วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
หน้าแรกNEWS“รฟม.”ยันหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม“เปิดกว้าง-โปร่งใส”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“รฟม.”ยันหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม“เปิดกว้าง-โปร่งใส”

“รฟม.” ชี้แจงหลักเกณฑ์การประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ยืนยันเปิดกว้างเอกชนไทยร่วมประมูล มีการแข่งขันที่โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

วันนี้( 31 พ.ค.65) ตามที่ ปรากฏข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชน อ้างอิงถึงข้อความใน Facebook ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2565 ในหัวข้อ “บีทีเอส” ส่อ “วืด” ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม “รอบ 2”นั้น

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงว่า รฟม. ได้ดำเนินการประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 และวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ในรูปแบบ International Competitive Bidding : ICB

โดยกำหนดเงื่อนไขของการประมูลให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้ ในการจัดทำเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีประสบการณ์ สามารถก่อสร้างโครงการฯ ให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ตามแผนการดำเนินการ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน

สำหรับกระบวนการพิจารณาดังกล่าว มีคณะผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ตามข้อตกลงคุณธรรมเข้าร่วมในการประชุมตลอดในทุกขั้นตอน โดยได้มีการกำหนดเงื่อนไขของการคัดเลือก คุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงานของผู้เข้ายื่นข้อเสนอโดยเปิดกว้าง สรุปได้ ดังนี้

1.การกำหนดคุณสมบัติทางด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงานเดินรถ ได้กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถใช้ผลงานเดินรถจากทั่วโลกได้ ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ในไทย และในกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มนิติบุคคล ผู้นำกลุ่มจะมีผลงานก่อสร้างงานโยธาหรือผลงานเดินรถก็ได้ ทำให้เอกชนผู้เดินรถทั้งไทยและต่างชาติ และผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาสามารถเป็นผู้นำกลุ่มได้จำนวนมากราย โดยจะมีผู้นำกลุ่มไทยอย่างน้อย 4-5 ราย และต่างชาติอีกจำนวนมาก

2.การกำหนดคุณสมบัติทางด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงานการก่อสร้างงานโยธา โดยกำหนดให้ใช้ผลงานที่แล้วเสร็จและเป็นผลงานที่ดำเนินการในประเทศไทย เนื่องจากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตกฯ เป็นโครงสร้างที่อยู่ใต้ดินทั้งหมด การก่อสร้างมีความยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีเฉพาะ และมีเส้นทางผ่านโบราณสถานและสถานที่สำคัญหลายแห่ง รวมถึงยังเป็นโครงการที่รัฐให้เอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธาไปก่อนแล้วจึงชำระคืนภายหลัง ซึ่งเสมือนรัฐเป็นผู้ลงทุนเอง

ดังนั้น ประกาศเชิญชวนจึงได้กำหนดคุณสมบัติด้านผลงานก่อสร้างของผู้ยื่นข้อเสนอโดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการโดยเทียบเคียงแนวทาง ระเบียบ และกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และยังสอดคล้องกับการประกวดราคา ICB ที่ รฟม. ใช้ประมูลงานก่อสร้างโยธาล่าสุด คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และเป็นไปตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯ ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ที่ระบุว่า “1.1.4 การกำหนดผลงาน …. เป็นผลงานการก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่จะดำเนินการจัดจ้างก่อสร้าง ซึ่งผลงานดังกล่าวของผู้รับจ้างต้องเป็นผลงานในสัญญาเดียวเท่านั้น และเป็นสัญญาที่ผู้รับจ้างได้ทำงานแล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งได้มีการส่งมอบงานและตรวจรับเรียบร้อยแล้ว”

ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางที่เหมาะสมเนื่องจากจะทำให้รัฐมั่นใจได้ว่าจะได้ผู้ก่อสร้างงานโยธาที่สามารถดำเนินงานโครงการได้แล้วเสร็จและประสบผลสำเร็จ  

