ส.ก.เพื่อไทย จวก ‘วิโรจน์’ พูดเลื่อนลอย ยัน ‘เพื่อไทย’ ยังไม่มีมติใดเรื่องตั้งบุคคลภายนอกพิจารณา งบฯ กทม 68 แจง ส.ก.รู้ลึกถึงความต้องการประชาชนแต่ละเขต ยกเคยมีคนนอกไม่รู้ลึกถึงความต้องการประชาชนแต่ละเขตดีเพียงพอ
วันที่ 29 ก.ค.67 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตมีนบุรี และอดีตประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชัน X กล่าวหาว่า พรรคเพื่อไทยไม่ยอมให้มีบุคคลภายนอกเป็นกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ กทม. 2568 ทั้งยังกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยลดจำนวนอนุกรรมการน้อยลง และมีผลทำให้เกิดการฮั้วได้ง่ายนั้น โดยนายวิรัตน์ ชี้แจงว่า
1.เรื่องนี้เป็นคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยและไร้ความรับผิดชอบต่อการทำงานหนักของสภา กทม.เป็นอย่างมาก เพราะยังไม่มี ส.ก. ,สมาชิกของพรรคเพื่อไทย หรือผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ที่นายวิโรจน์กล่าวอ้าง มีมติอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้
2.ส.ก.คือตัวแทนของประชาชนชาว กทม.ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในระดับเขต รู้ลึกถึงความต้องการของพี่น้องประชาชนในแต่ละเขตเป็นอย่างดีว่าต้องการอะไร ขาดเหลือสิ่งใด และต้องการงบประมาณสนับสนุนในส่วนใดได้บ้าง
3.ส.ก.มีหน้าที่กลั่นกรองและลำดับความสำคัญความต้องการของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ความต้องการของคนใดคนหนึ่ง หรือความเห็นของคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งความเห็นนั้นสามารถกระทบต่อความต้องการของประชาชนเขตอื่นๆ และอาจขัดแย้งกับความเห็นของ ส.ก.เขตนั้นๆ เองด้วย
4.การพิจารณางบประมาณของ กทม.เป็นการนำปัญหาของประชาชนมาพิจารณาเพื่อแก้ไขให้ตรงจุด ยังไม่มีตัวเงินออกมา การที่นายวิโรจน์กล่าวหาว่าฮั้ว นั้น ไม่เพียงการลดทอนการทำงานของ ส.ก.พรรคอื่น ยังลดทอนการทำงานของ ส.ก.พรรคก้าวไกลด้วย
5.การนำบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมให้ความเห็น เป็นกลไกที่สามารถทำได้ ไม่ใช่ว่าไม่เคยมี ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลเองเคยแต่งตั้งบุคคลภายนอก ร่วมพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ ในท้ายที่สุด คณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยว่า กทม. ไม่มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติดังกล่าว จนปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้ยังไม่สำเร็จ
6.เมื่อครั้งที่ตนเป็นประธานสภา กทม.ในสมัยที่ผ่านมา พบว่า บุคคลภายนอกที่ไม่รู้ลึกถึงความต้องการของประชาชนในแต่ละเขตดีเพียงพอ มีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งในระหว่างการพิจารณากฎหมาย และส่งผลให้บางนโยบายไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนในแต่ละเขต ทั้งที่มีความเห็น จาก ส.ก.ตัวแทนเขตอยู่แล้ว
7.ในอดีต มีสมาชิกสภาเขตมาร่วมพิจารณาร่างงบประมาณ กทม.แต่ปัจจุบันที่ไม่มี จึงมีการปรับปรุงให้มีกรรมการสามัญประจำสภา ที่ผ่านการฝึกฝน และผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญมาแล้ว
8.กรณีที่นายวิโรจน์ กล่าวอ้างว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม.เห็นด้วยที่จะมีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกรรมการพิจารณางบฯ กทม.นั้น เป็นความเห็นของฝ่ายบริหาร กทม. ส่วนสภา กทม.เปรียบเสมือนฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่พิจารณา ถกเถียง หาจุดสมดุลของกฎหมาย การยกความเห็นของผู้ว่า กทม.มาสนับสนุนแนวคิดของตน ย่อมเท่ากับว่านายวิโรจน์ มองข้ามกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบถ่วงดุลหรือไม่
9.กระบวนการตรวจสอบการใช้งบประมาณ หลังงบฯผ่าน คือ ผู้ว่า กทม., และกระบวนการตรวจสอบของกรมบัญชีกลาง ทุกอย่างมีกลไกอยู่แล้ว
“หน้าที่ ส.ก.มีระบุอยู่ในบทบัญญัติชัดเจนว่า หัวใจสำคัญของ ส.ก.คือ กระบวนการพิจารณางบประมาณ ผมเชื่อว่า ส.ก.และกรรมการวิสามัญทุกคน ทำงานอย่างรอบคอบรัดกุม ตามขั้นตอน ไม่สร้างปัญหาระหว่างทาง สิ่งนี้น่าจะเกิดประโยชน์กับชาว กทม.มากที่สุด” นายวิรัตน์ กล่าว