วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2024
หน้าแรกNEWSเสวนา 90 ปีรัฐสภา!! 2 อดีตปธ.ผิดหวังงานไม่ตอบโจทย์ปชช. “มาร์ค”จวกนายกฯหนีตอบกระทู้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เสวนา 90 ปีรัฐสภา!! 2 อดีตปธ.ผิดหวังงานไม่ตอบโจทย์ปชช. “มาร์ค”จวกนายกฯหนีตอบกระทู้

เสวนา 90 ปีรัฐสภา!! 2 อดีตปธ.ผิดหวัง รัฐสภายังไม่ถึงเป้าทำงานเพื่อปชช. “วันนอร์” เสียดาย ถูก “ขุนศึก-นายทุน” รวมหัวทำรัฐประหารเตะตัดขา ชี้กระทู้ถามสดวัดกึ๋นรัฐบาล “นายกฯ” ควรมาตอบเอง ด้าน “โภคิน” จี้ผู้แทนลุกขึ้นต่อสู้ปิดทางรัฐประหาร ขณะที่ “อภิสิทธิ์” จวกนายกฯ หนีตอบกระทู้ ถามบริหารเวลา 1-2 ชั่วโมงไม่ได้ จะบริหารประเทศได้อย่างไร

วันที่ 27 มิ.ย.65 ที่รัฐสภา จัดเสวนาทางวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี รัฐสภา หัวข้อ “90 ปี รัฐสภา การเดินทางและความหวัง” โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตผูนำฝ่ายค้านในสภาฯ ร่วมเสวนา

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนเข้ามาในรัฐสภาตั้งแต่ปี 2522 โดยได้เป็นประธานรัฐสภาในปี 2539 ทำงานเกี่ยวเนื่องกับรัฐสภามาปีนี้ก็ 43 ปีแล้ว แต่ตนคิดว่าเรายังเดินทางไม่ถึงเป้าหมาย และไม่ถึงความฝัน ยังรู้สึกผิดหวังลึกๆ ในบทบาทของรัฐสภา ที่ควรจะเป็นสภาของประชาชน และเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ต้องเป็นสภาที่ได้เลือกผู้บริหารประเทศอย่างแท้จริง และทำเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ เช่น การกระจายอำนาจ ให้ประชาชนทุกจังหวัดมีสภาจากการเลือกตั้ง และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นของตัวเอง สภาต้องไม่ทำงานให้รัฐบาลกลางอย่างเดียว

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวถึงสิ่งที่ประทับใจในทางบวกของการเดินทางของรัฐสภาตลอด 90 ปี คือ 1.ช่วงที่ตนเป็นประธานสภาฯ คือการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน พ.ศ.2540 ที่มาจากประชาชนจริงๆ เพราะ มี ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง มีความเป็นประชาธิปไตย มีองค์อิสระ และมีส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังมีการกำหนดขอบเขตอำนาจอย่างชัดเจน แต่น่าเสียดายที่ใช้ได้เพียง 9 ปี เพราะเกิดการปฏิวัติ เมื่อปี 2549 2.การตั้งสถาบันพระปกเกล้าที่ทำงานควบคู่กับรัฐสภา เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย และ 3.รัฐสภาปัจจุบัน มีช่องทางในการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา ทำให้ประชาชนมีโอกาสติดตามบทบาทสมาชิกได้อย่างใกล้ชิด อันจะส่งผลต่อการเลือกตั้งสมาชิกตามลำดับ และจะส่งผลต่อรัฐบาลด้วย แต่ต้องไม่มีการซื้อเสียง งูเห่า และการแจกกล้วย ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำงานของรัฐสภา คือ เราถูกเตะตัดขาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะมีขุนศึก บวกนายทุน และอำนาจนิยมที่ชอบในอำนาจ ซึ่งวันนี้เราก็ยังไม่พ้นวังวนนี้ จนเราได้รัฐบาลที่มาจากการก่อเหตุนี้ ที่ต้องมาคอยดูแลขุนศึก และนายทุน จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน เราจึงต้องสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยให้ประชาชน และสร้างความรู้สึกนึกคิดว่า การปฏิวัติเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะประชาธิปไตยที่กินได้ ไม่ได้เกิดจากรัฐประหาร

