วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2024
หน้าแรกHighlight“ท่องเที่ยว-การบริโภคเอกชน”ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโต 3.6%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ท่องเที่ยว-การบริโภคเอกชน”ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโต 3.6%

ธปท.คาดเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.6% แรงขับเคลื่อนจากท่องเที่ยว-การบริโภคเอกชนเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกติดลบ คาดฟื้นตัวในปีหน้า

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าขยายตัว 3.6% และปี 67 โต 3.8% โดยมีแรงส่งที่สำคัญจากภาคการท่องเที่ยว คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาส 1 ปีนี้ มากกว่าที่คาดไว้ในเกือบทุกสัญชาติ โดยทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ระดับ 29 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 35.5 ล้านคนในปี 67

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในทุกกลุ่มอาชีพปรับดีขึ้น ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยปีนี้ติดลบ 0.1% จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่คาดว่าจะดีขึ้นในครึ่งปีหลัง และจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ระดับ 3.6% ในปี 67

“ปัจัยที่เป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวมีมากกว่าที่คาดไว้ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยง คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ”

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-3% ซึ่งเป็นการลดลงจากแรงกดดันด้านอุปทานที่เริ่มลดลงจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันในประเทศ ขณะที่ราคาอาหารสด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คาดว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังทรงตัวในระดับสูงเมื่อเทียบกับอดีต และลดลงช้าเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยคาดว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 2%

สำหรับปัจจัยที่อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่ากรณีฐาน คือ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจสูงและเร็วกว่าคาด จากต้นทุนที่ผู้ประกอบการยังไม่ได้ส่งผ่าน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่อาจฟื้นตัวได้มากกว่าคาด และราคาอาหารสดที่สูงขึ้น ตามการเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะต่อไป ซึ่งจะมีผลต่อแรงกดดันทั้งด้านอุปทานและด้านอุปสงค์ที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้ เช่น นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 10 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือ 10% อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี ปรับเพิ่มขึ้นได้อีก 0.50% จากระดับที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ การคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ได้รวมปัจจัยเสี่ยงเรื่องผลกระทบจากสถานการณ์เอลนิโญไว้แล้ว

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมาเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ครั้งถัดไปเดือนส.ค. การพิจารณาให้เกิดความสมดุลทั้งเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงิน  ซึ่งมีเวลาอีก 1 เดือนครึ่งก่อนที่จะมีการประชุมเมื่อถึงเวลานั้น ก็จะมีข้อมูลอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มเติมในการประกอบการพิจารณาได้อีก

ส่วนความกังวลว่าในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ นโยบายการคลังอาจไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่นั้น ได้ใช้กรอบงบประมาณที่อนุมัติไว้แล้วในปี 66 และ 67 ที่ใช้เป็นฐานไปก่อน และค่อนข้างชัดเจนว่างบประมาณปี 67 อาจจะล่าช้าไป 1 ไตรมาส และเห็นว่ายังมีเวลาพอที่จะรอดูความชัดเจนของรัฐบาลก่อน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img