วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVE“สนพ.”จับเกณฑ์ใหม่ชี้วัด“ไฟฟ้ามั่นคง” กำหนดชัดติดๆ ดับๆ ไม่เกิน 17 ชม./ปี
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สนพ.”จับเกณฑ์ใหม่ชี้วัด“ไฟฟ้ามั่นคง” กำหนดชัดติดๆ ดับๆ ไม่เกิน 17 ชม./ปี

สนพ.จับเกณฑ์ชี้วัดไฟฟ้ามั่นคงใหม่ กำหนดไฟฟ้าประเทศติดๆ ดับๆ ไม่เกิน 17 ชม./ปี หลังเกณฑ์สำรองไฟฟ้าเดิมไม่ตอบโจทย์ ด้านหน่วยงานพลังงาน-เอกชน ถกโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ต้องเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เสนอรัฐเลิกเอฟที หันส่งเสริมทางเลือกผู้ประกอบการ ดันใช้เทคโนโลยีใหม่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ลดต้นทุน ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภคยันต้องนำระบบเน็ตมิเตอร์ริงมาใช้ หนุนประชาชนผลิตไฟใช้เองเหลือขายเข้าระบบสะดวก

หลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (วพม.2) ร่วมกับสมาคมการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน จัดงานเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมต้องทำอย่างไร” ณ Synergy Hall ชั้น 6, Energy Complex อาคาร C โดยมี นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายด้านกิจการไฟฟ้าของประเทศ”

วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู

ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู กล่าวว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ หรือ PDP 2024 (พ.ศ.2567-2580) อยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพยากรณ์ และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 พ.ค.นี้ จากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นต่อไป

สำหรับแนวทางหลักในการจัดทำแผน PDP 2024 จะมุ่งเน้น 3 ส่วนคือ

1.เน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ ครอบคลุมทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และความมั่นคงรายพื้นที่โดยคำนึงถึงเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะเข้ามา ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน 

2.ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งมีเสถียรภาพ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขณะเดียวกันประชาชนต้องไม่แบกรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม และเตรียมพร้อมระบบไฟฟ้าให้เกิดการแข่งขัน และการบริหารจัดการ เพื่อนำการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Distributed Energy Resource : DER) มาใช้ให้เกิดประโยชน์

3.จำกัดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า ทั้งด้านการผลิตและการใช้ และนำเทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดมาใช้อย่างเต็มที่

ทางด้านการชี้วัดความมั่นคงของแผนใช้เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation : LOLE) ต้องไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือไม่เกิน 17 ชั่วโมง จาก 8,760 ชั่วโมง จากเดิมใช้เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin)

ส่วนเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนใหม่ ปลายแผน หรือพ.ศ.2580 ต้องมีสัดส่วนการผลิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ตามแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายของมาตรการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า (Demand response) 1,000 เมกะวัตต์ และมาตรการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) โดยใช้ DER รองรับเทคโนโลยีใหม่ โดยมีการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยมาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากการมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นในอนาคต

ส่วนโรงไฟฟ้าใหม่นำมาพิจารณาในแผน  อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ โซลาร์ โซลาร์ลอยน้ำ และโซลาร์บวกด้วยระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS)  มีพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เป็นทางเลือก

ทางด้านเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาเป็นทางเลือก อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน  (Carbon  Capture Utilization and Storage ) เทคโนโลยีแอมโมเนีย เป็นต้น ส่วนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในภาคการผลิตไฟฟ้าลดลงเหลือ 41.5 ล้านตันคาร์บอนในปี พ.ศ.2593 ตามตัวเลขของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) 

