปในทิศทางเดียวกัน

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ.2566 จะขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 2.5

ธนาคารแห่งประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.4 และในระยะปานกลางจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.3

ดังนั้นจากการวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ว่าไม่เข้าข่ายวิกฤต และยังไม่เห็นสัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย แต่อาจมีการเจริญเติบโตในอัตราที่ชะลอตัว/ต่ำกว่าศักยภาพ

หากเปรียบเทียบภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันกับภาวะวิกฤตตามนิยามของธนาคารโลก/IMF เช่น

-วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี พ.ศ.2540

-วิกฤต Global Financial Crisis (GFC) ปี พ.ศ.2551-2552

-วิกฤตมหาอุทกภัยในช่วงปี พ.ศ.2555

-วิกฤต COVID-19 ปี พ.ศ.2563-2564

พบว่า ขณะนี้ยังไม่เข้าข่ายภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ

ดังนั้น ในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะต้องพิจารณาถึง ความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณ เปรียบเทียบกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นด้วย

ในขณะเดียวกัน จากข้อมูลของสำนักงบประมาณ ได้มีความเห็นเพิ่มเติมว่า หากต้องใช้งบประมาณสำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อาจจะต้องปรับลดงบประมาณ หรืองบลงทุนของหน่วยงาน

ซึ่งย่อมกระทบต่อหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาการดำเนินการที่อาจต้องเลื่อนออกไป อาทิ งานก่อสร้างที่อาจจะต้องมีการขยายระยะเวลา ซึ่งกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ และอาจกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ (Credit Rating)

ดังนั้น การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุลจะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็นเพียงใด ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต

และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชน ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจ “ที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต” ตามนิยามวิกฤตเศรษฐกิจของธนาคารโลก การจัดลำดับความสาคัญ รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง

ประเด็นที่ 3 ความเสี่ยงด้านกฎหมาย

การวางแนวนโยบายและการดำเนินโครงการภายใต้แนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลของรัฐบาลต้องชอบด้วยกฎหมาย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 71 และ มาตรา 75

อาทิ ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐพึงคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม และพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน

เงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต ที่รัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาทให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท

ถ้ามีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน แต่มีเงินฝาก 500,000 บาทขึ้นไป จะไม่ได้รับสิทธิหรือมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท แต่มีรายได้ 70,000 บาทต่อเดือน ก็จะไม่ได้รับสิทธิ ควรจะต้องพิจารณาว่าเป็นธรรม ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในข้างต้นแล้วหรือไม่

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องรักษามาตรฐานด้านวินัยการเงินการคลัง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 140 ที่บัญญัติว่า การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้รับอนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป

นอกจากนี้ ยังมี พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่ต้องคำนึงถึง คือ

มาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งได้บัญญัติเงื่อนไขในการกู้เงินนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะไว้ว่า…

1) ทำได้ก็แต่โดยอาศัยอานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ

2) และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ

กล่าวคือ ต้องอาศัยอานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ ซึ่งสามารถบัญญัติกฎหมายได้เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

การตราเป็นพระราชบัญญัติ
ต้องพิจารณาตามกระบวนการของรัฐสภา

การตราเป็นพระราชกำหนด
ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภา ดำเนินการให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนด

จากข้อมูลประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจข้างต้น ได้ผลสรุปโดยชัดเจนแล้วว่า

“สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายวิกฤต และยังไม่เห็นสัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียว จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนและต่อเนื่อง ที่จะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไข”

ดังนั้น หากรัฐบาลจะดำเนินการตราพระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ มิฉะนั้นจะมีความเสี่ยงที่จะผิดเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561

……….

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img