วันเสาร์, พฤษภาคม 18, 2024
หน้าแรกNEWS“อดีตคณบดีมธ.”บุกร้องร้องศาลปกครอง เพิกถอนระเบียบแนะนำตัวสว.-เงื่อนไขแคบเกิน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“อดีตคณบดีมธ.”บุกร้องร้องศาลปกครอง เพิกถอนระเบียบแนะนำตัวสว.-เงื่อนไขแคบเกิน

“อดีตคณบดีมธ.” พร้อมว่าที่ผู้สมัคร สว. ร้องศาลปค.กลาง เพิกถอนระเบียบแนะนำตัว โวยกกต.กำหนดเงื่อนไขแคบเกิน ขัดหลักปชต.”ชลณัฏฐ์” ปัดเป็นสว.สีส้ม ย้ำอุดมการณ์ตรงกับพรรคการเมืองใดก็ไม่แปลก ด้าน”ยิ่งชีพ” หวังเว็บsenate67 ได้คัมแบ็คหากศาลสั่งคุ้มครอง

วันที่ 30 เม.ย.2567 นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ประสงค์จะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พร้อมคณะ เข้ายื่นฟ้องกกต.ต่อศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 และขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อให้มีคำสั่งระงับการบังคับใช้ระเบียบฯดังกล่าวไว้ก่อน

นายพนัส กล่าวว่า ระเบียบกกต.ที่ออกมามีประเด็นที่อยากให้ศาลปกครองวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องการแนะนำตัวผู้สมัคร โดยเฉพาะข้อที่ 7,8 และข้อ 11 โดยเฉพาะข้อห้ามในเรื่องของการแนะนำตัวผ่านสื่อทุกชนิด รวมไปถึงโซเชียลมีเดียด้วย ซึ่งเราคิดว่ากกต.ไม่มีอำนาจมากำหนดและจำกัดสิทธิในการแนะนำตัวผู้สมัคร ระเบียบกกต.ที่ออกมาเป็นการจำกัดสิทธิพวกเรามากเกินไป

“เราทราบดีว่าระเบียบนี้ยังไม่ได้บังคับใช้เนื่องจากต้องรอพระราชกฤษฎีกา แล้วต้องรอให้เราเป็นผู้สมัคร วันนี้ยังไม่เป็นผู้สมัครแต่เป็นผู้ที่ประสงค์จะเข้ามาสมัคร จึงมองว่าควรมีสิทธิเสรีภาพในการแนะนำตัวให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป เพราะตามรัฐธรรมนูญสว.ต้องเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ซึ่งในคำร้องได้ขอให้ศาลมีการไปสวนฉุกเฉิน มองว่ายิ่งศาลไต่สวนเร็วเท่าไหร่ได้ก็ยิ่งดี

“อย่างผมเองผมก็แนะนำตัวเอง อาจเป็นคนแรกๆที่แนะนำตัวผ่านเฟซบุ๊ก ว่าผมตั้งใจจะลงสมัครสว. พอมีระเบียบนี้มันก็เป็นประเด็นขึ้นมาว่าเราจะสามารถทำสิ่งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เราต้องการให้สิ่งนี้ชัดเจนขึ้นมา มองว่ากกต.ไม่น่าจะมีอำนาจ ในการกำหนดเงื่อนไขในการแนะนำตัวได้แคบถึงเป็นระบบปิด อำนาจของกกต.กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกจำกัดในการที่ออกระเบียบนี้มา มีความสมดุลมากน้อยแค่ไหน”

เมื่อถามว่า หากศาลไม่รับคำร้องจะดำเนินการอย่างไร นายพนัส กล่าวว่า ต้องรอดูคำสั่งของศาลว่าเราจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองหมายความว่าเป็นการคุ้มครองผู้ฟ้องนั่นพวกเรา และข้อบังคับในระเบียบของกกต.ก็จะไม่มีผลต่อพวกเรา

นายพนัส ยังเห็นว่า ระเบียบฯดังกล่าว กระทบต่อพวกตนโดยตรง ไม่สามารถใช้เสรีภาพในการแนะนำตัวเองได้เลย ที่สำคัญที่สุด คือเป็นการปิดปากมัดมือมัดเท้าพวกเรา ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้มีอิทธิพลไม่ว่าจะเป็นในระดับอำเภอ จังหวัด หรือประเทศ
ส่วนที่มีการวิเคราะห์กันว่าระเบียบนี้เป็นการสกัดสว.สีส้ม นายพนัส กล่าวว่า เราไม่ได้พิจารณาในประเด็นสีส้มหรือสีอะไร เราแค่อยากจะยึดตามสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ตามระบอบประชาธิปไตย ควรจะเป็นระบบเปิดเพราะเป็นสิทธิของคนไทยทุกคน แต่กลายเป็นว่าการจะมีสว. 200 คน ประชาชนไม่รู้เรื่องอะไรเลย ซึ่งมันไม่น่าจะถูกต้องกับหลักของประชาธิปไตย”