ดร.วีรพัฒน์ ระบุว่า ความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยหันมาใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ต้นทุนยังสูง และเราไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอดเวลา จำเป็นต้องมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อทำให้ระบบมีความมั่นคง ซึ่งตัวเลขการใช้ไฟฟ้าที่ติดตามมาตลอดพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วง 2 ปีมาอยู่ในเวลากลางคืน ยกตัวอย่างในระหว่าง 22-24 เม.ย.67 ที่ผ่านมาเกิดหลัง 3 ทุ่ม ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ไม่สามารถรองรับได้

ในช่วงการเสวนาหัวข้อ “ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ต้องทำอย่างไร” นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. ระบุว่า ความเป็นธรรมประกอบด้วย 3 ส่วนที่ต้องคำนึงถึง คือ 1.อัตราค่าบริการและความเสี่ยง 2.ความมั่นคงและคุณภาพ และ 3.นโยบายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งค่าไฟฟ้าจะถูกหรือแพงอยู่ภายใต้นโยบายและแผน เพราะโรงไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องต้องใช้การวางแผนล่วงหน้า ไม่สามารถมาปรับได้ภายในเวลา 1-2 วัน ต้องยอมรับว่าค่าเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)  นำเข้าที่มีความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งไม่เฉพาะราคาที่เหมาะสมเท่านั้นที่ต้องคำนึงถึงมีเรื่องคุณภาพเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย นอกจากนี้ยังต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆมารองรับ เช่น สถานีกักเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ (LNG Terminal) กกพ.ในฐานะกำกับดูแลเราดูอัตราผลตอบแทนอย่างเหมาะสมในทุกๆจุด

นอกจากนี้องค์ประกอบของโรงไฟฟ้ายังไม่ได้มีเฉพาะโรงไฟฟ้าที่พร้อมเดินเครื่องเท่านั้น แต่ยังมีโรงไฟฟ้ารองรับกรณีซึ่งเดินเครื่องด้วยน้ำมันไว้รองรับกรณีฉุกเฉินด้วย เช่น โรงไฟฟ้าบางปะกง ราชบุรี และกระบี่ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง และระบบของไทยยังเป็นไฟฟ้าราคาเดียวกันทั้งประเทศที่ต้องมีการเกลี่ยต้นทุนของ 3 การไฟฟ้า

ทั้งนี้ระบบไฟฟ้าของแต่ละประเทศ ต่างมีแนวนโยบายที่จะดูแลประชาชนแต่ละคนกลุ่มแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเวียดนามมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสัดส่วนสูง แต่ก็มีไฟฟ้าตกดับบ่อย มีการอุดหนุนค่าไฟให้กับกิจการขนาดใหญ่ แต่ก็ปล่อยราคาสะท้อนต้นทุนกับกิจการขนาดกลาง เป็นต้น ส่วนสิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีทรัพยากรไม่มากนัก ก็ใช้ระบบเปิดเสรี ทำให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เป็นต้น

ทางด้าน นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า แนวทางที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนนั้น เบื้องต้นต้องเคลียร์ต้นทุนของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมาให้ชัดเจน เพื่อพิจารณาการอุดหนุน และเงื่อนไขที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ภาระไปตกอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม บริบทของสังคมเปลี่ยนไปแล้ว จึงมีข้อเสนอว่าบางมาตรการต้องทบทวนปรับใหม่ เช่น อัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาการใช้งานของผู้ใช้ไฟฟ้า (Time of Use Tariff : TOU) เพื่อกระจายช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นมาตรการที่มีมานานนับสิบปีนั้น ควรปรับเปลี่ยนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป

วุฒิกร สติฐิต

นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้านั้น ซึ่งปัจจุบันต้องนำเข้าในรูป LNG มาใช้มากขึ้น แต่ก็ถือว่าที่ผ่านมาราคา LNG ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ยกเว้นในช่วงเกิดสงครามรัสเซียยูเครนที่ทำให้ราคากระโดดขึ้นไปมาก ปัจจุบันอยู่ที่ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งเราจำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซฯในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยปตท.มีสถานะเป็นผู้นำเข้ารายหนึ่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกกพ. ปัจจุบันยังมีผู้นำเข้าอีกหลายราย

