วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2024
หน้าแรกHighlightเปิดหนังสือ‘กฤษฎีกา’ตอบคุณสมบัติรมต. อำนาจชี้ขาดอยู่ที่‘ศาลรธน.’-‘พิชิต’เสี่ยง!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดหนังสือ‘กฤษฎีกา’ตอบคุณสมบัติรมต. อำนาจชี้ขาดอยู่ที่‘ศาลรธน.’-‘พิชิต’เสี่ยง!!

เปิดหนังสือตอบกลับจาก “กฤษฎีกา” ถึง “เลขาฯครม.” กรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรมต. บอกชัดเจน “การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุด” เป็นหน้าที่และอำนาจของ “ศาลรธน.” แต่ “นายกฯ” กลับหยิบมาอ้างว่า “กฤษฎีกา” บอกไร้ปัญหาปมคุณสมบัติของ “พิชิต ชื่นบาน”

จากกรณีที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ก.ย.2566 ตอบกลับไปยังเลขาธิการคณะรัฐนตรี โดยมีเนื้อหาระบุว่า “คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง และมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ หนึ่ง เห็นว่า มาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยใน(6) ของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 (7) กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่า “เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้งเว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลทุโทษ” ดังนั้น การได้รับโทษจำคุกไม่ว่าโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งใด จึงเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เว้นแต่บุคคลนั้นได้พ้นโทษเกินสิบปีแล้ว หรือได้รับโทษจำคุกในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ อันเป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ประเด็นที่สอง เห็นว่า มาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก ดังนั้น ผู้ซึ่งจะด้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก

ทั้งนี้ การให้ความเห็นในกรณีนี้เป็นการตอบข้อหารือตามที่ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีชี้แจงต่อกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ว่าประสงค์จะขอหารือเฉพาะกรณีมาตรา 160 (6)ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เท่านั้น

อนึ่ง ข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอันเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นในกรณีนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากหนังสือตอบกลับนี้ ส่งผลให้สถานะการดำรงตำแหน่งของนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังสุ่มเสี่ยงว่าเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ โดยที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า “มั่นใจในข้อกฎหมายเรื่องคุณสมบัติของนายพิชิต เพราะได้ถามคณะกรรมการกฤษฏีกาเรียบร้อยแล้ว ก็มั่นใจ” แต่เมื่อปรากฎหนังสือตอบกลับของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กลับระบุชัดเจนในตอนท้ายของหนังสือว่า “ข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอันเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ” จึงทำให้สถานะการเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต ชื่นบาน ยังเป็นที่สับสนและกังขาว่า มีความเหมาะสมที่จะเป็นรัฐมนตรี โดยไม่ขาดคุณสมบัติจริงหรือไม่ จากกรณีที่เคยมีคดีกรณีถุงขนมสินบน 2 ล้านบาท

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img