วันจันทร์, กรกฎาคม 1, 2024
หน้าแรกHighlightนายกฯประกาศชู “8 วิสัยทัศน์”ยกไทย “ศูนย์กลางเมืองอุตสาหกรรมระดับโลก”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

นายกฯประกาศชู “8 วิสัยทัศน์”ยกไทย “ศูนย์กลางเมืองอุตสาหกรรมระดับโลก”

นายกฯ เศรษฐา ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision “IGNITE THAILAND จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก

เมื่อวันที่ 22 ก.พ.67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ประกาศวิสัยทัศน์ “Thailand Vision “IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาลและสุขภาพ อาหาร การบิน การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เทคโนโลยี และการเงิน

นายกฯ เปิดเผยว่า รัฐบาลตั้งเป้าประเทศไทยจะก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค ด้วยข้อได้เปรียบของประเทศไทย ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยว ภูมิอากาศที่อบอุ่นตลอดปี โครงสร้างที่พร้อมต่อยอด และที่สำคัญ คือ ศักยภาพของคนไทย

โดย วิสัยทัศน์ที่ 1 ประกาศตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub) เนื่องจากประเทศไทยมีขนาดพื้นที่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก แต่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับคนไทยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนประชากร เนื่องจากรายได้หลักของคนไทยมาจากการท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 70% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เฟ้นหา Soft Power ชูจุดขายเป็นเสน่ห์ของประเทศไทย ให้โดดเด่นในสายตาประชาคมโลก ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม งานเทศกาล คอนเสิร์ต งานภาพยนตร์ งานศิลปะ อาหาร วัฒนธรรม และที่น่าจับตามองคือ กีฬา และศิลปะป้องกันตัว ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนไทย รวมถึงจะผลักดันบางจังหวัดให้เป็นมรดกโลก

หลังจากนี้การท่องเที่ยวในประเทศไทยจะต้องได้รับการส่งเสริมต่อยอดทุกรูปแบบ ทุกจังหวัด ทั้งเมืองหลัก เมืองรองต้องพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมทั้งแก้ไขกฎ ระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคการท่องเที่ยว เช่น เวลาเปิดปิดของสถานบริการ  การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการแก้ไขภาษีสำหรับการจัดงานหรือแข่งขันต่างๆ รองรับการเป็น Homestay ของคนทั่วโลก โดยในแต่ละหน่วยงานของทุกพื้นที่จะต้องนำธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต สร้างเป็นจุดขาย และ อีกทั้งรัฐบาลปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ เอื้อให้ผู้จัดงานระดับโลก ให้สามารถเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต ภาพยนตร์ และงานศิลปะ เป็นต้น  ทั้งหมดนี้จะทำให้ทุกภาคส่วนทั้งโรงแรมชั้นนำ ที่พักของคนไทย ร้านอาหาร สินค้าพื้นบ้าน ของดีของเด่นประจำเมือง ตลอดจนสินค้าการเกษตรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

วิสัยทัศน์ที่ 2 ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub)  รัฐบาลจะผลักดันอุตสาหกรรมสาธารณสุข ให้เป็นศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรของโลก ด้วยเพราะระบบการรักษาพยาบาลของประเทศไทยมีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งศาสตร์การดูแลสุขภาพแผนไทยที่มีชื่อเสียง บุคลากรที่มีคุณภาพและ Service Mind ทั้งยังสามารถดูแลได้ครอบคลุมตั้งแต่เกิดไปจนถึงวัยชรา และรักษาได้ทุกโรค ที่สำคัญมีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล จนกลายเป็นอีกจุดขายดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเมืองไทยเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลในปี 2566 พบว่า การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ สร้างเม็ดเงินได้กว่า 4 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้รัฐบาลจะเดินหน้าพัฒนาระบบประกันสุขภาพของคนไทย จาก 30 บาทรักษาทุกโรค ยกระดับไปเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้คนไทยเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นทั้งในโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชน ใช้ AI เชื่อมฐานข้อมูลทั้ง 77 จังหวัดด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ซึ่งในขณะนี้นำร่องไปแล้ว 4 จังหวัด และคาดว่าจะครบทุกจังหวัดในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้รัฐบาลจะเพิ่มจำนวนหมอ และพยาบาลให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งจะพัฒนาคุณภาพ ยกระดับชีวิตบุคลากรให้ดีกว่าเดิม และจะผลักดันการแพทย์แผนไทย นวดแผนไทย สปาแผนไทย สมุนไพร รวมทั้งจะสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ทำใบรับรองประกาศนียบัตร และผลักดันให้ไปเปิดศูนย์ Wellness Center ได้ในต่างประเทศ