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวถึงการทำงานของรัฐสภาที่ยึดโยงประชาชนว่า ตนคิดว่ารัฐสภาต้องยึดโยงกับประชาชน โดยส.ว.ควรมีหน้าที่แค่การกลั่นกรองกฎหมาย ไม่ใช่มามีส่วนในการทำกฎหมายปฏิรูป หรือกฎหมายสำคัญอื่นๆ ทั้งนี้ ตนอยากฝากไปถึงรัฐบาลเรื่องกระทู้ถามสด ที่มีขึ้นเพื่อเป็นการวัดกึ๋นการทำงานของรัฐบาล ถ้าทำงานไม่เก่งจะมาตอบไม่ได้ เพราะเป็นการถามเดี๋ยวนั้น ตอบเดี๋ยวนั้น และต้องไม่ใช่การมอบให้รัฐมนตรีมาตอบแทน นายกฯ ต้องฟังและเข้าใจเอง อย่าบอกว่างานเยอะ เพราะมีการกำหนดแล้วว่า วันพุธ และวันพฤหัสบดี มีการประชุมสภาฯ รัฐบาลต้องว่าง และที่รัฐสภามีห้องมากมายรองรับการทำงานของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลต้องมาสภา เพราะคุณมาจากสภา เพราะเบอร์หนึ่งคือประธานรัฐสภา และสภาคือฝ่ายที่ให้เงินรัฐบาลไปบริหารประเทศ ส่วนนายกฯ คือเบอร์สอง นอกจากนี้ ตนอยากถามว่าเวลาละเมิดอำนาจศาล ทำไมถึงติดคุก แต่เวลาที่มีการทำปฏิวัติละเมิดอำนาจประชาชนทั้งประเทศ และมีการฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ศาลกลับวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ดังนั้นจึงอยากฝากให้ศาลทบทวนแนวทางวินิจฉัยนี้เพราะจะเป็นเรื่องที่ทำให้เราเดินต่อไปไม่ได้ และไม่เช่นนั้นจะเจอการรัฐประหารอีกหลายรอบ

ด้านนายโภคิน กล่าวว่า 90 ปีรัฐสภา คือ 90 ปีประชาชนบนเส้นทางประชาธิปไตย ตนผิดหวังพอสมควร เพราะคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 40 นั้นตกผลึกที่สุด อีกทั้งตอนนี้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่ระบุว่าคนไทยจะพ้นกับดักความยากจน แต่ตอนนี้หนี้ครัวเรือนมีกว่า 90% และยังคงมีหนี้ภาครัฐอีก แต่ตนเชื่อว่าประเทศเรายังมีโอกาส อีก10ปีจะครบ100 ปีรัฐสภา เราจะมีมาตรการทางกฎหมายป้องกันการทำรัฐประหารอย่างไร เพราะเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร พวกเราที่มาจากประชาชน มีจำนวนน้อยมากที่จะลุกขึ้นสู้กับรัฐประหาร ด้วยการไปฟ้องศาลว่าการยึดอำนาจนั้นผิดกฎหมาย เพราะช่วงแรกพวกยึดอำนาจไม่กล้านิรโทษกรรมตนเอง แต่ปัจจุบันมีการยืนยันออกกฎหมายในรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมให้กับตนเอง ตนอยากให้ผู้ที่มาจากประชาชนทุกคนลุกขึ้นสู้กดดันศาล อย่าให้คนทำลายประชาธิปไตยกลับมาสร้างประชาธิปไตยใหม่เพื่อให้เส้นทางรัฐสภามีความสง่างาม ตนมองว่า 90 ปีการสร้างรัฐธรรมนูญใหม่นำมาซึ่งอำนาจนิยมฝั่งรากกดทับประชาชน ดังนั้นเราต้องขจัดความคิดนี้เพื่อให้รัฐเอื้อต่อประชาชน เพราะไม่เช่นนั้น อีก 10 ปีก็แก้ไขไม่ได้