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการผลิตไฟฟ้ามีการลงทุนสูง ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงคุณภาพของไฟฟ้าด้วย ซึ่งไทยมีการพัฒนาระบบไฟฟ้ามาไกล จนเราไม่สามารถยอมรับให้มีไฟฟ้าตกดับได้  แต่การผลิตไฟฟ้านับวันก็มีความท้าทายมากขึ้นตามลำดับ เพราะโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล และ AI ที่จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าโตอีกเป็นเท่าตัว 

หัวใจสำคัญคือการผสมผสานที่สมดุลระหว่างการเปิดให้มีการแข่งขันเสรีกับระบบการกำกับดูแล ซึ่งทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยนโยบายที่ต้องพิจารณาในเรื่องราคาที่ต้องสะท้อนต้นทุน เพื่อไม่ให้เกิดภาระกับประเทศในระยะยาว  รวมถึงการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามามากขึ้น ที่สำคัญคือการสื่อสารกับประชาชน

ดร.ชนะ ภูมิ

ดร.ชนะ ภูมิ นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ย้ำว่า ไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นต้นทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการ และไฟฟ้าตกดับเพียง 1 นาทีกระทบเป็นเงินถึง 5 แสนบาทต่อครั้ง ปัจจุบันโรงงานปูนซีเมนต์ที่สระบุรีจึงนำเทคโนโลยีผลิตพลังงานใช้เองมาใช้มากขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างกันในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ต้นทุนค่าซื้อไฟฟ้าลดลง เหลือซื้อจากระบบของการไฟฟ้า 12,000-13,000 ล้านบาทต่อปี จาก 20,000 ล้านบาทที่เหลือ 40% ผลิตใช้เอง ซึ่งเราพร้อมเป็นโมเดลให้ทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ 

อย่างไรก็ตาม เสนอว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา ดังนั้นนโยบายต้องปรับให้ทัน ยกตัวอย่างค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ที่ปรับทุก 4 เดือนเห็นควรให้ยกเลิก และหันมาสนับสนุนการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนโหลดของผู้ใช้ รวมถึงสร้างทางเลือกการซื้อขายไฟฟ้าให้มีหลายแหล่งและหลากหลาย

ทางด้าน นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เสนอว่า ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นจำเลยสังคมาโดยตลอด เพราะการสนับสนุนของรัฐในช่วงแรกทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของระบบสูง แต่หากรัฐไม่อุดหนุน การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของไทยก็ไม่สามารถเดินหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่ต้องการเสนอ เพื่อทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของระบบลดลง คือ การกันงบประมาณแยกต่างหากสำหรับสวัสดิการที่ให้กับประชาชน เช่น ไฟฟ้าสาธารณะ เงินอุดหนุนการลงทุนโรงไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น เพื่อไม่ให้มากระทบกับต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวม

ทางด้านองค์กรผู้บริโภค นายพชร แกล้วกล้า จากสภาองค์กรของผู้บริโภค แสดงความเห็นว่า แนวทางหนึ่งที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าเป็นธรรมรัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายคืนระบบได้ โดยเฉพาะโครงการโซล่าร์ภาคประชาชน โดยเร่งประกาศนโยบายเน็ตมิเตอร์ริง (Net Metering) ส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ใช้เองเหลือขายเข้าระบบได้แบบหักลบในบิลค่าไฟฟ้าทำให้ประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ประโยชน์สูงสุด ทำให้ประชาชนสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ทันที หรืออาจสร้างรายได้เมื่อมีหน่วยไฟฟ้าส่วนเกินขายให้กับการไฟฟ้า ส่วนแผนผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) และแผนพลังงานอื่น ๆ ที่รัฐอยู่ระหว่างปรับปรุงนั้น ประชาชนต้องมีส่วนร่วมกำหนดโดยต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและกว้างขวาง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img