วันเสาร์, พฤศจิกายน 9, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEจ่อคลอดกฎหมายควบคุมอาวุธปืนใหม่ ‘เก็บอัตลักษณ์-เพิ่มโทษ-ห้ามโฆษณา’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จ่อคลอดกฎหมายควบคุมอาวุธปืนใหม่ ‘เก็บอัตลักษณ์-เพิ่มโทษ-ห้ามโฆษณา’

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการนำเสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษาของ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุม การครอบครอง การจำหน่าย การพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและสิ่งเทียมอาวุธปืน ของคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ มีการพิจารณาศึกษา รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น วิเคราะห์ปัญหา และเสนอแนะแนวทางการควบคุมการครอบครอง การจำหน่าย การพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืน

เพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการปกครอง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจกลาง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1.การกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาต

คุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตซื้ออาวุธปืนต้องมีลักษณะเพิ่มเติม ดังนี้

1.1 อายุของผู้ยื่นขอใบอนุญาตต้องครบ 20 ปีบริบูรณ์ในวันยื่นขออนุญาต จากเดิมที่กรมการปกครองกำหนดไว้ 25 ปีบริบูรณ์

1.2 ผ่านการตรวจสุขภาพจิตโดยจิตแพทย์ ยกเว้น ผู้ขอใบอนุญาตเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหนังสือรับรองจากผู้บังคับบัญชา ไม่ต้องตรวจสุขภาพจิตในการขอใบอนุญาตซื้ออาวุธปืน (ป.3) ครั้งแรก

1.3 ผ่านการอบรมและทดสอบความรู้เกี่ยวกับอาวุธปืนเบื้องต้นตามหลักสูตรที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ให้การรับรอง

1.4 ควรเสนอให้มีการแก้ไขถ้อยคำในมาตรา 13 (9) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490

โดยกำหนดห้ามมิให้ออกใบอนุญาตให้กับบุคคลซึ่งมีความประพฤติชั่ว อันอาจกระทบกระเทือนถึงความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

2.การกำหนดอายุใบอนุญาต

ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน (ป.4) ให้มีอายุ 5 ปี และสามารถต่ออายุใบอนุญาตได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

3.ปัญหาการมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืนที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งหมดนี้ หมายถึงปืนเถื่อน ปืนผิดมือ การดัดแปลงอาวุธปืน และการดัดแปลงสิ่งเทียมอาวุธปืนเป็นอาวุธปืน

3.1 ควรให้มีการเพิ่มบทนิยาม เกี่ยวกับสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490

3.2 ควรให้มีการกำหนดให้อธิบดีกรมการปกครอง มีอำนาจประกาศบัญชีรายชื่อสิ่งเทียม อาวุธปืน ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้

ในประเด็นดังกล่าว สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ได้แสดงความเห็นว่า “แบลงค์กัน” ควรแยกออกจากสิ่งเทียมอาวุธปืน เนื่องจากมีสภาพเหมือนปืนจริงทุกประการ ต่างกันเพียงลำกล้อง

4.การกำหนดจำนวนการอนุญาตให้มีอาวุธปืนต่อคน

ควรเสนอแนะกระทรวงมหาดไทยว่า ควรกำหนดให้มีการควบคุม “จำนวน” การอนุญาตให้มีอาวุธปืนต่อคน โดยควรแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 55 ในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 ดังนี้

“ประเภท ชนิด ขนาด และจำนวนของอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามมาตรา 7 มาตรา 24 หรือมาตรา 38 ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ขออนุญาตมีและใช้อาวุธปันมีเหตุผลความจำเป็นในการใช้ที่แตกต่างกัน ควรขึ้นอยู่กับเหตุผลความจำเป็นประกอบการพิจารณาอนุญาตของนายทะเบียน

ในประเด็นนี้ กรมการปกครอง ได้แสดงความคิดเห็นว่า การกำหนดจำนวนการอนุญาตให้มีอาวุธปืนต่อคน สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติอาวุธปืน ที่กำลังพิจารณาอยู่ เช่น กำหนดเครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ได้รับใบอนุญาตใ มีได้ไม่เกินชนิดละ 50 นัด เป็นต้น

5.การควบคุมตรวจสอบการซื้อขายอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืน ตลอดจนการแสดงการครอบครอง และการใช้อาวุธปืนผ่านสื่อต่างๆ

เห็นควรเสนอแนะให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ.2490 โดยห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน กระทำการโฆษณาหรือแสดงการครอบครองอาวุธปืนผ่านทางสื่อต่างๆ และให้กำหนดบทลงโทษไว้ โดยกรมการปกครอง ได้แสดงความคิดเห็นว่า ได้มีการกำหนดห้ามมิให้ผู้ไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน กระทำการโฆษณาหรือแสดงอาวุธปืนการครอบครองอาวุธปืนผ่านทางสื่อต่าง ๆ ไว้ในร่างพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แล้ว

6.ไม่มีกฎหมาย กำหนดการจัดเก็บรายละเอียดของอาวุธปืน อัตลักษณ์ข้อมูลหัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืน

ในเรื่องนี้ กรมการปกครอง ได้แสดงความเห็นว่า มีการกำหนดให้เก็บอัตลักษณ์ข้อมูล หัวกระสุนปืนและปลอกกระสุนปืน ไว้ในร่างกฎหมายอาวุธปืนฉบับใหม่

ขณะที่ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ได้แสดงความเห็นว่า ตำรวจมีเครื่องจัดเก็บอัตลักษณ์และมีศูนย์เก็บข้อมูล 6 แห่ง

7.การควบคุมอาวุธปืนสวัสดิการข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

รายงานเสนอให้มีการกำหนดเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการฯ ห้ามโอนยกเว้นตกทอดทางมรดก และกำหนดต้องเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหน่วยงานที่ขอจัดให้มีสวัสดิการอาวุธปืนในขณะที่ขอเข้าร่วมโครงการฯ เท่านั้น

ทางกรมการปกครอง ได้แสดงความคิดเห็นว่า การควบคุมอาวุธปืนสวัสดิการข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะได้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การเข้าร่วมโครงการฯ ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดไว้เป็นระเบียบ คำสั่ง แนวปฏิบัติ เช่น เงื่อนไขการห้ามโอน เป็นต้น

8.ปรับปรุงบทกำหนดโทษแห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน

รายงานเสนอให้มีการปรับปรุงบทกำหนดโทษแห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญาและสถานการณ์ปัจจุบัน

ทางกรมการปกครอง ได้แสดงความคิดเห็นว่า ได้มีการปรับปรุงบทกำหนดโทษไว้ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ไว้แล้ว

ทั้งนี้ ในที่ประชุมเห็นชอบรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการฯ และเห็นว่ารายงานมีความสอดคล้องกับแนวทางของกรมการปกครอง ดังนั้น จึงให้ส่งรายงานฉบับดังกล่าวต่อ “กระทรวงมหาดไทย” เพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ต่อไป

………….

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img