นายโภคิน กล่าวต่อว่า ข้อดีการมีรัฐสภา โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ถ้าไม่มีอะไรสะดุดทุกอย่างก็จะไหลลื่น และนายกฯมาตอบคำถาม แต่เมื่อยึดอำนาจมา เขาก็ด้อยค่าสภาฯ แม้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะมีวิป แต่ฝ่ายรัฐบาลมักเลือกหยิบร่างกฎหมายที่ตนเองเสนอมาพิจารณาแซงลำดับร่างกฎหมายที่ส.ส.เข้าชื่อ ทำให้กฎหมายดีๆหลายฉบับ เมื่อยุบสภาก็ต้องตกการพิจารณาไป ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เขียนไว้ว่าหากพิจารณาร่างกฎหมายถึงตรงไหน เมื่อมีสภาฯชุดใหม่เข้ามาก็ต้องพิจารณาต่อตรงนั้น เพื่อเดินหน้ากฎหมายดีๆ นอกจากนี้ตนเห็นด้วยกับการตั้งกระทู้ถาม ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะคำถามเหล่านั้นสะท้อนความทุกข์ยากของประชาชน และสิ่งที่ตนอยากให้สภาฯทำคือช่วยรับฟังเสียงประชาชน จากนั้นจัดทำรายงานเสนอเพื่อนำไปแก้ไขปัญหากันต่อไป ผู้แทนต้องสะท้อนปัญหาพื้นที่ สะท้อนปัญหาโครงสร้าง กดดันรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยกันผลักดัน เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง หากส.ส.ทุกคนทำแบบนี้ ประชาชนก็จะสนใจสภาฯ

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในทัศนะของตน การรัฐประหารไม่ควรจะเป็นคำตอบให้กับเรื่องใดๆ แต่ต้องมีวิถีในการแก้ไขปัญหา แต่ถ้าถามคนทำก็ให้เหตุผลทุกครั้ง เช่น ทุจริต บ้านเมืองแตกแยก หรือแม้แต่เรื่องละเอียดอ่อนอย่างเรื่องสถาบัน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ทุกคนไม่ให้คนทำไปอ้างได้อีก ส่วนที่มีคนนำดอกไม้ไปให้ในการทำปฏิวัติ คนในประเทศคงไม่ได้คิดอะไร แค่รู้สึกว่าจบเสียที สิ่งที่ต้องทำจากนี้คือ ยืนยันรัฐประหารไม่ใช่คำตอบ ไม่ทำตัวให้เป็นเงื่อนไข และแนววินิจฉัยของศาลจะต้องไม่รับรองการรัฐประหาร

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เรายังไม่มีวัฒนธรรมเหมือนกับประเทศประชาธิปไตย ที่มีระบบรัฐสภา ที่ทำให้ฝ่ายบริหารเคารพฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกิดวิวาทะ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ ตำหนินายกฯไม่มาตอบกระทู้ นายกฯบอกว่าแรงไปหรือไม่ ตนขอบอกว่ารองประธานสภาฯพูดเบาเกินไป และอยากให้นายกฯตระหนก ถ้าไปดูประเทศที่ใช้การปกครองระบบรัฐสภา ผู้นำประเทศต้องถืองานสภาโดยเฉพาะตอบกระทู้เป็นอันดันหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาประมาณชั่วโมงถึงสองชั่วโมงเท่านั้น ไม่มีข้ออ้างที่จะมาตอบกระทู้ไม่ได้ เพราะทราบอยู่แล้วว่ากระทู้ถามสดเกิดขึ้นวันไหน เวลาใด ถ้าบริหารจัดเวลา 1-2 ชั่วโมงไม่ได้ จะบริหารประเทศอย่างไร การมาตอบกระทู้ไม่ใช่เป็นเรื่องเทคนิค เหมือนที่นายกฯกล่าวไว้ แต่การมาตอบเพื่อให้เจ้าของประเทศรับทราบถึงหลักคิดบริหารประเทศ

“นักการเมืองความรับผิดดชอบทางการเมืองสูงกว่ากฎหมาย ถ้าปล่อยให้เกิดเรื่องอื้อฉาว ไม่มีความรับผิดชอบ เราจะไม่พ้นภาพลักษณ์แย่ของนักการเมือง ความรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่งไม่ได้แปลว่าผิด แต่เป็นการรักษากระบวนการทางการเมืองให้เดินต่อได้และรักษาศรัทธา แต่ของเรามีแต่บอกว่าให้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย หลงทางกระทั่งให้ศาลวินิจฉัยจริยธรรม ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำ อีกเรื่องคือประมวลกฎหมายจริยธรรม เมื่อไหร่ถึงจะศักดิ์สิทธิ์ นักการเมืองญี่ปุ่นลาออกจากรัฐมนตรี เนื่องจากนั่งหลับตอนแถลงข่าวช่วงบ่าย เพราะกินเหล้าตอนกลางวัน เวลาใกล้เคียงกันกับรัฐสภาเรา มีส.ส. ดื่มจนอาละวาด ใช้เวลาสอบสองปียังบอกไม่ได้ว่าเมาหรือไม่ ถ้าเป็นแบบนี้รักษาศรัทธาไม่ได้”นายอภิสิทธิ์ กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img