วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกHighlight9 สายการบินใหม่อัดเงินลงทุน 3.8 พันล้านบาท เตรียมเปิดให้บริการต้นปีหน้า
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

9 สายการบินใหม่อัดเงินลงทุน 3.8 พันล้านบาท เตรียมเปิดให้บริการต้นปีหน้า

กพท. เผย 9 สายการบินใหม่สัญชาติไทยยื่นขอจัดตั้งสายการบิน รองรับธุรกิจการบินฟื้นตัวในปีนี้ คาดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 3,850 ล้านบาท

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตกิจการการบินพลเรือน เป็นผู้ประกอบการรายใหม่รวมจำนวน 9 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมยื่นขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) เพื่อให้สามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป สอดรับกับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการบินในไทยตอนนี้อยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง  

สำหรับ 9 สายการบินสัญชาติไทย ที่ยื่นขอจดทะเบียนใหม่ ประกอบด้วย

  • บริษัท เอเชี่ยน แอร์โรสเปซ เซอร์วิส จำกัด โดยได้รับอนุญาตให้ทำการบินตั้งแต่ 16 ต.ค.2564-15 ต.ค.2569 ประเภทการบินแบบไม่ประจำ
  • บริษัท สยาม ซีเพลน จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 3 พ.ค.2566-2 พ.ค.2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ
  • บริษัท อาร์ ซี แอร์ไลนส์ จำกัด (Really Cool Airlines)) ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 18 ก.ค.2566-17 ก.ค.2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ
  • บริษัท อวานติ แอร์ ซาร์เตอร์ จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 27 ก.ค.2566-26 ก.ค.2571 ประเภทคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ
  • บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ซ จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 27 ก.ค.2566-26 ก.ค.2571 ลักษณะคำขอทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ
  • บริษัท กรุงเทพเฮลิคอปเตอร์เซอร์วิสเซส จำกัด ปัจจุบันได้รับ AOC แล้ว โดยมีระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 23 ส.ค.2566-22 ส.ค.2571 โดยทำคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ
  • บริษัท พัทยา แอร์เวย์ จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 28 ส.ค.2566-27 ส.ค.2571 ลักษณะคำขอทำการบินแบบไม่ประจำ โดยเป็นคำขอทำการบินสำหรับการขนส่งเฉพาะสินค้าเท่านั้น
  • บริษัท เอเชีย แอทแลนติก แอร์ไลน์ส จำกัด ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต 29 ส.ค.2566-28 ส.ค.2571 โดยทำคำขอประเภทการบินแบบประจำมีกำหนด
  • บริษัท พี 80 แอร์ จำกัด ( P80 Air)  ยื่นทำคำขอจดทะเบียน 2 รายการ ได้รับระยะเวลาอนุญาตทำการบิน 31 ส.ค.2566-30 ส.ค.2571 โดยจะทำการบินแบบประจำมีกำหนด และแบบไม่ประจำ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ประกอบการธุรกิจการบินที่ต้องการยื่นคำขอจดทะเบียนในไทยจำนวนมาก ซึ่งตามกระบวนการต้องยื่นคำขอพิจารณาเพื่อจัดทำใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) และทำใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ โดยทั้ง 2 ส่วน กพท.จะพิจารณาทั้งแผนธุรกิจ สถานะทางการเงิน รวมไปถึงหลักเกณฑ์มาตรฐานบริการที่จะมีผลต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดกรณีลอยแพผู้โดยสาร

ขณะที่ภาพรวมของผู้ประกอบการสายการบินที่จดทะเบียนในไทย กพท. ยืนยันว่าขณะนี้ไม่มีสายการบินใดที่เข้าข่ายธุรกิจ หรือสถานะทางการเงินที่จะส่งผลต่อการปิดกิจการ และส่งผลต่อผู้โดยสาร แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาหลายสายการบินจะปรับลดต้นทุนดำเนินธุรกิจ ขายและคืนเครื่องบินจำนวนมาก แต่ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณบวก หลายสายการบินทยอยรับมอบเครื่องกลับมาให้บริการ และมีฐานะทางการเงินดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้กพท.ประเมินว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินที่เกิดขึ้นในขณะนี้ใกล้เคียงกลับสู่สถานการณ์ปกติก่อนเกิดโควิด 19 โดยพบว่าปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารฟื้นตัว 90% จากปี 2562 ที่มีจำนวนประมาณ 160 ล้านคน ขณะที่ตลอดทั้งปี 2566 กพท.คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารรวม 127 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 63.03 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศ ประมาณ 64.43 ล้านคน

ส่วนแนวโน้มในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน จะมีปริมาณผู้โดยสารกลับสู่สภาวะปกติ โดยประเมินตัวเลขอยู่ที่ 162 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 88.62 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศ ประมาณ 74.05 ล้านคน

รายงานข่าวแจ้งว่า ทั้ง 9 สายการบินส่วนใหญ่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate) หรือ AOC เพื่อให้สามารถปฏิบัติการบินได้ โดยคาดว่าจะเริ่มทำการบินได้ ภายในปีหน้า ภายใต้การลงทุนไม่ต่ำกว่า 3,850 ล้านบาท เพื่อชิงตลาดอุตสาหกรรมธุรกิจการบินสัญชาติไทยที่มีมูลค่าตลาดราว 3.2 แสนล้านบาทก่อนเกิดโควิด แต่จากโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจหดตัว โดยในปี 2565 พบว่ามีมูลค่าราว 1.2-1.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 40% ของมูลค่าอุตสาหกรรมโดยรวมในปี 2562 และในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img