วันอังคาร, มิถุนายน 25, 2024
หน้าแรกNEWS"ประยุทธ์"ห่วงเงินเฟ้อ-สินค้าแพง เผยพยายามหามาตรการมารองรับ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ประยุทธ์”ห่วงเงินเฟ้อ-สินค้าแพง เผยพยายามหามาตรการมารองรับ


นายกรัฐมนตรี ห่วงเรื่องเงินเฟ้อ-สินค้าแพง เผยพยายามหามาตราการมารองรับ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง โอดเรื่องงบประมาณที่ต้องทำหลายอย่าง ปลื้มการท่องเที่ยวดีขึ้น

เมื่อวันที่ 12 เม.ย.65 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตนได้เน้นย้ำในที่ประชุม ครม. เรื่องราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องมาจากสถานการณ์โลกด้วยที่ควบคุมได้ยาก ปัจจัยความขัดแย้งระหว่างกันที่คาดว่าอาจจะยังไม่ยุติโดยเร็ว ทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะน้ำมัน ก๊าซ ปุ๋ย อาหารสัตว์ และอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องเงินเฟ้อที่ตนเป็นห่วงตรงนี้ ตนเข้าใจดีถึงประชาชนที่เดือดร้อน เดิมเราเคยหารายได้ได้เท่านี้ แล้วใช้จ่ายเรื่องอุปโภคบริโภคไม่กี่เปอร์เซ็นต์ก็อยู่ได้ แต่เมื่อวันนี้ราคาสินค้าแพงขึ้น รายจ่ายจึงมากขึ้น ตนพยายามจะหามาตรการมารองรับตรงนี้ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะคงทราบดีถึงปัญหาเรื่องงบประมาณที่ต้องทำหลายอย่างด้วยกัน ข้อสำคัญเราไปหยุดยั้งเรื่องการลงทุนของภาครัฐไม่ได้มากนัก เนื่องจากเป็นโครงสร้างสำคัญที่ให้ทุกคนได้ทำประโยชน์
นอกจากนี้สิ่งที่ตนเป็นห่วงมากที่สุดคือ เกษตรกร จะมีผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปถึงผู้ประกอบการ สุดท้ายจะกลับมาที่ผู้บริโภค ตนได้ให้ทุกกระทรวงได้มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนแล้ว หลักการสำคัญคือ สินค้าต้องไม่ขาดตลาด ไฟฟ้าไม่ดับ ราคาต้องไม่สูง ต้องมีการปรับราคาของสินค้าที่ควบคุมทั้งหมด 18 หมวด ส่วนเรื่องช่องทางการส่งออก การส่งผลไม้และสินค้าไปประเทศจีนที่ล่าช้านั้น ขณะนี้กำลังแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ด้วยการหารือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล วันนี้การขนส่งสินค้าทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น มีการเคารพหลักการซึ่งกันและกัน มีการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง ลดขั้นตอนลง อาจจะมีการตรวจสอบในประเทศต้นทางของเราก่อน เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาที่นั่น ต้องเป็นข้อตกลงของเราสองฝ่าย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมยังมีการสรุป เรื่อง 10 มาตรการในการช่วยประชาชนด้านพลังงาน โดยมีการอนุมัติไปแล้ว และหลายโครงการเริ่มดำเนินการไปแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ เห็นผลจากการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางที่หาเช้ากินค่ำหลายล้านคน ตรงนี้น่าจะพอประคับประคองให้เราผ่านภาวะนี้ไปอย่างดีที่สุด นอกจากนี้ ครม.ยังพิจารณาหลายเรื่องที่สำคัญ ทั้งเรื่องการสร้างรายได้ การขีดความสามารถด้านการแข่งขัน การบริหารสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาคุณชีวิต การอำนวยความสะดวกของประชาชน


ส่วนเรื่องโควิดเราต่อสู้โควิด-19 มาแล้วนานกว่า 2 ปี วันนี้หลายอย่างเริ่มคลี่คลายจากผลสำเร็จของเราในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น การสนับสนุนรถยนต์อีวี ทั้งรถยนต์ส่วนตัว รถประจำทางต่างๆ ก็เริ่มจัดหาเข้ามาใหม่ ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่เราจะนำด้วย BCG เศรษฐกิจหมุนเวียน บนพื้นฐานที่สมดุล ยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมไปด้วย ลดโลกร้อน ลดคาร์บอน การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ดิจิทัล การสร้างเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อจะพัฒนานวัตกรรมของเราให้มีรายได้สูงขึ้น รายได้เข้าประเทศมากขึ้น รัฐบาลได้วางโครงสร้างเหล่านี้มาโดยตลอดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางหลวง เส้นทางรถไฟ รถไฟฟ้าทั่วประเทศทั้ง กทม.และภูมิภาค


นายกฯ กล่าวว่า กุญแจสำคัญของความกินดีอยู่ดีของประชาชนคือ การเพิ่มรายได้ ที่จะต้องควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินและความยากจนอย่างยั่งยืนไม่เชิงรุก วันนี้มีหลายหน่วยงานที่ออกมาแก้ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ประนอมหนี้ การเจรจาไกล่เกลี่ย ทางกระทรวงยุติธรรมและหลายๆ หน่วยงานกำลังทำในเรื่องนี้ และมีความสำเร็จในหลายพันราย ขอให้ทุกกระทรวงนำแบบอย่างไปทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในเรื่องเกษตรต้องดูว่าจะทำอย่างไรเกษตรกรถึงจะอยู่ได้ ไม่ใช่เฉพาะวันนี้ แต่ต้องวันหน้าด้วย เราอยากจะขับเคลื่อนนโยบายในเรื่องเกษตรอัจฉริยะ

นายกฯ กล่าวว่า อีกอย่างที่มีความก้าวหน้าในช่วงนี้คือ เรื่องท่องเที่ยวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับรายงานว่ามีคนเข้าประเทศมากพอสมควร ทำให้หลายธุรกิจเติบโตเพิ่มขึ้น จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานลงไปแก้ปัญหาหน้างานในเรื่องจะทำอย่างไรให้อำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งหมดต้องทำตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ต้องค่อยๆ ดูว่าจะเดินหน้าอย่างไร ฉะนั้น ยินดีกับผู้ประกอบการธุรกิจหลายประเภทที่ได้รับผลดีในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะภาคโรงแรม ภาคบริการ สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ทราบว่ามีสถิติการจองเพิ่มสูงขึ้น เป็นโอกาสพวกเรา ฉะนั้นเราจึงต้องดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img