หลังจากมีการประโคมว่า “ครูกายแก้ว” เป็นอาจารย์ของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทำให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ นำหลักฐานออกมาตอบโต้เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นการบิดเบือนความเชื่อให้อยู่เหนือความจริง
“เทพมนตรี ลิมปพยอม” นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ที่แท้ กายแก้ว มาจาก การ์กอยส์
แปลกแต่จริงที่มีคนหลงเชื่องมงายได้เพียงนี้ โดยไม่ไปศึกษาหาความรู้ก่อนที่จะเชื่อสิ่งใด จึงอาจกลายเป็นเหยื่อถูกล่อลวง มอมเมาเข้าสู่ความมีอคติต่อความเชื่อ ความดีในทางศาสนา
กายแก้ว อาจมีที่มาคือการ์กอยส์ ซึ่งเป็นสัตว์ผสมหากินกลางคืน เป็นมารกึ่งอมนุษย์ – มังกร ที่ปกปักษ์รักษาผู้คนตามความเชื่อของชาวยุโรป เป็นเครื่องประดับอาคารสถานต่างๆบริเวณที่เรียกว่า ปนาลี ช่องรางน้ำทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส
แน่นอนว่า ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชกัมพูชาในอดีต และย่อมไม่เกี่ยวข้องอะไรเลย ที่พยายามทำรูปลักษณ์ให้เป็นยักษามีปีก
สังคมไทยไปไกลสุดกู่ เอาทุกอย่างมาบูชาปะปนกันโดยความไม่รู้เรื่องจริง
เช่นเดียวกับ “ศาสตราจารย์ พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ” ได้โพสต์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ข่าวเรื่องครูกายแก้ว ว่าเป็นรูปเคารพที่ได้รับความนับถือในหมู่คนจำนวนหนึ่ง นัยว่าครูกายแก้วนี้เป็นครูบาอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ ยังไม่เคยเห็นหลักฐานยืนยันได้แน่นอน ว่าเล่าลือกันมาจากที่ไหน
ความเลื่อมใสในเรื่องอย่างนี้ แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่สามารถบ่งบอกถึงความไม่มั่นคงทางจิตใจของสมาชิกในสังคมได้ในระดับหนึ่ง และถ้าไม่เกรงใจกันแล้ว ก็ต้องบอกว่าเป็นระดับที่สูงมากเสียด้วย
รูปอะไรก็ไม่รู้ที่กราบไหว้กันอยู่นี้ มองในทางศิลปะก็สอบไม่ผ่านแน่ จะว่าเป็นมนุษย์ก็เห็นจะไม่ใช่ จะเป็นสัตว์ก็ไม่เชิง ดังนั้น ยังนึกไม่ออกว่าการไปบูชารูปปั้นอย่างนี้จะเป็นสวัสดิมงคลได้อย่างไร แถมเกรงว่าจะเกิดผลตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ
สำหรับประเพณีบ้านเมือง สถานการณ์อย่างนี้คล้ายกับที่คนแต่โบราณท่านพูดว่า ผีป่าก็จะวิ่งมาสิงเมือง ยิ่งนัก เฮ้อ !”
ขณะที่ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์” อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์ว่า หากวิเคราะห์ถึงมุมมองของสังคมไทยที่มัก “ข้ามข้อเท็จจริง” เมื่อสิ่งนั้นถูกเรียกว่า “ความเชื่อ” นำไปสู่คำถามสำคัญว่า ทำไมอยู่ๆ จึงเกิดปรากฏการณ์ในทำนองนี้ในช่วงเวลานี้
ถึงครูกายแก้วไม่ได้เป็นเทพ ไม่ใช่ครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไม่ได้สลักสมัยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ถ้าอ้างอิงว่ามาจากภาพสลักที่นครวัด แท้จริงก็มีสถานะเป็นท้าวพาณอสูรเท่านั้นก็ตาม
แต่สังคมไทยที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่า เมื่อเป็นเรื่องความเชื่อแล้ว ก็มักจะข้ามข้อเท็จจริงไป เพราะบางอย่างถ้าคลุมเครือ จะช่วยให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์มากกว่า ด้วยมีความลึกลับที่ซ่อนอยู่
เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ คือ ปรากฏการณ์จตุคามรามเทพ ปรากฏการณ์ความเชื่อพวกนี้ มักเกิดในช่วงที่เกิดปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ หรือในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน ที่คนในสังคมรู้สึกขาดหลักประกันความมั่นคง สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ครูกายแก้วจึงกลายเป็นกระแสในสังคมได้
ก่อนหน้านี้ มีการถกเถียงกันอย่างหนักจากนักประวัติศาสตร์ ที่ออกมาอ้างอิงหลักฐานศิลาจารึก ที่ใช้เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า ครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีแค่บุคคลที่ชื่อ “ศรี ชัยมังคลารถะเทวะ” และ “ศรี ชัยกีรติเทวะ” ปรากฎชื่อจารึกปราสาทตาพรหม ในเมืองพระนครธม และไม่เคยมีบุคคลที่ “กายแก้ว” เลย
นอกจากนี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยังทรงศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างมาก ไม่มีหลักฐานระบุว่าทรงมีความเชื่อในไสยศาสตร์ที่มีครูเป็นบุคคลรูปร่างเป็นอมนุษย์อย่างครูกายแก้ว…แต่อย่างใด
…………….
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม