วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2024
หน้าแรกNEWSครม.ไฟเขียวแก้ไขพ.ร.บ.โรคติดต่อ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ครม.ไฟเขียวแก้ไขพ.ร.บ.โรคติดต่อ

ครม.อนุมัติหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.โรคติดต่อ เพิ่มประสิทธิภาพแก้ปัญหาโควิด-19 กำหนดให้ผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายที่เกิดขึ้น ต้องแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรค ไม่แจ้งมีความผิดต้องรับโทษ ตามที่กฎหมายกำหนด

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ เพื่อให้มาตรการทางกฎหมายมีความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และโรคติดต่ออื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ให้แยกกักหรือกักกันโรค หรือผู้ที่ไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคเมื่อพบว่า ตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อ  เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศหลีกเลี่ยงการกักตัวโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งหลังจากครม.อนุมัติหลักการแล้วจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมมีดังนี้คือ 1. กำหนดให้อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจประกาศท้องที่หรือเมืองท่านอกราชอาณาจักรที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อหรือโรคระบาดเฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉินอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อไม่ให้แพร่เข้ามาในราชอาณาจักร 2.กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การได้มา เข้าถึง การเก็บรักษา การนำไปใช้ การกำกับดูแล หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ของผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรคหรือผู้ที่เป็นพาหะ

3.กำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค  และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่กักกัน หรือ แยกกักโรค และมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขซึ่งมีอำนาจดำเนินการในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หรือในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น และแพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง  

4.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจสั่งการหรือมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในพื้นที่ของตน รวมทั้งมีอำนาจสั่งการผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค 5. กำหนดเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออกให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

6.ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น กำหนดให้ผู้ที่พบว่าตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าวมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ 7.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งห้ามผู้ใดทำกิจกรรมหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ของโรค รวมทั้งมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง  หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่ใดๆ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันการแพร่ของโรค

8.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด  หรือกรณีที่โรคได้แพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งให้ผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดดำเนินการ หรือละเว้นการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน  และควบคุมโรคติดต่อได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม  และ 9.กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามคำสั่ง หรือข้อกำหนดตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img