วันจันทร์, มิถุนายน 17, 2024
หน้าแรกHighlightระวังเงินบาทผันผวน! ตลาดรอดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ระวังเงินบาทผันผวน! ตลาดรอดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ

เงินบาทเปิดตลาด 35.07 บาทต่อดอลลาร์ ระวังความผันผวนหลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ยอดตำแหน่งงานเปิดรับยังคงออกมาดีกว่าคาด ขณะที่ตลาดรอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมในวันศุกร์นี้ก่อนปรับสถานะการถือครองอย่างชัดเขน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.07 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า โดยผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มเข้าสู่โหมด Wait and See หรือ รอประเมินข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองอย่างชัดเจน ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงระยะสั้น โซนแนวรับจะอยู่ในช่วง 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรายังคงเห็นความต้องการซื้อเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้เล่นในตลาดอยู่ อาทิ บรรดาผู้นำเข้าและบริษัทข้ามชาติ ส่วนโซนแนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 35.25 บาทต่อดอลลาร์ (ถ้าอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว ก็อาจอ่อนค่าต่อทดสอบ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้)

อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งยังมีทิศทางไม่แน่นอน แต่โดยรวม เราประเมินว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยได้เริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้ ก่อนที่ตลาดจะเข้าสู่ช่วงไฮไลท์สำคัญในวันศุกร์ที่จะมีการรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ

ในช่วงนี้จะเห็นได้ว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.15 บาทต่อดอลลาร์

บรรดาผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ทำให้ดัชนี S&P500 เคลื่อนไหวผันผวน ก่อนปิดตลาด +0.14% หลังรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP รวมถึง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings) ยังคงออกมาดีกว่าคาด สะท้อนถึงภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและตึงตัว ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยล่าสุดจาก CME FedWatch Tool โอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ในการประชุมเดือนมีนาคม ได้เพิ่มสูงขึ้น สู่ระดับเกือบ 80%

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย +0.09% ตามการรีบาวด์ของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่เผชิญแรงขายหนักในช่วงที่ผ่านมา (ASML +1.4%, Kering +0.7%) อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) จนเกือบแตะระดับ 4.00% ได้ในปีนี้

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ยังคงสนับสนุนแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด พร้อมกับเปิดโอกาสการเร่งขึ้นดอกเบี้ย (+50bps) ในการประชุมเดือนมีนาคม ทำให้ บอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยีลด์ 2 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 5% ทำจุดสูงสุดในรอบกว่า 16 ปี ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 3.98%

ทั้งนี้เราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอทยอยเข้าซื้อบอนด์ในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น โดยอาจประเมิน Break-even yield (คิดจาก Current Yield/Duration) ในการช่วยประเมินจุดเข้าซื้อที่มีความเสี่ยงเหมาะสม อาทิ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ 4% ขึ้นไป ก็อาจมี Break-even yield > 40bps ซึ่งถือว่า เป็นระดับที่เผื่อโอกาสการปรับตัวขึ้นไปพอสมควร แต่ถ้าเป็นบอนด์ระยะสั้นอย่าง บอนด์ยีลด์ 2 ปี สหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 5% Break-even yield อาจสูงกว่า 200-250bps ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดพอสมควร

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมทรงตัว โดยมีจังหวะที่อ่อนค่าลงในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก่อนที่จะรีบาวด์กลับขึ้นมาที่ระดับเดิม หลังข้อมูลการจ้างงานเบื้องต้น ออกมาดีกว่าคาด โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 105.6 จุด

ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การเคลื่อนไหวของ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ค่อนข้างผันผวน ตามทิศทางของเงินดอลลาร์ โดยราคาทองคำมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นใกล้โซนแนวต้าน ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ก่อนจะพลิกกลับมาปรับตัวลงกลับสู่โซนแนวรับแถว 1,815-1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานที่ดีกว่าคาด

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) ซึ่งตลาดประเมินว่า ภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใส อาจทำให้ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำหรือไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากจากช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟดในระยะถัดไป

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.75% ต่อ หลัง BNM อาจมองว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องและการขึ้นดอกเบี้ยก่อนหน้าอาจเพียงพอที่จะคุมปัญหาเงินเฟ้อ โดยที่ไม่กดดันการเติบโตเศรษฐกิจจนเกินไป

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img