“ศรีสุวรรณ”ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาล รธน.วินิจฉัย 5 พรฎ.ลดโทษนักการเมืองคดีโกงชอบหรือไม่ ระบุเพื่อยับยั้งกระบวนการฟอกตัวนักการเมือง
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.64 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230(1) เพื่อขอให้นำความส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฯ 5 ฉบับที่ออกมาหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ม.50 (10) และ ม.63 หรือไม่
ทั้งนี้สืบเนื่องจากมีการคัดค้านการลดโทษหรือขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขังคดีทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการจัดชั้นนักโทษ ซึ่งอยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม แม้นายกรัฐมนตรีจะตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมา 1 คณะ ทำหน้าที่ตรวจสอบในกระบวนการและการจัดชั้นนักโทษ รวมถึงให้ทำหน้าที่เสนอแนะว่าควรจะกำหนดหลักเกณฑ์อะไร อย่างไร ในการขอพระราชทานอภัยโทษในคราวต่อๆไป แต่ก็ยังไม่อาจเชื่อใจได้ว่าจะมีบทสรุปออกมาเป็นเช่นใด และคณะกรรมการราชทัณฑ์ ที่มี รมว.กระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 จะเห็นชอบด้วยหรือไม่
ขณะนี้มีข้อสังเกตว่า ตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นต้นมามีการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแล้วถึง 5 ครั้ง ซึ่งการพระราชทานอภัยโทษนั้น เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลตามราชประเพณีในวาระสำคัญของบ้านเมือง ที่ทุกรัฐบาลจะดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่เมื่อพิจารณาบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฯ ต่าง ๆ ข้างต้นทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมาพบว่า มีการสอดแทรกหลักเกณฑ์และความผิดในบางความผิดที่อาจจะไม่เหมาะสม อาจขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 ม.63 อันไม่ควรที่จะได้รับการอภัยโทษมารวมอยู่ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวด้วย อาทิ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เป็นต้น
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจำต้องนำความมาร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.230(1) เพื่อขอให้นำความส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฯ 5 ฉบับที่ออกมาหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งใช้อำนาจตามความใน ม.175 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ม.50 (10) และ ม.63 หรือไม่ เพื่อยับยั้งกระบวนการฟอกตัวนักการเมืองและข้าราชการขี้โกง มิให้ต้องโทษเต็มจำนวนตามที่ศาลมีคำพิพากษาต่อไป