วันจันทร์, กรกฎาคม 1, 2024
หน้าแรกNEWSนายกฯติดตามการแก้ปัญหาน้ำท่วม เตรียมป้องบรรเทาความเดือนร้อนปชช.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

นายกฯติดตามการแก้ปัญหาน้ำท่วม เตรียมป้องบรรเทาความเดือนร้อนปชช.


นายกฯ ติดตามสถานการณ์/สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย จ.อุบลราชธานี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 29 มิ.ย. ณ ศาลาประชาคมบ้านผึ้งตก หมู่ที่ 4 ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชําราบ จังหวัดอุบลราชธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์การเตรียมพร้อมการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะร่วมด้วย


นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงบริเวณพื้นที่จัดงานมีประชาชนมารอให้การต้อนรับและมอบผ้าขาวม้าให้กับนายกฯ จากนั้น นายกฯ รับฟังบรรยายสรุปแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำในเขตจังหวัดอุบลราชธานี จากอธิบดีกรมชลประทาน ดังนี้ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำกระเพาะหมูทองคำปากกุดหวาย ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โครงการดังกล่าว จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์และก่อสร้างอาคารบังคับน้ำให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยสามารถเป็นแหล่งน้ำเก็บกักน้ำในฤดูหลากและใช้ประโยชน์จากน้ำที่เก็บกักไว้ในฤดูแล้งพร้อมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัย หากโครงการแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำเก็บกักเพื่อการเกษตร ประมาณ 4.41 ลบ.ม ครอบคลุมพื้นที่ 5 หมู่บ้านในตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ทั้งหมด 7,450 ไร่ 3,370 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดระดับน้ำท่วมได้ 0.60 – 1.00 ม. และช่วยลดระยะเวลาการระบายน้ำจากเดิมเร็วขึ้น 20-30 วัน

สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำ พร้อมลงพื้นที่สำรวจบริเวณลำน้ำห้วยผับ และลำน้ำใกล้เคียง จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ และก่อสร้างอาคารบังคับน้ำให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถเป็นแหล่งน้ำเก็บกักน้ำในฤดูหลาก และใช้ประโยชน์จากน้ำที่เก็บกักไว้ในฤดูแล้ง พร้อมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัย เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ปริมาณความจุเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.74 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ได้ประโยชน์ 6,250 ไร่ 2,150 ครัวเรือน ครอบคลุม 6 ตำบลในเขตพื้นที่อำเภอวารินชำราบ ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยผับ ประมาณ 20-30 เซนติเมตร และช่วยลดระยะน้ำท่วมขังในพื้นที่จากเดิม 60 วัน เหลือ 30 วัน (ข้อมูลน้ำท่วม ปี พ.ศ. 2565) รวมทั้ง โครงการตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล และอำเภอโพธิ์ไทร)

ภายหลังการบรรยายสรุปฯ นายกฯ ได้มอบพันธ์ุปลา ตามโครงการช่วยเหลือจากกรมประมงเพื่อสร้างแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูกกรมประมง ประจำปีงบประมาณ 2567 และมอบพันธุ์โค โครงการธนาคารโค – กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ จำนวน 60 ตัวมูลค่า 1,680,000 บาท พร้อมมอบพันธุ์เมล็ดหญ้าให้กับผู้แทนเกษตรกร

จากนั้น นายกฯ กล่าวพบปะพี่น้องประชาชนชาววารินชำราบที่มารอต้อนรับประมาณ 600 คน ว่าวันนี้มาพร้อมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกือบทุกพรรค ที่มากันในวันนี้เพราะเห็นถึงความสำคัญของปัญหาของพี่น้องชาวอุบลราชธานีครบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาเกษตรกร ซึ่งวันนี้มีการมอบโคและมอบพันธุ์ปลา ไม่ว่าเป็นปัญหาเรื่องของน้ำซึ่งวันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับชาวอุบลราชธานี ปัญหาเรื่องถนน เมื่อเช้านี้ก็ไปดูโครงการสี่แยกคำน้ำแซบ ที่จะช่วยลดอุบัติเหตุส่งผลให้การจราจรลื่นไหลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเมื่อวานนี้ไปดูวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเกี่ยวกับเรื่องการหล่อเทียนแห่เทียนพรรษา ถ้าเป็นไปได้ก็จะกลับมาอีกครั้งในวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2567 และได้เห็นชาวต่างชาติมาด้วย ก็จะช่วยสนับสนุนให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นหมุดหมายของการท่องเที่ยว โดยเมื่อวานนี้ไปที่จังหวัดร้อยเอ็ดก็เพื่อจะทำให้จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดสีขาวให้ได้ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ และจะนำนโยบายตลอดจนหลักการการทำงานมาทำให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดสีขาวในโอกาสต่อไป

นายกฯ กล่าวต่อไปว่าส่วนเรื่องด่วนเรื่องสำคัญที่มาที่นี่ ซึ่งระหว่างนี้ก็มีการพูดคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตลอดเวลาเกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอีสานตอนล่างทั้งหมด เชื่อว่ารัฐบาลมีนโยบายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวครบวงจร ทำให้จังหวัดอุบลราชธานีและอีสานตอนล่าง จะไม่ท่วมไม่แล้งตลอดไป โดยขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน ทำแผนจัดการรองรับแนวทางป้องกันบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความเดือดร้อนน้อยที่สุด เช่น เร่งขุดลอกคูคลอง การทำแก้มลิง เป็นต้น

“การลงพื้นที่ในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมรับฟังปัญหาต่าง ๆ จากในพื้นที่ มุ่งหาทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับอันจะส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของจังหวัดอุบลราชธานีให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังช่วยบรรเทาไม่ให้จังหวัดอุบลราชธานีประสบกับปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img