วันจันทร์, พฤษภาคม 27, 2024
หน้าแรกNEWS“ราคาน้ำมัน-อาหาร”ร่วง ฉุดเงินเฟ้อก.ค. โตเพียง 0.38%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ราคาน้ำมัน-อาหาร”ร่วง ฉุดเงินเฟ้อก.ค. โตเพียง 0.38%

“พาณิชย์” เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. โตต่ำ เพียง 0.38% ส่งผล 7 เดือน โต 2.19% ชะลอตัวลงสู่กรอบตามเป้าหมาย จากน้ำมันเชื้อเพลิง-สินค้าหมวดอาหาร ราคาลดลงต่อเนื่อง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนก.ค. 2566 สูงขึ้นเพียง 0.38% ซึ่งอยู่ระดับต่ำกว่า 1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (นับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2566) ปัจจัยสำคัญยังคงมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เนื้อสุกร และเครื่องประกอบอาหาร ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค.) ปี 2566 สูงขึ้น 2.19% ทยอยปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายละเอียด พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้อยู่ในระดับต่ำ มาจากการลดลงต่อเนื่อง ของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ลดลงค่อนข้างมากถึง 7.92% ส่งผลให้หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.38% ขณะที่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว อยู่ที่ 1.49% จากเดิม 3.37% ในเดือนมิ.ย. 2566 จากการลดลงต่อเนื่องของราคาเนื้อสุกร และเครื่องประกอบอาหาร อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่มผักและผลไม้ อาทิ มะนาว ขิง มะเขือ เงาะ แตงโม และส้มเขียวหวาน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก 

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.86% ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าแรงกดดัน ของต้นทุนการผลิตมีสัญญาณคลี่คลาย ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย7 เดือน 
(ม.ค. – ก.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 2.19% ทยอยปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
ปี 2566 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี จะอยู่ในช่วงที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ ที่ระดับ 1– 2%  

ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนมิถุนายน 2566) ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีทิศทางชะลอตัวสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลก และไทยยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำต่อเนื่องจากเดือนก่อน อีกทั้งยังต่ำที่สุดในอาเซียนอีกด้วย  

ส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศพบว่า อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ได้แก่ สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ เวียดนาม ” นายพูนพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงเฝ้าระวังความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สถานการณ์ภัยแล้ง เศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชน และอัตราเงินเฟ้อ เพื่อที่จะได้สามารถกำหนดนโยบายช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพต่อไป

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img