วันพุธ, กันยายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight'สว.นันทนา'แฉ'กมธ.ประชามติ'กลับลำ หนุนเสียงข้างมาก 2 ชั้น-ไม่เอาร่างส.ส.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘สว.นันทนา’แฉ’กมธ.ประชามติ’กลับลำ หนุนเสียงข้างมาก 2 ชั้น-ไม่เอาร่างส.ส.

‘นันทนา’ เผย กมธ.ประชามติ สว. กลับลำหนุนเสียงข้างมาก 2 ชั้น หวั่นกระบวนการไม่ทันเลือกนายก อบจ. เชื่อเป็นเกมบางพรรคการเมืองยื้อแก้ รธน. ยืดเยื้อ

วันที่ 25 ก.ย. 2567 เวลา 12.00 น.ที่รัฐสภา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า การประชุม 4 ครั้งที่ผ่านมา มีการพูดคุยถึงหลักการและเหตุผล ในเรื่องการทำประชามติตามร่างที่ สส.ส่งมา กรณีเสียงข้างมากชั้นเดียว แต่วันนี้มีการกลับมติ ไปสนับสนุนการใช้เสียงข้างมากสองชั้น ซึ่งเป็นข้อสังเกตว่า การประชุมที่ผ่านมามีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในวันนี้กลับมีการทบทวนมติเกือบเอกฉันท์ คือ 17 ต่อ 1 ซึ่งหนึ่งเสียงนั้นคือตนเอง ในการที่อยากให้คงเสียงข้างมากชั้นเดียวไว้ เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างผิดปกติ เนื่องจากการทำประชามติควรจะเป็นการทำที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และมีโอกาสที่จะเป็นจริงได้มากที่สุด คือเสียงข้างมากธรรมดาเกินกึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ แต่การกลับมติเช่นนี้ เป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

“วันนี้มีการกลับมติค่อนข้างหนักหน่วง ซึ่งเข้าใจว่าการทำ พ.ร.บ.ประชามติ หากมีเสียงค้านของ สว. ก็อาจจะไม่สามารถทำได้ทันกับช่วงเวลาเลือกตั้งท้องถิ่น หรือ อบจ. ในเดือนก.พ.ปี 68 นี่จึงเป็นความผิดปกติเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญผ่านทางการทำประชามติ”น.ส.นันทนา กล่าว

เมื่อถามว่าเป็นเกมเพื่อทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเกิดขึ้นไม่ทันสภาชุดนี้หรือไม่ น.ส.นันทนา กล่าวว่า น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะเป็นการทำให้กระบวนการยืดเยื้อออกไป เนื่องจากหาก สว.ไม่เห็นชอบกับร่างของ สส. จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ซึ่งก็จะไม่ทันการเลือกตั้ง อบจ. เพราะฉะนั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแทบมองไม่เห็นเลย เพราะจากการถกเถียงของ สส.เสียงข้างมากสองชั้นนั้น เป็นการระดมคนที่มีจำนวนมากมา แต่หากมีจำนวนไม่ถึงครึ่ง จะไม่สามารถทำประชามติได้ อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อถกเถียงหาข้อสรุปกันใหม่ ว่าจะมีมติเป็นอย่างไรในการแก้ พ.ร.บ.ประชามตินี้ โดยคาดว่าน่าจะใช้เวลามากกว่า 60 วัน ซึ่งจะเลยจากกำหนดเวลาไปแล้ว

น.ส.นันทนา กล่าวว่า ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ ฝ่ายสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะสรุปเนื้อหาทั้งหมดของร่าง พ.ร.บ.ประชามติเพื่อส่งให้ทางสภาใหญ่ และวุฒิสภาต้องลงมติว่าจะเห็นชอบตามร่างของคณะกรรมธิการหรือไม่ ซึ่งเสียงข้างมากน่าจะลงมติไปตามนั้น แต่ตนขอสงวนความเห็น สำหรับมุมมองก่อนหน้านี้ทุกพรรคการเมืองอยากให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สว.ไม่ได้เจาะจงไปที่พรรคใดพรรคหนึ่งที่มีแนวโน้มไม่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ แต่สว.จำนวนมากมีการลงมติอย่างพร้อมเพรียงกันในลักษณะนั้น จึงเชื่อว่าเป็นทิศทางของพรรคการเมืองนั้นที่ไม่อยากให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ภายในสมัยสภาชุดนี้

เมื่อถามว่า หากมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะกลับไปใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว น.ส.นันทนา กล่าวว่า ขึ้นอยู่ที่คณะกรรมาธิการจะมองอย่างไร เนื่องจากสัดส่วนกรรมาธิการมีคนจากหลายส่วนเข้ามา พรรคการเมืองที่มีอิทธิพลต่อ สว. อาจจะกลายเป็นเสียงไม่สนับสนุนให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว แต่ยึดตามเสียงข้างมากสองชั้น ดังนั้นตนเข้าใจว่าเมื่อมีการเสนอเรื่องนี้ออกมา ก็มีเสียงคัดค้าน ในหลากหลายทิศทาง ซึ่งก็อาจจะมีการถอยออกมามองว่า หรือจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะการแก้ในแต่ละมาตราอาจจะเป็นอุปสรรค เนื่องจากผ่านได้ค่อนข้างยาก ตนก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img