วันอังคาร, พฤษภาคม 14, 2024
หน้าแรกHighlight“ผู้นำยูเครน”รับเงื่อนไขรัสเซีย ไม่เข้าร่วมนาโต้หนุน“เงินบาทแข็งค่า”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ผู้นำยูเครน”รับเงื่อนไขรัสเซีย ไม่เข้าร่วมนาโต้หนุน“เงินบาทแข็งค่า”

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังผู้นำยูเครนเห็นด้วยกับเงื่อนไขรัสเซียไม่เข้าร่วมกับพันธมิตรใด ๆ หนุนให้ตลาดเปิดรับลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.06 บาทต่อดอลลาร์ หลังตลาดเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ ผู้เล่นต่างชาติที่รอเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทจากธีม Reopening & Recovery สามารถทยอยเปิดสถานะเก็งกำไรมากขึ้นได้ ซึ่งต้องจับตาแรงซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้น ว่าจะเริ่มกลับมามากขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ เงินบาทอาจได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำย่อตัวลงต่อเนื่อง 

ดังนั้น หากตลาดไม่ได้ปิดรับความเสี่ยงอย่างหนัก เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทจะเริ่มจำกัดและเงินบาทจะเริ่มแกว่งตัว sideways โดยมีแนวต้านใกล้โซน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเริ่มเห็นบรรดาผู้ส่งออกมารอขายเงินดอล ลาร์ในช่วงดังกล่าว

ส่วนแนวรับสำคัญ จะอยู่ในช่วง 32.80-33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยฝั่งผู้นำเข้าได้ทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงินไปมากแล้ว ทำให้ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ยังมองว่าสามารถรอจังหวะเพื่อซื้อเงินดอลลาร์ได้ หากไม่มีความจำเป็น 

อย่างไรก็ดี สภาวะสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงอาจกดดันให้ตลาดพลิกกลับไปปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนักได้ทุกเมื่อ ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวจะทำให้เงินบาทอาจผันผวนในกรอบที่กว้างกว่าช่วงปกติได้ ทำให้การปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนควรจะต้องมีการใช้เครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ การใช้ Option   มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.10 บาทต่อดอลลาร์  

ผู้เล่นในตลาดการเงินเริ่มกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังว่าการเจรจาเพื่อยุติสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะมีความคืบหน้ามากขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า การเจรจานั้นเกิดขึ้นไปพร้อมกับการสู้รบเพื่อชิงความได้เปรียบบนโต๊ะเจรจา ทำให้ตลาดการเงินยังมีโอกาสที่จะผันผวนสูงต่อในระยะสั้น ขณะเดียวกันมาตรการคว่ำบาตรจากฝั่งตะวันตกต่อรัสเซียยังคงมีอยู่และยังสามารถสร้างผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 

ทั้งนี้ แนวโน้มการเจรจายุติสงครามที่มีความคืบหน้ามากขึ้น หลังผู้นำยูเครนเริ่มเห็นด้วยกับเงื่อนไขของรัสเซียที่ต้องการให้ยูเครนเป็นกลางและไม่เข้าร่วมกับพันธมิตรใดๆ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเร่งกลับเข้ามา buy on dip สินทรัพย์เสี่ยง หนุนให้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นกว่า +2.57% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็พุ่งขึ้นกว่า +3.59% 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป พลิกกลับมาพุ่งขึ้นถึง +7.44% หนุนโดยแรงซื้อหุ้นที่ปรับตัวลงแรงในช่วงที่ผ่านมา อาทิ กลุ่มการเงิน ING +11.7%, Intesa Sanpaolo +11.1% ขณะเดียวกัน หุ้น Cyclical อื่นๆ อาทิ กลุ่มยานยนต์ก็พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นแรง Volkswagen +10.1% รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคฯ ก็ปรับตัวขึ้นได้ดีเช่นกัน ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้ wait and see รอสัญญาณเชิงเทคนิคัลยืนยันการกลับตัวที่ชัดเจนก่อน อีกทั้งสถานการณ์สงครามและการเจรจาก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง 

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น จากความหวังว่าสงครามอาจยุติลงได้ในระยะสั้น ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1.95% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่มองว่า เมื่อตลาดกล้ากลับมาเปิดรับความเสี่ยง บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็จะสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ ท่าทีของเฟดที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับลดงบดุล จะสามารถหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี จะกลับมาปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่องในระยะถัดไป อนึ่ง สถานการณ์สงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่นั้นจะทำให้ตลาดบอนด์อาจยังคงผันผวนต่อได้ในระยะสั้นเช่นกัน

ขณะที่ตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไรสินทรัพย์ปลอดภัยชัดเจน กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 98 จุด นอกจากนี้ ความหวังว่าสงครามอาจสงบลงได้ในระยะสั้น ยังได้หนุนให้สกุลเงินฝั่งยุโรปที่อ่อนค่าหนักในช่วงผ่านมา พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยเงินยูโร (EUR) ปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับ 1.105 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกันกับ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.317 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ส่วนสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง เงินเยน (JPY) ก็กลับมาอ่อนค่าลงแตะระดับ 115.9 เยนต่อดอลลาร์ หลังตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยง เช่นเดียวกันกับ ราคาทองคำก็เผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลงหลุดระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ แรงขายทำกำไรทองคำอาจช่วยหนุนให้เงินบาทสามารถกลับมาแข็งค่าได้บ้าง โดยเฉพาะในจังหวะที่ตลาดไม่ได้ปิดรับความเสี่ยงรุนแรง

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างใกล้ชิด หลังผู้นำยูเครนเริ่มเห็นชอบกับเงื่อนไขบางประการของทางฝั่งรัสเซีย ทำให้การเจรจาเพื่อยุติสงครามยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ทว่า สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ทำให้ตลาดการเงินยังมีโอกาสผันผวนสูงได้ในระยะสั้นนี้ 

รายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ไฮไลท์สำคัญ จะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเรามองว่า ECB จะยังคงอัตราดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) ไว้ที่ระดับ -0.50% เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปจากผลกระทบของสงคราม อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจคือ มุมมองของประธาน ECB ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อหลังเกิดสงครามขึ้น รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของ ECB ซึ่งอาจส่งสัญญาณถึงการปรับนโยบายการเงินในอนาคตได้

ส่วนสหรัฐฯ ตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟดได้ โดยตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 7.9% ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 6.4% ซึ่งจะเห็นได้ว่าแรงหนุนเงินเฟ้อของสหรัฐฯ นั้นมากจากทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงานที่เร่งตัวสูงขึ้น รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ทำให้เฟดสามารถเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในปีนี้ได้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img