วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
หน้าแรกHighlight“หมอระวี”เผย“ทรู-ดีแทค”แจงเสียงแข็ง “ต้องควบรวมกิจการ”เพื่อความอยู่รอด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“หมอระวี”เผย“ทรู-ดีแทค”แจงเสียงแข็ง “ต้องควบรวมกิจการ”เพื่อความอยู่รอด

“หมอระวี” เผย กขค.แจง กมธ.เป็นอำนาจ กสทช.ห้ามผูกขาด เจ้าตัวบอกปัดไม่มีอำนาจ ด้าน ทรู-ดีแทคยันต้องควบรวมเพื่อความอยู่รอด

วันที่ 3 มี.ค.65 นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูกับดีแทค และการค้าปลีกค้าส่ง เปิดเผยว่า จากการศึกษาและประชุมของกรรมาธิการตลอด 6 ครั้งที่ผ่านมา พบว่าการยื่นขอควบรวมกิจการของ “ทรู” กับ “ดีแทค” จะก่อให้เกิดการผูกขาดทางการค้า เพราะบริษัทใหม่จะครอบครองตลาดเกิน 50% และลดการแข่งขันในภาพรวม เนื่องจากจะเหลือผู้ประกอบการเพียงสองเจ้าคือ “เอไอเอส” กับ “บริษัทใหม่” ซึ่งตัวแทนสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ยอมรับว่า ดัชนีวัดการกระจุกตัว (HHI) จะเกิน 2500 และค่า HHI จะเพิ่มขึ้นเกิน 100 ใกล้เคียงกับการศึกษาของ TDRI ซึ่งแสดงว่า การควบรวมกิจการจะส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างชัดเจน

นพ.ระวี กล่าวต่อว่า กสทช. ให้ความเห็นกับ กมธ.ว่า อำนาจของ กสทช.ตาม พ.ร.บ.และประกาศ กสทช.หลายฉบับ ไม่สามารถระงับการควบรวมกิจการในครั้งนี้ได้ ทำได้เพียงกำกับดูแลและออกมาตรการต่างๆ เท่านั้น ซึ่ง กมธ.เสนอว่าหากพิจารณาแล้วเป็นการผูกขาดทางการค้าและเป็นอันตรายต่อการแข่งขันเสรี กสทช.จำเป็นต้องออกประกาศฉบับใหม่ในปี 2565 เพื่อระงับการควบรวม ขณะที่ กขค. ได้ยืนยันว่า สำหรับกิจการโทรคมนาคมเป็นอำนาจของ กสทช. ในการพิจารณาดูแลและควบคุม ทั้งนี้ปัจจุบัน คณะกรรมการ กสทช. (ชุดใหม่) ถูกคัดเลือกมาได้เพียง 5 คน อยู่ระหว่างการคัดเลือกจากวุฒิสภาอีก 2 คน ทำให้คณะกรรมการชุดเดิมต้องทำหน้าที่ไปก่อน

นพ.ระวี กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กมธ. ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรเพื่อผู้บริโภค โดยเชื่อว่ากรอบการทำงานเวลา 90 วันของ กมธ.นั้น เพียงพอที่จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและเปิดเผยอย่างเป็นทางการต่อประชาชน สำหรับบทบาทของ กมธ. ปัจจุบันมีหน้าที่หลักในการศึกษาแต่ยอมรับว่าไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการตามสิทธิของภาคเอกชนได้ เช่น การประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทหรือระหว่างบริษัท

“จุดยืนของ กมธ. ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน กมธ.เกือบทุกคน คัดค้านการควบรวมในลักษณะที่ส่งผลต่อการผูกขาดอยู่แล้วและเป็นห่วงผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น หากผลจากการศึกษาพบว่ามีแนวโน้มที่จะผูกขาดลดการแข่งขันในระดับที่เป็นอันตราย กมธ.จะเสนอต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อหามาตรการยับยั้งไม่ให้เกิดการควบรวมกิจการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม”นพ.ระวี กล่าว

เมื่อถามว่า มีแนวคิดที่จะทำประชาพิจารณ์เพื่อหาข้อสรุปหรือไม่ นพ.ระวี กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยในระดับนั้น ทั้งนี้การประชุมของ กมธ.นัดล่าสุด (2 มี.ค.) ได้เชิญตัวแทนจาก ทรู ดีแทค และเอไอเอส เข้ามาให้ข้อมูล ซึ่ง นพ.ระวี เปิดเผยว่า “ทรู” และ “ดีแทค” ยืนยันว่าจำเป็นต้องควบรวม เพื่อการพัฒนาและความอยู่รอดในอนาคตของบริษัท พร้อมกับย้ำว่า ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ ขณะที่เอไอเอสให้ความเห็นว่า ภายหลังการควบรวมดังกล่าว คาดว่าจะทำให้เป็นเรื่องยากที่จะมีบริษัทหน้าใหม่ เข้ามาเป็นคู่แข่งขันในตลาดเพิ่มเติม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img