วันเสาร์, พฤษภาคม 18, 2024
หน้าแรกHighlightเงินบาทกลับทิศแข็งค่า เฟดตรึงดอกเบี้ยตามคาด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เงินบาทกลับทิศแข็งค่า เฟดตรึงดอกเบี้ยตามคาด

ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 35.14 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นแรง” หลังเฟดตรึงดอกเบี้ย ตามตลาดคาดการณ์ 5.25-5.50% กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงหนักสวนทางทองคำรีบาวด์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.14 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นแรง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.11-35.78 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงเล็กน้อยก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด และพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด ที่มีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ณ ระดับ 5.25-5.50% ตามคาด

ขณะที่มุมมองของเฟดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยในอนาคตผ่าน Dot Plot และถ้อยแถลงของประธานเฟด ก็ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลต่อแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ไปพอสมควร ซึ่งภาพดังกล่าวได้กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ปรับตัวลงหนัก ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นแรง ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) หลังเฟดคงอัตราดอกเบี้ยตามคาดและคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด (Dot Plot) ก็ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลต่อแนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.37%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.06% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟด รวมถึงผลการประชุมของ BOE และ ECB ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบปรับเปลี่ยนสถานะถือครองสินทรัพย์เสี่ยง

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดล่าสุด (Dot Plot) จะสะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีหน้า ทว่าบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้เร็วและลึกกว่าที่เฟดประเมินไว้ใน Dot Plot ล่าสุด โดยจาก CME FedWatch Tool บรรดาผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า เฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมีนาคมหน้า และเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1.50% โดยมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาด ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงหนัก เข้าใกล้ระดับ 4.00% ทั้งนี้เรามองว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ได้สะท้อนภาพการลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดกำลังประเมิน ทำให้มีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ อาจผันผวนสูงขึ้นได้ ในกรณีที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดต้องปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอีกครั้ง ดังนั้นเราจึงมองว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว มากกว่าจะไล่ราคาซื้อ จนกว่าจะเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชัดเจน เช่น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้น ต่ำกว่า 1 แสนราย หรือ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 2 ล้านราย

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเร็วและแรง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผลการประชุมเฟดล่าสุด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นและลึกกว่าที่เฟดระบุไว้ใน Dot Plot ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 102.9 จุด (กรอบ 102.7-104 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง แต่มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงในปีหน้าได้พอสมควร จนทำให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ต่างปรับตัวลดลงชัดเจน ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนก.พ.) รีบาวด์ขึ้นแรงสู่ระดับ 2,045 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยผู้เล่นในตลาดจะจับตาว่า ทั้งสองธนาคารกลางจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย เหมือนกับเฟดหรือไม่ พร้อมกันนั้น ทั้ง BOE และ ECB จะมีการเริ่มส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยลงในปีหน้า อย่างที่ตลาดกำลังคาดการณ์หรือไม่

นอกจากผลการประชุมธนาคารกลางหลักดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เพื่อประเมินว่า มุมมองของตลาดล่าสุด ที่มองว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้เร็วและลึกกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วและแรงของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้นในการทยอยซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่เปิดสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) ก็อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะดังกล่าวได้บ้าง ทำให้เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจจำกัดอยู่ในโซนแนวรับหลัก 35.00 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ไทยลดลงเช่นกัน ก็อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนทยอยขายทำกำไรบอนด์ไทยได้ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราประเมินได้ หากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยได้ หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจแข็งค่าต่อสู่โซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ได้

ทั้งนี้ ควรระมัดระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE และ ECB ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของสกุลเงินยุโรป ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ได้พอสมควร นอกจากนี้ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะหากออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดโอกาสเฟด “ลด” ดอกเบี้ย เร็วและลึก กว่าที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่ได้บ้าง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้น ส่วนเงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้เช่นกัน

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.25 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img