วันเสาร์, พฤษภาคม 18, 2024
หน้าแรกHighlightเงินบาทผันผวน จับตารายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เงินบาทผันผวน จับตารายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ

เงินบาทเปิดตลาดแข็งค่าที่ระดับ 35.28 บาทต่อดอลลาร์ หลังดอลลาร์อ่อนรับข่าวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน จับตารายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.27 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.28 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 35.09-35.34 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 35.10 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน (ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ออกมาดีกว่าคาด แต่ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ กลับออกมาแย่กว่าคาดไปมาก)

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็พลิกกลับมาผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินสหรัฐฯผันผวน นอกจากนี้โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงสู่โซนแนวรับระยะสั้น ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงเช่นกัน

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาผสมผสาน ทำให้ผู้เลนในตลาดบางส่วนกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวกลับหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯใหญ่ (The Magnificent Seven) อาทิ Nvidia +2.3%, Apple +2.1% ต่างปรับตัวขึ้นตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่าเฟดจะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่การประชุมเดือนมีนาคมปีหน้า ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.06% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.31%

ส่วนในตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้น +0.40% หนุนโดยความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) บางส่วนที่ออกมาส่งสัญญาณว่า ECB ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว สอดคล้องกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ECB ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้วและจะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า ส่งผลให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและบอนด์ยีลด์ ต่างปรับตัวขึ้นได้ อาทิ LVMH +2.1%, ASML +2.0%

ด้านตลาดบอนด์ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดจะออกมาผสมผสาน ทว่าผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1.25% ในปีหน้า และเฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ก็มีส่วนทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯย่อตัวลงใกล้ระดับ 4.16% ทั้งนี้เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์สหรัฐฯมีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่างยอดการจ้างงานออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม หากบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เรายังคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (เน้นกลยุทธ์รอจังหวะ Buy on Dip)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาผสมผสานและผู้เล่นในตลาดจะยังคงเชื่อว่าเฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า โดยเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินผันผวน และการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ECB ก็จะลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้าเช่นกัน ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104 จุด (กรอบ 103.6-104.1 จุด)

ส่วนราคาทองคำ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯจะทยอยย่อตัวลง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนก.พ.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนรอจังหวะทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าวและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ของสหรัฐฯ ซึ่งข้อมูลดังกล่าว อาจสามารถสะท้อนแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในคืนวันศุกร์นี้ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งอาจช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานในช่วงนี้ รวมถึง การปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่ 4 (GDPNow) โดย Atlanta Fed

ส่วนยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของยูโรโซน ในเดือนตุลาคม เพื่อช่วยประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของ ECB

สำหรับแนวโน้มของ ค่าเงินบาท มีความเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง จากทั้งโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงความผันผวนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังมีโอกาสทยอยขายสินทรัพย์ไทยได้บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีน และเลือกที่จะทยอยขายสินทรัพย์ในฝั่งตลาดเกิดใหม่ (EM)

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯในวันศุกร์นี้ โดยเรามองว่า โซน 35.30-35.40 บาทต่อดอลลาร์ อาจพอเป็นแนวต้านระยะสั้นได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ และมีโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านสำคัญถัดไป ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม ทำให้ เงินบาทก็อาจยังมีโซนแนวรับแถว 35.10-35.15 บาทต่อดอลลาร์ ในระยะสั้นนี้

ทั้งนี้ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงิน ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ซึ่งผู้เล่นในตลาดอาจใช้มาประเมินทิศทางของยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในคืนวันศุกร์นี้ได้

อย่างไรก็ตาม ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.35 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img