วิสัยทัศน์ที่ 3 ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) รัฐบาลจะยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในกระเป๋าต้องมีเงิน” ดูแลความมั่นคงทางอาหารของโลก พร้อมเป็นครัวของโลกที่สามารถปรุงอาหารทุกประเภทส่งออกไปยังตลาดโลก ด้วยเพราะประเทศไทยมีจุดแข็งทางด้านภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ มีอุตสาหกรรมที่ครบวงจรตั้งแต่การปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ การประมง การแปรรูป การปรุงอาหาร สูตรอาหาร จึงทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในเรื่องรสชาติที่มีความโดดเด่นอร่อยติดอันดับโลก มีร้านอาหารที่ได้รับตรามิชลินกว่า 196 ร้าน และมีร้านที่ได้รับดาวมิชลินกว่า 35 ร้าน 

รัฐบาลจะเข้ามายกระดับเกษตรกรรม ส่งเสริมเกษตรกรไทย ให้มีรายได้มากขึ้น 3 เท่าใน 4 ปีของรัฐบาลนี้ ดูแลทั้งดิน น้ำ พันธุ์พืช  พันธุ์สัตว์ พันธุ์ปลา ให้อุดมสมบูรณ์ และแหล่งชลประทานจะต้องขยายให้ครอบคลุม 40 ล้านไร่ ดูแลการเพาะปลูก Precision Agriculture การเลี้ยงสัตว์ และดูแลปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ไปพร้อมๆ กัน สนับสนุนสินค้าเกษตรทั้งประเทศไปสู่ตลาดโลก ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นปัจจัยทางด้านอาหารของโลก และข้อมูลจากสำนักงานด้านประชากรขององค์การสหประชาชาติ ยังได้คาดการณ์ว่าในปี 2593 ทั่วโลกจะมีจำนวนประชากรทั้งหมดเกือบ 10,000 ล้านคน ซึ่งมากกว่าในปัจจุบันเกือบ 2,000 ล้านคน เมื่อมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นก็ย่อมต้องการอาหารมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งไทยสามารถผลิตอาหารได้ตั้งแต่ต้นน้ำในภาคเกษตรกรรม จนไปถึงการแปรรูปส่งออกไปยังตลาดโลกได้ โดยรัฐบาลจะพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต การวิจัยพัฒนาอาหารโปรตีนสูงจากพืช ตลอดจนการพัฒนาอาหารที่แปลกใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นกระแสของตลาดโลกในอนาคต นอกจากนี้รัฐบาลจะยกระดับคุณภาพอาหาร ทั้งอาหาร Halal อาหารสำหรับผู้ป่วย และอาหารชนิดพิเศษอื่นๆ  ตลอดจนรัฐบาลจะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ไปเปิดร้านอาหารในต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ไทยกลายเป็นปัจจัย 4 ของโลกในด้านอาหาร

วิสัยทัศน์ที่ 4 ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วโลกให้เชื่อมถึงกัน ด้วยจุดแข็งทางภูมิศาสตร์รายล้อมไปด้วยประชากรกว่า 280 ล้านคน ติดอันดับ 5 ของประชากรโลก  และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว ทำงานในทุกระดับ ทุกราคาที่เลือกได้ รัฐบาลมีแผนจะพัฒนาสนามบินให้รองรับการ Transit ของสายการบิน และเตรียมปรับเปลี่ยนเส้นทาง ตารางบินให้เหมาะสม เพื่อเพิ่ม Transit Capacity ให้สูงขึ้น  เนื่องจากประเทศไทยมีระยะทางไปยังศูนย์กลางทางเศรษฐกิจได้ทั่วโลกใกล้กว่าประเทศเพื่อนบ้าน มีสนามบิน ทั้งเมืองหลัก เมืองรอง ที่พร้อมเป็น Home-base และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเรื่องรันเวย์ อาคารผู้โดยการ คลังสินค้า สร้างระบบขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) เพิ่มทรัพยากรบุคคล การตรวจความปลอดภัย เสริมคุณภาพการบริการทุกระดับ เพื่อเตรียมพร้อมจะเป็น Homeland ของสายการบินทั้งไทยและสายการบินนานาชาติ เพียบพร้อมไปด้วยศูนย์ดูแลรักษา ซ่อมบำรุง ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค จะทำให้ภาคบริการ ภาคการขนส่ง โรงแรม การท่องเที่ยว อาหาร สินค้าเกษตร เติบโตไปยังตลาดโลก

