วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
หน้าแรกHighlight“รฟท.”รอรัฐบาลใหม่สางปัญหาคั่งค้าง “เมกะโปรเจกต์”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“รฟท.”รอรัฐบาลใหม่สางปัญหาคั่งค้าง “เมกะโปรเจกต์”

รถไฟเชื่อม 3 สนามบินไม่คืบ รอรัฐบาลใหม่ไฟเขียวแก้สัญญาร่วมทุน ขณะที่ “รฟท.” พร้อมส่งมอบพื้นที่งานก่อสร้างให้เอกชนตามเป้าหมายในเดือนมิ.ย.นี้ ส่วนโครงการอู่ตะเภาขอปรับจ่ายค่าผลตอบแทนกับภาครัฐใหม่ รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีส้ม-เคลียร์หนี้บีทีเอส

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า รฟท.ยังอยู่ในขั้นตอนรอเจรจารายละเอียดร่วมกับเอเชีย เอรา วัน เกี่ยวกับการก่อสร้างงานโยธาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟไทย-จีน ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ส่วนการออกหนังสืออนุญาตให้เอกชนเข้าพื้นที่ (NTP) ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเอกชนยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

อย่างไรก็ดี รฟท.มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ให้ภาคเอกชนแล้ว 100% โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรื้อย้ายสาธารณูปโภคและเวนคืนที่ดิน ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ส่วนช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา โดยเบื้องต้นยังคาดการณ์ว่าการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนจะแล้วเสร็จ และทำให้ รฟท. ออกหนังสือ NTP ให้เอกชนตามเป้าหมายในเดือน มิ.ย.66

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับกลุ่มซีพี โดย บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ตั้งแต่เดือน ต.ค.62 ซึ่งปัจจุบันนับเป็นระยะเวลา 3 ปี 7 เดือน แล้วที่ยังไม่สามารถเริ่มตอกเสาเข็มงานก่อสร้างได้ รอรัฐบาลใหม่แก้สัญญาไฮสปีด

ทั้งนี้ เนื่องจากเอกชนคู่สัญญาอ้างกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และได้ยื่นขอรัฐเยียวยาผลกระทบ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเยียวยาเมื่อวันที่ 19 ต.ค.64 ซึ่งรวมถึงการแก้สัญญาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งนำไปสู่การเริ่มต้นเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน และรัฐบาลใหม่จะเป็นผู้พิจารณาว่าเห็นชอบให้แก้ไขสัญญาร่วมลงทุนหรือไม่

นอกจากนี้โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกขอปรับจ่ายผลตอบแทนรัฐ โดยมีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.63 ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งยังไม่เริ่มตอกเสาเข็มเพราะรอความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐเป็นผู้ลงทุน

ทั้งนี้ ล่าสุดภาครัฐเริ่มงานก่อสร้างส่วนระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ รวมทั้งเตรียมประกาศเชิญชวนผู้รับจ้างงานทางวิ่งที่ 2 เดือนพ.ค.นี้ ซึ่ง สกพอ.คาดว่าส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างได้ไตรมาส 3 ปีนี้ และปี 67 จะเห็นการเริ่มตอกเสาเข็ม

นอกจากนี้ โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เอกชนยื่นข้อเสนอปรับแผนลงทุนจากเดิมมี 4 ระยะ เพิ่มเป็น 6 ระยะ โดยช่วงเริ่มต้นจะลดขนาดอาคารผู้โดยสารเหลือรองรับได้ 12 ล้านคนต่อปี จากเดิม 16 ล้านคนต่อปี แต่คงเป้าหมายสุดท้ายที่ 60 ล้านคนต่อปี  รวมทั้งเสนอ สกพอ.ปรับการจ่ายเงินผลตอบแทนให้รัฐ ตามเงื่อนไขสัญญากรณีมีเหตุจำเป็นสุดวิสัยให้เอกชนขอผ่อนผันการจ่ายรายได้ให้รัฐ เพื่อรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสนามบิน

ขณะเดียวกันเตรียมเจรจายืดสัญญาแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาท่าเทียบเรือ F รองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 25 พ.ย.64 ร่วมกับคู่สัญญา คือ บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (จีพีซี) ที่ชนะการประมูลและเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 40% บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) 30% และบริษัท เชค โอเวอร์ซี อินฟราสตรัคเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด 30%

ปัจจุบัน กทท.ยังไม่สามารถออกใบอนุญาต NTP เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาได้ เพราะติดปัญหาเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่ภาครัฐลงทุน ซึ่ง กทท.ระบุว่าเกิดจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้การถมทะเลล่าช้าหลังจากนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ไม่ได้ 

อีกทั้งที่ผ่านมา กทท.ประกวดราคางานสัญญา 2 โครงสร้างพื้นฐานระดับดิน ประกอบด้วย สาธารณูปโภคอาคารและสิ่งปลูกสร้าง แต่เพราะปัญหาเศรษฐกิจทำให้ไม่มีเอกชนเข้าร่วม โดยปัจจุบันเตรียมเปิดประกวดราคารอบ 2 ซึ่งหากหาเอกชนไม่ได้ในเดือน ก.ย.นี้ ก็มีเหตุจำเป็นต้องเจรจาแก้ไขสัญญากับกลุ่มจีพีซี โดยมีแนวโน้มว่าจะต้องเสนอเงื่อนไขขยายสัมปทานให้เอกชน เพื่อชดเชยความล่าช้า

ขณะที่โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่มีความล่าช้ามาตลอดในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรอรัฐบาลใหม่มาผลักดัน คือรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ วงเงิน 145,265 ล้านบาท ซึ่งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ยื่นข้อเสนอดีที่สุด แต่ปัจจุบันยังมีข้อพิพาทในศาลปกครองถึงกระบวนการประมูลที่ส่อกีดกันเอกชนรายอื่น รวมทั้งที่ผ่านมาเคยมีการยกเลิกการประมูลมาแล้ว ทำให้ภาพรวมขณะนี้โครงการล่าช้าไปเกือบ 3 ปี

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า หลังจากนี้จะต้องรอ ครม.ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งตามขั้นตอน ครม.จะส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ยืนยันอีกครั้ง หากพิจารณาแล้วเห็นชอบตามเดิมจะเสนอ ครม.พิจารณาอีก ทำให้คาดไม่ได้ว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลเมื่อใด

สำหรับปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ซ้อนกันระหว่างการแก้ไขสัญญาสัมปทานรอเคลียร์หนี้และการให้สัมปทานบีทีเอส ซึ่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีการเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อสัญญาให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นเวลา 30 ปี จากปี 2572-2602 ซึ่งกระทรวงคมนาคมคัดค้านในที่ประชุม ครม.หลายครั้งจึงยังไม่ได้ข้อสรุป

รวมทั้งกรุงเทพมหานคร (ครม.) มีปัญหาหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและค่าจ้างติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายรวม 50,000 ล้านบาท แต่บีทีเอสได้รับชำระเพียงบางส่วน แต่ศาลปกครองมีคำสั่งให้กรุงเทพมหานครชำระทั้งหมดให้บีทีเอส

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img