วันศุกร์, พฤศจิกายน 1, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight''ขุนคลัง''เปิดทางธปท.เป็นอิสระตัดสินใจ''ดอกเบี้ย''
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

”ขุนคลัง”เปิดทางธปท.เป็นอิสระตัดสินใจ”ดอกเบี้ย”

“ขุนคลัง” เผยผลหารือ “เศรษฐพุฒิ” ยันไม่แตะดอกเบี้ยให้อิสระแบงก์ชาติตัดสินใจ ชูปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่อง-NPL -เอสเอ็มอี- เป็นหลัก มั่นใจนโยบายการเงิน- การคลังสอดประสานกันมากขึ้น

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนาย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ว่า การพบกันในครั้งนี้ถือเป็นการพบกันครั้งแรกหลังรับตำแหน่งอย่างไม่เป็นทางการ  ระหว่างตนและผู้ว่าฯ ธปท. โดยใช้เวลาพูดคุยกันประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อทำความเข้าใจการดำเนินนโยบายที่ตรงกันระหว่างนโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน เพราะทั้ง 2 ส่วนต้องทำงานสอดประสานกัน ในการดูแลเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายการเงิน ในเรื่องการกําหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งตนเห็นว่า ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ และให้อิสระของแบงก์ชาติ หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เป็นผู้พิจารณา โดยทางกระทรวงการคลังจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง

“ ดอกเบี้ยนโยบายเป็นการทำให้คนข้างนอกมองเข้ามาในประเทศไทย เขาคงจะเข้าใจถึงทิศทางท่าที เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ มากกว่า ซึ่งเรื่องนี้เราไม่แตะ เป็นเรื่องที่จะต้องดูหลายอย่าง ผมก็เคยนั่งเป็นกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ผมเข้าใจในวิธีการทำงานอยู่”

ส่วนเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อปัจจุบันที่ 1-3% ต่อปี ใช้มาแล้วประมาณ 3-4 ปี ซึ่งทางแบงก์ชาติได้มีการปรับกรอบเงินเฟ้อใหม่เป็นปกติทุกปีอยู่แล้ว ส่วนกรอบจะเป็นอย่างไร แบงก์ชาติคงต้องไปวิเคราะห์ว่า โอกาสที่กรอบเงินเฟ้อ ควรสะท้อนกับภาวะเงินเฟ้อที่ควรเป็นอย่างไร ทั้งระยะสั้นระยะปานกลางข้างหน้า หลังจากนั้นแบงก์ชาติจะนำมาคุยกัน เพื่อหาข้อยุติต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของประชาชนจริง ๆ หรือปัญหาของนักธุรกิจจริ งๆ ไม่ใช่เรื่องอัตราดอกเบี้ย แต่ที่มีความเป็นห่วงวันนี้ และมองว่าสำคัญกว่าดอกเบี้ย คือการเข้าถึงสินเชื่อ สภาพคล่อง ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ของเอสเอ็มอี และปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะการเข้าถึงสภาพคล่องของเอสเอ็มอี หรือรายย่อย ขณะที่นักธุรกิจรายใหญ่มีโอกาส และทางเลือกเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินมากกว่า เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการระดมทุนในตลาดทุน เช่น การออกตราสารหนี้ เป็นต้น 

ทั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และการเข้าถึงสินเชื่อได้ยากโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กๆ หรือรายย่อย ทั้งรายเก่าและรายใหม่ ภาคครัวเรือน เป็นต้น เพื่อหาวิธีการช่วยเหลือ ปรับปรุง ยืดหยุ่น ให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น และการชำระเงินได้ตรงกับความต้องการได้ รวมถึงการนำประกาศจากแบงก์ชาติหลายฉบับในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ส่งตรงไปยังเเบงก์พาณิชย์ กลับมาหารือร่วมกัน เพื่อให้สถาบันการเงินทราบถึงกรอบระยะเวลาดำเนินการ จะค่อยทำไม่ได้ เนื่องจากเวลารอไม่ได้

โดยเห็นว่าสินเชื่อเป็นประเด็นใหญ่กว่าอัตราดอกเบี้ย อัตราจะสูงขึ้นนิดนึง ต่ำลงนิดนึง การเข้าถึงสินเชื่อสำคัญกว่า ผมคิดว่า วันนี้สิ่งแรกเลยที่คนอยากได้ก็คือ ถ้าดอกเบี้ยต่ำกันครึ่งเปอร์เซนต์ กับระหว่างกันเข้าสินเชื่อ เขาต้องรีบเลือกอันเข้าถึงสินเชื่อแน่นอน

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องรีบดำเนินการคือ จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กลุ่มลูกหนี้ที่เคยมีประวัติดีก่อนโควิด แต่เกิดปัญหาการชำระหนี้หลังโควิด จนเกิดปัญหา NPL  โดยให้แบงก์ชาติกลับดูว่า จะสามารถปรับปรุงเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออะไรได้บ้าง เพื่อทําให้ได้สินเชื่อหรือได้ความยืดหยุ่นในการที่จะโปรแกรมการชําระหนี้ที่ที่ตรงกับความต้องการได้ เพื่อช่วยให้เขาได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และช่วยให้ระดับหนี้เอสพีแอลในระบบลดลงได้บ้าง

สำหรับการหารือกันในวันนี้จะทำให้ภาพของความเห็นต่างระหว่างแบงค์ชาติกับกระทรวงการคลังหายไปใช่หรือไม่ นายพิชัย ระบุว่า ตนเองกับผู้ว่าแบงค์ชาติ เป็นคนที่พูดภาษาเดียวกันอยู่แล้ว เพราะก็เคยนั่งเป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าใจในวิธีการทำงานของทางแบงก์ชาติอยู่แล้ว  หลังการหารือวันนี้ ต่างคนจะกลับไปนั่งคิดทำการบ้านของตัวเอง และคงจะนัดคุยกันบ่อยขึ้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวก็รู้จักกันดี ผู้ว่าฯแบงก์ชาติก็เป็นคนหนุ่มที่เก่ง เมื่อฟังแล้วเข้าใจตรงกันก็รับปากจะไปช่วยกันดูแล และย้ำว่าหลังจากนี้นโยบายการคลังและการเงินจะทำงานสอดประสานกันมากที่สุด หลังจากการหารือ ในวันนี้จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. และธนาคารแห่งประเทศไทย  ซึ่งอาจจะต้องมีการทำรายละเอียด และปรับหลักเกณฑ์บางเรื่องเพื่อให้เกิดความชัดเจน

“ หลังจากนี้จะมีการพบปะพูดคุยกับ ผู้ว่าการฯบ่อยมากขึ้น โดยเชื่อมั่นการดำเนินนโยบายการเงิน และการคลังจะทำงานสอดประสานกันมากขึ้น หลังจากนี้ทุกฝ่ายก็จะกลับไปทำการบ้านของแต่ละฝ่าย โดยเราจะร่วมมือช่วยกันทำงานดูแลเศรษฐกิจประเทศต่อไป”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img