วิสัยทัศน์ที่ 5 ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มศักยภาพระบบคมนาคมทั้งในและต่างประเทศ โดยรัฐบาลมีแผนจะเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญจากเมืองใหญ่สู่เมืองเล็ก ตั้งแต่การปรับปรุงสนามบินทั้งระบบ ขยายถนนทั้งถนนหลัก ถนนรอง ในปี ซึ่งภายในปี 2593 จะต้องขยายทางหลวง Motorway 10 เท่า จากปัจจุบัน 250 กิโลเมตร ให้เป็นเกือบ 2,500 กิโลเมตร และทางหลวงแผ่นดิน 4 เลน จาก 20,000 กิโลเมตรให้เป็น 23,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อตั้งแต่ชายแดนภาคเหนือที่ติดกับเมียนมาร์ สปป.ลาว เชื่อมต่อไปยังชายแดนไทย-มาเลเซีย ส่วนระบบราง จะพัฒนารถไฟรางคู่ เพิ่มระยะทางอีก 2,000 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ระบบรางระหว่างเมืองมีระยะทางรวม 5,500 กิโลเมตรภายในปี 2573 ในส่วนของระบบรถไฟฟ้าทั้งกรุงเทพฯ และภูมิภาคจะมีระยะทางเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า ครอบคลุมเส้นทางเกือบ 700 กิโลเมตร  มีรถไฟความเร็วสูง เชื่อมสู่ 3 สนามบินและจะเชื่อมไปยังชายแดนหนองคายพร้อมทั้งเชื่อมต่อไปยังท่าเรือน้ำลึกที่แหลมฉบัง สำหรับส่งสินค้าจากอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมอาหาร เปิดตัวเป็นศูนย์กลางคมนาคมของอาเซียน เชื่อมจีน ยุโรป และเป็นศูนย์กลางขนส่งผ่าน Land Bridge เชื่อมสองฝั่งมหาสมุทรอันดามัน-อ่าวไทย สร้างความสมดุลสู่ความมั่งคั่งเป็นตัวกลางการค้าระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก ซึ่งการลงทุน Mega project ในครั้งนี้ จะเป็นการลงทุนใหญ่ในรอบ 20 ปี นอกจากโครงสร้างพื้นฐาน เราจะต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานทั้งหมด (One Stop Service) ไม่ให้ระบบราชการ ระบบเอกสาร เป็นคอขวดของการขนส่งทั้งคน ทั้งสินค้า เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของประเทศโดยเด็ดขาด บริษัทชั้นนำระดับโลก มาตั้งฐานการลงทุนในประเทศไทย และสร้างอาชีพ สร้างโอกาส สร้างรายได้

วิสัยทัศน์ที่ 6 ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) รัฐบาลตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต มีเป้าหมายจะได้แผนการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ได้หารือพูดคุยกับบริษัทยานยนต์ไปมากกว่า 10 ราย และมีการตอบรับจะลงทุนในประเทศไทยแล้วมากกว่า 150,000 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจของเราเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่เลือกไทยเป็นบ้านหลังที่ 2 ในวันนี้ที่อุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่รถ EV ประเทศไทยเราก็มีผลตอบรับที่ดี เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในทุก Supply Chain มีผู้ผลิตชิ้นส่วน วิศวกร และ Programmer ที่มีศักยภาพ  รัฐบาลจึงมีแผนจะส่งเสริมอุตสาหกรรมรถ EV ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การค้นคว้าวิจัย การผลิตชิ้นส่วน ยางรถยนต์ แบตเตอร์รี่ อะไหล่ การประกอบ การบำรุงรักษา ทำให้เกิดเป็น Ecosystem ที่สมบูรณ์ในประเทศ  พร้อมทั้งจะให้การสนับสนุนค่ายรถจากญี่ปุ่น ที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจไทย ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยายนต์แห่งอนาคตได้  นอกจากนี้ รัฐบาลได้เตรียมพร้อมสำหรับเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างเช่น เครื่องยนต์ Hydrogen เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต

