วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
หน้าแรกHighlightอานิสงส์นโยบายลดค่าครองชีพภาครัฐ ฉุดเงินเฟ้อลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

อานิสงส์นโยบายลดค่าครองชีพภาครัฐ ฉุดเงินเฟ้อลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน

“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อเดือนต.ค.ลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน จากพลังงาน-ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคปรับตัวลง ตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนตุลาคม 2566 เท่ากับ 107.72 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเท่ากับ 108.06 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.31 (YoY) เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน สาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มพลังงานและสินค้าอุปโภค-บริโภค เนื่องจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้งเนื้อสุกร และผักสด ที่ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 0.66 (YoY)

อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนกันยายน 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย
สูงขึ้นร้อยละ 0.30 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 8 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย) โดยอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัว และเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคม 2566 ที่ลดลงร้อยละ 0.31 (YoY) มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.65 (YoY) ตามการลดลงของราคาเนื้อสัตว์ อาทิ เนื้อสุกร และไก่สด โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก เนื่องจากเกษตรกรเร่งระบายสุกรในช่วง
ที่ขายได้ราคา แม้ว่ายังไม่ครบอายุการเลี้ยง ผักสด (ต้นหอม ผักบุ้ง แตงกวา) ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการเพาะปลูกมากกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก ราคาลดลงต่อเนื่องตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง ผลไม้สด (แตงโม มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า) รวมถึงกาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารกลางวัน

หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.09 (YoY) ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่ากระแสไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันดีเซล) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม) เครื่องใช้ไฟฟ้า (พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) ราคาลดลงต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ค่าโดยสารเครื่องบิน กลุ่มน้ำมันเบนซิน กลุ่มแก๊สโซฮอล์ และ
ค่าของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน กระดาษชำระ) ราคาเปลี่ยนแปลงเนื่องจากโปรโมชัน นอกจากนี้ ค่าแต่งผมชาย/สตรี ค่ายา (ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ปวดลดไข้) บุหรี่ สุรา และไวน์ ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 ลดลงร้อยละ 0.28 (MoM) โดยหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.61 ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท รวมทั้งค่าโดยสารรถไฟฟ้า เสื้อผ้าบุรุษและสตรี น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ โฟมล้างหน้า แชมพูสระผม

สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน น้ำยาระงับกลิ่นกาย บุหรี่ สุรา และไวน์ ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.18 สินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ผักสดบางประเภท (ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาว) เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลกินเจ ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม รวมทั้งอาหารโทรสั่ง (delivery) ราคาสูงขึ้นเนื่องจากสิ้นสุดโปรโมชัน สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ปลาและสัตว์น้ำ (ปลาทู กุ้งขาว ปลากะพง) ไข่ไก่ นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง ผลไม้สด (ส้มเขียวหวาน ลองกอง ฝรั่ง) น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม และน้ำปลา

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.60 (AoA) ซึ่งเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด (ร้อยละ 1.0-3.0)

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2566 คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร (เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร) และกลุ่มพลังงาน (ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง) รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการ และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง

อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และยางพารา ราคาปรับสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกร และค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ในระดับดี รวมทั้ง สถานการณ์อุปทานพลังงานที่ยังตึงตัว จากมาตรการจำกัดการผลิตและส่งออกน้ำมันของผู้ผลิตรายสำคัญของโลกและความขัดแย้งในต่างประเทศ อาจส่งผลให้เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดไว้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ 1.0-1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.35) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนตุลาคม 2566 ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 55.8 จากระดับ 55.7 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับสูงขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลง แต่ยังอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมที่ปรับสูงขึ้นในเดือนนี้ คาดว่ามาจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกของไทยที่ขยายตัวติดต่อกัน 2 เดือน รวมทั้งนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ทั้งการลดค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารรถไฟฟ้า และสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เริ่มผ่อนคลายลง ในขณะที่ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ อาจจะมีความรุนแรงและจำกัดผลกระทบในกรอบแคบ ๆ มากกว่าที่เคยคาดการณ์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img