วันพุธ, พฤษภาคม 15, 2024
หน้าแรกNEWSFTA เพิ่มโอกาสการส่งออกไทย 4 เดือนแรกส่งออก 25,831 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

FTA เพิ่มโอกาสการส่งออกไทย 4 เดือนแรกส่งออก 25,831 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รัฐบาลเชื่อมั่นตัวเลขน่าพอใจ ทำให้การค้าการลงทุนขยายตัว ดันนโยบายสนับสนุนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA เพิ่มโอกาสการส่งออกไทย โดยยอดใช้สิทธิ 4 เดือนแรกกว่า 25,831 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.66 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีต่อภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม – เมษายน) ของปี 2566 ซึ่งมีมูลค่ารวม 25,831.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิ FTA สูงถึง 74.75% โดยเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่ได้เจรจายกระดับ FTA เดิม และจัดทำ FTA เพิ่มเติมกับประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพ เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการไทย ผลักดันมูลค่าการค้าและการลงทุนให้ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ไทยมีจำนวนถึง 14 คู่ภาคี FTA 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการส่งออกภายใต้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2566 กับประเทศคู่ภาคีจำนวน 12 FTA มีมูลค่ารวม 25,831.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกภายใต้สิทธิ FTA ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 มีจำนวน 4 กรอบ ได้แก่ 1) อาเซียน-จีน (ASEAN – China Free Trade Area: ACFTA) เพิ่มขึ้น 6.98% กลุ่มสินค้าสำคัญคือ ทุเรียนสด 2) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN – Australia – New Zealand Free Trade Area: AANZFTA) ที่มีการส่งออกไปออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 12.76% กลุ่มสินค้าสำคัญคือ รถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ 3) ไทย-เปรู (Thailand-Peru Closer Economic Partnership: TPCEP) เพิ่มขึ้น 2.16% กลุ่มสินค้าสำคัญคือ ด้ายผสมกับฝ้าย และ 4) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เพิ่มขึ้น 106.72% กลุ่มสินค้าสำคัญคือ น้ำมันหล่อลื่น ขณะที่ภาพรวมการส่งออกของไทย 4 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่ารวม 92,003.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง และหดตัวในอัตราที่น้อยกว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เจรจายกระดับและจัดทำ FTA เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หารือร่วมกับภาคีจากหลายประเทศ เดินหน้าเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน พร้อมร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – แคนาดา ความตกลงการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา และความตกลงการค้าเสรีไทย – สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) หรือ EFTA คาดว่าจะมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมภายในปี 2567 รวมทั้ง ความตกลงการค้าเสรีไทย-EU ซึ่งคาดการณ์ตั้งเป้าให้เสร็จภายในปี 2568 เป็นต้น 

“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม วางแนวทางผลักดันเป็นนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการให้ใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการไทย เพิ่มโอกาสด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงสนับสนุนตลาดใหม่สำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่มีศักยภาพ สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการมานั้น ถือเป็นรากฐานสำคัญในการส่งเสริมการเจรจา FTA ให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต ซึ่งหวังว่าในการทำงานของรัฐบาลต่อไปจะคง หรือเพิ่มตัวเลขภาคี FTA ได้อย่างต่อเนื่อง” นางสาวรัชดาฯ กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img