วิสัยทัศน์ที่ 7 ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy Hub) รัฐบาลตั้งเป้าดึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต Digital for all Technology Innovation AI ให้มาขยายธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยี High Tech ต่าง ๆ ทั้งการลงทุนโรงงานผลิต Semiconductor, การตั้งศูนย์ Data Center รองรับ Cloud Computing, การวิจัยและนำ AI มาใช้งานในประเทศไทย รวมถึงดึงบริษัท Deep Tech ให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยด้วยเช่นกันผ่านโมเดล Sandbox ซึ่งรัฐบาลจะมีเงินสนับสนุนบริษัทที่ต้องการผ่านกองทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และจะทำ Matching Fund เติมทุนให้กับบริษัทที่มีศักยภาพด้วย  และในขณะเดียวก็เตรียมปรับกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการตั้งบริษัท การทำงาน การรับ-จ่ายเงินเดือน การถือครองทรัพย์สินต่างๆ เพื่อดึงคนที่มีความสามารถเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย นอกจากนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนให้บริษัทสามารถประกอบธุรกิจข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้จุดแข็งทางด้านการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งจะทำให้คนรุ่นใหม่ที่อยากจะร่วมงานกับบริษัทชั้นนำในระดับโลก ไม่ต้องย้ายไปอยู่ในต่างประเทศ และจะเป็นโอกาสให้คนไทยที่อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ Start Up สามารถสร้าง Unicorn ของตนเองต่อไป

วิสัยทัศน์ที่ 8 ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) รัฐบาลตั้งเป้าจะเปลี่ยนให้ไทยเป็น Financial Center of Southeast Asia ขับเคลื่อนโดยระบบการเงินที่แข็งแกร่ง ดึงสถาบันการเงินระดับโลกเข้ามาลงทุน สร้างย่านการเงิน Wall Street ของอาเซียนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และพัฒนา Infrastructure รองรับระบบการเงินแห่งอนาคตขับเคลื่อนด้วย Blockchain ที่ไร้ตัวกลาง และเตรียมปลดล็อก Digital Asset ต่างๆ ให้สามารถแปลงเป็นผลผลิตในโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงเชื่อมต่อระหว่างสินทรัพย์ในโลกปัจจุบันให้มาอยู่บนโลกดิจิทัลได้อีกด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลจะเริ่มพัฒนาระบบการเงินเพื่อความยั่งยืน Carbon Credit Trading ซึ่งในอนาคตจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลจำเป็นต้องมีหน่วยงาน กฎระเบียบ รองรับการก้าวไปสู่ยุคการเงินสมัยใหม่เช่นกัน

ปิดท้ายด้วย พื้นฐานที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ (Foundation to Success) นายกฯเศรษฐา ยังเผยทิ้งท้ายว่า การจะทำทุกอย่างให้สำเร็จได้นั้น มีเป้าหมายอย่างเดียวคงไม่พอ การเป็นศูนย์กลางต่างๆ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกคน เป้าหมายความเจริญทางเศรษฐกิจ จะต้องมาพร้อมกับการพัฒนาทางสังคมด้วยกระบวนการทำงานต่างๆ ของภาครัฐ (Transparency) โครงสร้างพื้นที่ฐานที่จับต้องได้ และทางสังคมจะต้องมีการปรับปรุงด้วย  และรัฐบาลจะอัปเกรดระบบงานของรัฐทั้งหมดขึ้นระบบ Cloud เพื่อให้บริการประชาชนได้เร็วยิ่งขึ้น และจะทำระบบ Application SDK มาตรฐานของรัฐ เปิดให้ทั้งภาคประชาชน และเอกชนเข้าใช้งานได้  Digital Wallet เองก็จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของรัฐนี้ ซึ่งอาจจะได้เห็น Start Up ใหม่ๆ เกิดขึ้นจากการใช้บริการจากภาครัฐ และรัฐบาลจะให้ความสำคัญในเรื่องของความเท่าเทียมกัน (Equality) ทั้งเพศสภาพ การประกอบอาชีพ การรักษาพยาบาล รองรับทั้งผู้สูงวัย ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก วัฒนธรรมที่เปิดกว้าง (Soft Power) พร้อมต่อยอด เปลี่ยนไปตามยุคสมัยได้ โดยไม่ละเลยอัตลักษณ์และตัวตน จนสามารถสร้างรายได้ให้ตนเอง โอกาสทางการศึกษา (Education) ที่จะต้องได้รับการพัฒนา

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img