ส่วนที่กกต.ระบุว่าได้เก็บข้อมูลผู้ประสงค์ที่จะลงสมัครในเว็บไซต์ Senate67 และพร้อมเอาผิด หากพบว่ามีมูล นายพนัส มองว่านี่เป็นการข่มขู่อย่างชัดเจน โดยเฉพาะกกต.ไม่ได้บอกว่ามีอำนาจอะไรที่สามารถดำเนินการอย่างนั้น และตนได้ฟังข่าวเมื่อเช้าวันนี้ (30 เม.ย.) ก็เห็นว่าสามารถแนะนำตัวผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวได้ เพียงแต่ว่าห้ามชี้นำ หรือฮั้วกัน หากเป็นจริงตามข่าวก็แสดงว่ากกต.ยอมรับว่าสามารถทำได้ โดยประเด็นน่าเป็นห่วงคือ มาตรา 36 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. มีการกำหนดโทษไว้ว่าถ้ากระทำการผิดเงื่อนไขหรือวิธีการที่กกต.กำหนดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ดังนั้นจึงต้องพิจารณาให้ดี ว่าระเบียบที่กกต.ได้ออกมาเป็นเรื่องที่สำคัญมากหรือไม่ ถึงขนาดว่าถ้าทำผิดเงื่อนไข พวกเราจะต้องติดคุกเป็นปี และถูกตัดสิทธิทางการเมืองหรือซึ่ง สิ่งที่เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ควรมีโทษมากขนาดนี้ และมองว่าการจะแนะนำตัวได้ต้องมีการออกสื่อดังนั้นหากจะผิดก็ควรจะผิดไปถึงสื่อมวลชน

ด้านน.ส.ชลณัฏฐ์ โกยกุล ผู้ที่ประสงค์รับเลือกเป็นสว. กล่าวถึง ว่าตัวระเบียบและกฎหมายขัดแย้งกัน โดยยกตัวอย่างว่าผู้สมัครไม่สามารถหาเสียงแนะนำตัวกับประชาชนทั่วไปจึงเกิดคำถามว่า ในการดำเนินการจะมีการแยกอย่างไร ว่าใครเป็นผู้สมัครบ้าง โดยเฉพาะwww.senate67.com ถูก กกต.สั่งปิด ซึ่งกกต.ข่มขู่ให้เอาลง ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่ากลุ่มที่แสดงเจตจำนงในการสมัครนี้ไม่ได้มีสี ไม่ว่าจะส้มหรือสีใดตามที่มีข้อสังเกต และย้ำถึงความเป็นอิสระ แต่หากหลักการอุดมการณ์ในการทำหน้าที่ไปตรงกับกลุ่มพรรคการเมืองใดก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

นอกจากนี้ ยังห่วงการทำหน้าที่สื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวด้วยระเบียบที่ซับซ้อนและมีข้อจำกัด โดยเฉพาะมีผู้เตรียมสมัคร สว.ซึ่งเป็นผู้ประกาศข่าวหรือ เป็นผู้ก่อตั้งสำนักข่าว ที่มีข้อห้ามว่าไม่ให้ผู้สมัครให้สัมภาษณ์ออกสื่อ จะทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะฝ่าฝืนระเบียบ ถูกตัดสิทธิ์การสมัคร แต่กฎหมายไม่ได้ระบุฐานความผิดไว้ว่าขัดต่อมาตราใด

ด้านนายยิ่งชีพ อัชชานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวว่า ไอลอว์มีความตั้งใจ ทำ senate67.com ช่วย กกต. ประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับกติกาการเลือกสว และข้อมูลผู้สมัคร สว.ว่ามีใครบ้าง เพื่อให้ผู้สมัครมีพื้นที่ในการออกสื่อสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับผู้สมัคร เพื่อจะได้ติดตามข่าว

แต่ระเบียบของ กกต.ที่ออกมา ไม่มีความชัดเจน ว่าสามารถทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ ส่วนตัวเชื่อว่า การทำเว็บไซต์ที่ทำมาก่อนหน้านี้สามารถทำได้ เพราะอะไรที่กฎหมายไม่ได้สั่งห้าม สามารถทำได้ แต่ผู้สมัครหลายคนที่ให้ข้อมูลกับเว็บไซต์ดังกล่าว กังวลว่าจะถูก กกต.ตีความกลายเป็นความผิด ทำให้ไอลอว์ ตัดสินใจนำข้อมูลทั้งหมดออก

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้อีก 1-2 วัน ระบบจะกลับมา หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้มีฟังก์ชันในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร สว. พร้อมยืนยันว่าข้อมูลผู้สมัครทั้ง 1,300 กว่าคนยังเก็บอยู่ในชั้นความลับ ไม่มีการจัดตั้ง หรือเข้าถึงข้อมูลได้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img