วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกNEWS“วันนอร์”ชี้10ธ.ค.อาลัยสูญเสียศักดิ์ศรีรธน. “ชวน”กรีดอย่าดีแต่พูดทำการเมืองคนต้องดี
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“วันนอร์”ชี้10ธ.ค.อาลัยสูญเสียศักดิ์ศรีรธน. “ชวน”กรีดอย่าดีแต่พูดทำการเมืองคนต้องดี

“รัฐสภา” จัดงานเสวนาวันฉลองรัฐธรรมนูญปี 66 “ปธ.วันนอร์” ชี้ 10 ธ.ค.วันอาลัยสูญเสียศักดิ์ศรีรธน.ไทย คาใจคนถือปืนยึดอำนาจมีเเต่เจริญในตำแหน่งหน้าที่ หวังแก้กติกาประเทศลดขัดเเย้ง ด้าน “ชวน” กรีดอย่าดีแต่คำพูด-ปฏิรูปการเมือง ทำการเมืองซื่อสัตย์ แต่คนต้องดีด้วย

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.66 เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา มีการจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ “วันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2566″ มีฝ่ายการเมืองเข้าร่วม อาทิ นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตประธานรัฐสภา และนายสุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ส.ศิวลักษณ์ ปัญญาชนสยาม เป็นต้น โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทย มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ประกาศใช้ใหม่หลายครั้ง หรือพูดหยาบๆ หน่อยคือ มีการฉีกทิ้ง จนไม่อยากจะนับครั้ง เป็นปรากฎการณ์สะท้อนถึงการแย่งชิงอำนาจ สลายอำนาจ สืบทอดอำนาจ นัยสำคัญคือการเลิกรัฐธรรมนูญ มักเกิดขึ้นจากปฏิวัติรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครอง ฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยครั้งทำให้ศักดิ์ศรี ความเชื่อมั่น ศรัทธา ต่อรัฐธรรมนูญ ต่อระบบรัฐสภา เสื่อมถอยอย่างน่าเสียดาย ศักดิ์และอำนาจ ของหัวหน้าคณะปฏิวัติ บางครั้งสูงกว่ารัฐธรรมนูญ วันรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. นอกจากเป็นวันรำลึกถึงเจตนารมณ์แห่งการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ยังเป็นวันที่ต้องไว้อาลัยการสูญเสียศักดิ์ศรีของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอีกด้วย

ประธานรัฐสภา กล่าวอีกว่า ถึงเวลาสถาปนารัฐสภาให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนไทยที่มีศักดิ์ศรี สร้างความสมดุลระหว่างองค์อำนาจ พิทักษ์รับรองสิทธิเสรีภาพบุคคล องค์การทางการเมืองของประชาชน และดำรงความยุติธรรม ภายใต้หลักการปกครองระบอบระชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงเวลาแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างการบริหารของรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญให้คุ้มครองความเสมอภาคแห่งสังคมพหุวัฒนธรรมให้มากขึ้น โดยปราศจากความขัดแย้ง แบ่งแยก โดยข้อสงสัยที่ควรระลึกถึง โดยหลักการแล้ว การใช้อำนาจด้วยกำลังอาวุธปืนทำการปฏิวัติรัฐประหาร กำหนดกฎเกณฑ์ บังคับใช้กับประชาชนก็ดี การใช้อำนาจตัดสินคดีโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ศาลก็ดี การกระทำด้วยวิธีการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเคยชินนอกจากไม่มีความผิดแล้ว ผู้ร่วมกระทำยังเจริญในตำแหน่งหน้าที่และมีบริวารบารมีเพิ่มอีกด้วยอย่างน่ากังขาอย่างยิ่ง ข้อกังขาเป็นเพียงตัวอย่าง ที่รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกระดาษ เท่ากับว่าอำนาจอธิปไตยประชาชนไม่ได้มีอยู่จริง

“วันที่ 10 ธ.ค.ปีนี้ขอให้เป็นวันรัฐธรรมนูญแห่งความหวังใหม่ เป็นวันสถาปนาระบบรัฐสภา เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน หวังว่าการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต จะช่วยลดบรรยากาศของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชน กับประชาชนด้วยกัน โดยให้กลไกระบบรัฐสภามีภารกิจคุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างสมดุลระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชนสามารถพัฒนาอำนาจอธิปไตยของประชาชน จนไม่ตกอยู่ในอำนาจของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ ตามพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าที่ประทานไว้ก่อนที่ท่านจะสละราชสมบัติ” ประธานรัฐสภา กล่าว

ด้านนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตประธานรัฐสภา ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความสำคัญของวันรัฐธรรมนูญ” โดยเล่าย้อนถึงที่มาที่ไป ภาพรวมพัฒนาการ และวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้ง 20 ฉบับ ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก จนถึงฉบับปัจจุบัน พร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่า การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบ 90 ปี ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก มันทำให้คนที่รังเกียจการเมืองแต่รู้ว่าการเมืองมีประโยชน์ต่อธุรกิจเปลี่ยนไป รัฐธรรมนูญสมัยนี้ก็เปลี่ยนไป คนเข้ามามีอำนาจ บันดาลได้ สามารถรู้ว่างบประมาณปีนี้มีเท่าไหร่ ถ้ายิ่งเป็นเจ้าของบริษัทก่อสร้างจะรู้ได้เลยว่ามีเท่าไหร่

“ยืนยันว่าผมเข้ามาในระบบไม่ใช้เงิน ผมรับไม่ได้ และรณรงค์เพราะผมเห็นความจริงว่าการเมืองของเราถ้าใช้เงินต้องโกง ไม่มีหรอกลงทุน 50 ล้านแล้วเอาคืนเดือนละแสน ตัวเองไม่โกง พรรคก็ต้องโกง อย่าไปคิดว่าต้องเป็นรัฐบาลแล้วโกง ฝ่ายค้านก็โกงได้ เพราะมีการประสานผลประโยชน์กัน ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายหลักของประเทศสำคัญก็จริง แต่คนก็ต้องดีด้วย ไม่ใช่ดีแต่คำพูด ไม่ใช่ดีแต่บอกว่าปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่ดีแต่บอกว่าทำให้การเมืองซื่อสัตย์ กฎหมายดีคนก็ต้องดีด้วย ผมหวังว่าทุกคนจะได้มีส่วนสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงสืบไป” นายชวน กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img