นอกจากนี้ การกำหนดผลงานว่าต้องเป็นผลงานกับรัฐบาลไทยนั้น เป็นการกำหนดตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เรื่อง ข้อหารือความหมายคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ซึ่งระบุว่า “ผลงานที่ผู้ยื่นข้อเสนอ เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็น “หน่วยงานรัฐ” ตามนัยมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ฯเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงหน่วยงานของรัฐในต่างประเทศแต่อย่างใด”

โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นของ รฟม. พบว่า มีผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาที่มีผลงานกับรัฐบาลไทยอย่างน้อย ดังนี้

-งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ ต่างชาติ 5 ราย และในประเทศ 5 ราย  

-งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดินหรือยกระดับของระบบขนส่งมวลชน ต่างชาติ 6 ราย และในประเทศ 3-4 ราย 

-งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่สาม แบบไม่ใช้หินโรยทางสำหรับงานระบบราง ต่างชาติ 1 ราย และในประเทศ 4 ราย 

ดังนั้น จึงทำให้มีทางเลือกที่หลากหลายและเปิดกว้างในการรวมกลุ่มนิติบุคคลเพื่อให้ผลงานก่อสร้างงานโยธาครบถ้วน นอกจากนี้ ในการยื่นข้อเสนอ ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถใช้ผลงานก่อสร้างงานโยธาของผู้รับจ้างมาใช้เป็นผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอได้ เนื่องจากประกาศเชิญชวนไม่ได้กำหนดว่าผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียวเท่านั้นที่มีผลงานก่อสร้างงานโยธากับรัฐบาลไทยครบทั้ง 3 งาน จึงจะสามารถยื่นข้อเสนอได้

ซึ่งเป็นปกติของการดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐที่ย่อมมีผู้ก่อสร้างโครงการหลายรายที่จะเข้าดำเนินการร่วมกันใน 1 โครงการ เพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนงาน นอกจากนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีผลงานเฉพาะงานเดินรถ สามารถที่จะใช้ผลงานของผู้รับจ้างงานโยธาได้มากราย

โดยไม่จำเป็นต้องมาร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกในการรวมกลุ่ม และเกิดการแข่งขัน ทั้งนี้ บริษัทที่ไม่มีผลงานทั้งงานโยธาและงานเดินรถแต่มีเงินทุน ก็สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มผู้ยื่นข้อเสนอได้ สอดคล้องกับแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้กำหนดขอบเขตของงานที่เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถเข้าร่วมลงทุนได้ โดยมีการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง โปร่งใสและเป็นธรรม

3. การกำหนดเกณฑ์คะแนนด้านเทคนิคเป็น 85% ในแต่ละหัวข้อ และ 90% สำหรับคะแนนรวมนั้น เนื่องจากงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตกฯ เป็นงานก่อสร้างที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีเฉพาะ และมีเส้นทางผ่านโบราณสถานและสถานที่สำคัญหลายแห่ง จึงจำเป็นต้องมั่นใจว่าจะได้ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีความรู้ ความเข้าใจและมีประสบการณ์ สามารถก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ตามแผนงาน ทั้งนี้ ในการจัดทำข้อเสนอทางด้านเทคนิค จึงได้มีการกำหนดรายละเอียดความต้องการ วิธีการประเมิน และการให้คะแนนอย่างละเอียดไว้ในเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนแล้ว ดังนั้น เอกชนที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ย่อมสามารถเสนอข้อเสนอที่ดีมีคุณภาพและตรงตามข้อกำหนด และสามารถผ่านการประเมินได้ ดังเช่นในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ที่ผู้ชนะการประกวดราคาในแต่ละสัญญาได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 90 

4. สำหรับระยะเวลาในการจัดทำข้อเสนอที่กำหนดไว้ 64 วันนับจากประกาศเชิญชวน สอดคล้องตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ ที่กำหนดให้ประกาศเชิญชวนไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันเปิดรับซองข้อเสนอ 

สรุป การกำหนดเงื่อนไขการคัดเลือก คุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงานของผู้เข้ายื่นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวน ได้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน เป็นการกำหนดที่เปิดกว้าง ทำให้มีผู้ที่สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกได้มากราย เกิดการแข่งขันที่โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน 

สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img