ปิดฉากคดีตากใบอย่างเป็นทางการ ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งจำหน่ายคดีตากใบ เนื่องจากคดีขาดอายุความ ยังจับ 7 จำเลยไม่ได้ เป็นเหตุให้สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ทั้ง 48 คน ระงับไม่สามารถดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปได้
เมื่อวันที่ 28 ต.ค.67 ศาลจังหวัดนราธิวาส อ่านคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ อ1516/2567 ระหว่าง น.ส.ฟาดีฮะห์ ปะจูกูเล็ง ที่ 1 กับพวกรวม 48 คน โจทก์ กับ พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี ที่ 1 กับพวกรวม 9 คน จำเลย
คดีนี้ วันที่ 25 เม.ย.2567 โจทก์ทั้ง 48 คน ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตาม ป.อ. มาตรา 59, 80, 83, 288, 289 (5), 309, 310 เนื่องจากเป็นคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง ศาลจึงนัดไต่สวนมูลฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 162 (1) ในวันที่ 24 มิ.ย.2567 ในวันนัด
ศาลไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ได้ 1 ปาก จนล่วงเวลาราชการ จึงเลื่อนไปนัดไต่สวนมูลฟ้องต่อในวันรุ่งขึ้น ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนัดที่สอง
ศาลอนุญาตให้โจทก์ที่ 6-8 ที่ 26 ที่ 35 ที่ 42 และญาติโจทก์ที่ 3 แถลงการณ์ด้วยวาจาเกี่ยวกับความรู้สึก ความเสียหาย หรือความประสงค์อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ตามฟ้อง แล้วเลื่อนไปนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 26 ก.ค.2567
ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนัดที่สาม ศาลไต่สวนพยานโจทก์ทั้ง 48 ได้ 2 ปาก รวมฝ่ายโจทก์นำพยานบุคคลเข้าไต่สวน 3 ปาก อ้างพยานเอกสาร 28 รายการ กับพยานวัตถุ 1 รายการ ฝ่ายจำเลยอ้างเอกสารประกอบการถามค้าน 27 รายการ คดีเสร็จการไต่สวน ศาลนัดฟังคำสั่งหรือฟังคำพิพากษาวันที่ 23 ส.ค.2567 เหตุที่นัดนาน เนื่องจากต้องส่งสำนวนและร่างคำสั่งฯ ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ตรวจก่อนอ่าน
ทั้งนี้ ในการไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยทั้งเก้าไม่มาศาล แต่แต่งทนายความมาซักค้านพยานฝ่ายโจทก์ รวมทั้งได้ยื่นคำแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165/2
วันที่ 23 ส.ค.2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งว่า คดีในส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3-6 และที่ 8-9 มีมูลความผิดในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ.มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 และมาตรา 310 วรรคสอง ประกอบมาตรา 290, 83 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 7 พิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าคำฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5) กับพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 7 มีส่วนร่วมในการกระทำผิดตามฟ้อง
วันเดียวกัน ศาลออกหมายเรียกจำเลยที่ 1 ที่ 3-6 และที่ 8-9 มาสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 12 ก.ย.2567
เมื่อถึงวันนัด จำเลยที่ 1 ที่ 3-6 และที่ 8-9 ไม่มา ศาลจึงออกหมายจับ เว้นแต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาลมีหนังสือขออนุญาตจับต่อสภาฯ และเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การฯ กับติดตามผลการจับและขออนุญาตจับ ในวันที่ 15 ต.ค.2567 ต่อมาวันที่ 1 ต.ค.2567 ศาลได้รับสำเนาหนังสือของสภาฯ
วันที่ 24 ก.ย2567 แจ้งว่า ระหว่างสมัยประชุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มีความคุ้มกันใด ๆ ในชั้นพิจารณาของศาล รวมทั้งจากการจับและคุมขังในคดีอาญา ศาลจึงออกหมายจับจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกัน ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้มีอำนาจจัดการตามหมายจับควบคู่ไปกับพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานตำรวจตามปกติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสในการติดตามจับกุมจำเลยที่หลบหนี
ในวันนัด วันที่ 15 ต.ค.2567 ยังไม่สามารถจับกุมจำเลยคนใดได้ ศาลไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อต้องเลื่อนคดีไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมจำเลยที่หลบหนีมาเสียก่อน แต่ศาลอนุญาตให้ญาติผู้ตายแถลงการณ์ด้วยวาจา เกี่ยวกับคดีนี้ แล้วมีคำสั่งเลื่อนไปไปนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี หรือนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาวันที่ 28 ต.ค.2567
ในวันนัดวันนี้ วันที่ 28 ต.ค.2567 ยังคงไม่สามารถจับกุมจำเลยที่ 1-3 ที่ 6 และที่ 8-9 ได้ ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากคดีขาดอายุความ ทำให้สิทธินำคดีอาญามาระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) เหตุที่ศาสมีคำสั่งจำหน่ายคดีแทนพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง เพราะตามบทบัญญัติดังกล่าว เป็นกรณีที่ปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความปรากฏต่อศาลในชั้นทำคำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป แต่คดีนี้ จำเลยที่ 1-3 ถึงที่ 6 และที่ 8-9 ไม่เคยเข้าสู่การพิจารณา แต่หลบหนีจนคดีขาดอายุความ เป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจท์ทั้ง 48 ระงับ ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ ต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