วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกHighlightเปลี่ยน''ขยะอาหาร''จากครัวเรือนเป็นปุ๋ยชีวภาพ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปลี่ยน”ขยะอาหาร”จากครัวเรือนเป็นปุ๋ยชีวภาพ

การเริ่มต้นคัดแยกขยะชนิดต่าง ๆ จากแต่ละครัวเรือนนั้น นอกจากจะช่วยให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้นแล้วยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจัดการขยะที่ยั่งยืน

เฟซบุ๊ก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แนะนำการจัดการขยะ  โดยเริ่มจาก การแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท  คือ “ขยะรีไซเคิล” เช่น ถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก พลาสติกอื่น ๆ โฟม ยาง แก้ว กระดาษ ลังกระดาษ กล่องนม กระป๋องน้ำอัดลม ไม้ ผ้า โลหะต่าง ๆ ฯลฯ “ขยะอันตราย” เช่น ขวดยา ขวดสารเคมี กระป๋องสเปรย์ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ หรือ หน้ากากอนามัยใช้แล้ว ซึ่งต้องแยกทิ้งเป็นขยะติดเชื้อ ในจุดรับทิ้งโดยเฉพาะ ฯลฯ “ขยะทั่วไป” เช่น เศษปูน ผ้าอนามัยผ้าอ้อมสำเร็จรูป กระดาษชำระ ฯลฯ และ “ขยะย่อยสลายได้หรือขยะอินทรีย์” เช่น เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ เศษใบไม้ เศษกิ่งไม้ ฯลฯ โดยกระบวนแยกขยะ สามารถสร้างโอกาสให้แต่ละครัวเรือนนำขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ เช่น การนำขยะอินทรีย์ไปต่อยอดการจัดการอย่างยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนขยะกลุ่มนี้เป็นปุ๋ยชีวภาพ เพื่อใช้ดูแลต้นไม้ในครัวเรือนได้อีกด้วย

ขยะอินทรีย์นั้นสามารถนำไปดัดแปลงเป็นปุ๋ยได้หลายแบบ เช่นนำไปทำ “ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร” โดยเริ่มจากนำเศษใบไม้มาเตรียมไว้ ใช้ตะเกรงแยกเศษอาหารต่างๆ ออกจากน้ำที่ปนมา หากมีขนาดใหญ่ต้องสับให้มีขนาดเล็กลง เตรียมจุลินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายเศษอาหารได้ โดยแหล่งจุลินทรีย์ที่หาได้ง่าย คือมูลสัตว์ต่าง ๆ เช่น มูลวัว มูลไก่ มูลหมู เตรียมถังหมัก

โดยนำถังพลาสติก (ขนาดความเหมาะสมของถังขึ้นอยู่กับปริมาณปุ๋ยที่ต้องการและประเมินจากขยะอาหารที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน) มาเจาะรูรอบถังเพื่อใช้เป็นช่องระบายอากาศ แล้วพันรอบถังด้วยตาข่ายขนาดเล็ก และมีฝาปิดเพื่อป้องกันแมลงวันเข้าไปวางไข่ ใส่เศษอาหาร มูลสัตว์ และเศษใบไม้ อย่างละ 1 ส่วนลงในถัง ผสมคลุกเคล้าให้ทั่วแล้วปิดฝา ระยะแรกไม่ต้องเติมน้ำเนื่องจากเศษอาหารที่กรองน้ำออกมีความชื้นสูงอยู่แล้ว ใช้ไม้คนส่วนผสมในถังให้คลุกเคล้ากันทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ทำซ้ำเช่นนี้ทุกครั้งเมื่อทิ้งเศษอาหาร  รดน้ำเพิ่มความชื้นทุก 7 วัน โดยสังเกตว่า ช่วง 3-10 วันแรก ส่วนผสมในถังหมักจะทำให้เกิดความร้อนขึ้นจากปฏิกิริยาย่อยสลายของจุลินทรีย์ การหมักจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน ก็จะได้ปุ๋ยหมักที่มีสีดำคล้ำ เปื่อยยุ่ย และไม่มีกลิ่นเหม็น

อีกหนึ่งวิธีในการจัดการขยะอินทรีย์จากครัวเรือนก็คือการใช้ไส้เดือน ไส้เดือนนั้นนอกจากสามารถย่อยสลายอินทรีย์วัตถุเศษอาหารได้แล้ว ยังสามารถเปลี่ยนขยะเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยขี้ไส้เดือนได้อีกด้วย วิธีการเลี้ยง เริ่มจากหา “ไส้เดือนขี้ตาแร่” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วไปในดิน หรือกระถางต้นไม้รอบบ้าน และเป็นสายพันธุ์ที่ดูแลง่าย เตรียมดินผสมมูลวัว ผสมน้ำให้ชุ่ม ใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ใช้เลี้ยงหนาประมาณ 3 นิ้ว ปล่อยไส้เดือนลงไป ปิดฝาด้วยภาชนะที่ระบายอากาศได้ เพื่อป้องกันแมลงวันเข้าไปวางไข่ ให้เศษอาหารไส้เดือนทุกวันหรือตามจำนวนขยะเศษอาหารที่มีในแต่ละวัน ไส้เดือนจะกินเศษอาหารได้แทบทุกอย่าง เช่น เศษผักผลไม้ เศษอาหารที่กรองน้ำแกงออก นำภาชนะเพาะเลี้ยงวางไว้ในจุดที่มืด ชื้นและเย็น หมั่นพรมน้ำให้มีความชื้นอยู่เสมอ แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำนองเพราะไส้เดือนอาจจมน้ำตายได้ไส้เดือนจะช่วยเปลี่ยนเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยขี้ไส้เดือน ที่มีลักษณะเหมือนดินร่วนๆ สีดำ ใช้ผสมดินปลูกผักสวนครัวบำรุงให้ผักงอกงาม

ปุ๋ยอินทรีย์จากขยะเศษอาหารและขยะที่ย่อยสลายจากครัวเรือนนั้น นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะได้ทางหนึ่งแล้ว ปุ๋ยชนิดนี้ ยังมีจุลินทรีย์ มีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชครบถ้วน ปุ๋ยที่ได้ มักจะปล่อยธาตุอาหารให้พืชอย่างช้า ๆ ทำให้คงอยู่ในดินได้ค่อนข้างนาน ดินจึงมีโอกาสเสียน้อยกว่าปุ๋ยเคมี รวมถึงช่วยปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของดินให้เหมาะสม ต่างจากปุ๋ยเคมีที่มีแอมโมเนียเป็นส่วนประกอบ จึงอาจจะทำให้ดินแปรสภาพเป็นกรด และประโยชน์อีกมากมาย นี่คือแนวทางหนึ่งที่จะได้จากการคัดแยกขยะก่อนทิ้งซึ่งเป็นแนวทางที่ยั่งยืนและมองข้ามไม่ได้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img